
วิเคราะห์ 3 กลยุทธ์ จัดศูนย์การค้า แบบ centralwOrld ที่มีคนมาเดินกว่า 150,000 คนต่อวัน
11 พ.ค. 2025
- เซ็นทรัลเวิลด์ หรือ centralwOrld ถือว่าเป็นหนึ่งในศูนย์การค้าที่มีจำนวนคนมาเดินต่อวัน มากเป็นอันดับต้น ๆ ในไทย
โดยอ้างอิงข้อมูลล่าสุดปี 2566 จากเว็บไซต์ ไทยโพสต์ centralwOrld มีคนมาเดินเฉลี่ยประมาณ 150,000 คนต่อวัน
แน่นอนว่านอกจากเรื่องทำเลดีมาก ๆ ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครอย่างย่านราชประสงค์แล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญ ที่ทำให้ศูนย์การค้าแห่งนี้เป็นจุดมุ่งหมายของหลาย ๆ คน
มีเทคนิค กลยุทธ์อะไรบ้าง ในการจัดศูนย์การค้า แบบ centralwOrld
BrandCase วิเคราะห์มาได้ 3 ข้อหลัก ๆ
1. Anchor Store Strategy
พูดง่าย ๆ ก็คือนำเอาร้านดัง ที่ไม่ค่อยมีที่ไหน มาเป็นตัวดึง
ซึ่งถึงแม้มันจะเป็นกลยุทธ์ที่ดูเบสิกสำหรับการทำศูนย์การค้า แต่กลยุทธ์นี้ก็เป็นส่วนสำคัญมาก ที่ทำให้คนอยากมาเดินที่ศูนย์การค้านี้
เพราะจริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะไม่ได้ตั้งใจมาเดินศูนย์การค้าเสียทีเดียว
แต่อาจจะอยากมาเดินดู หรือใช้บริการร้านที่อยู่ในศูนย์การค้านั้นมากกว่า
อย่าง centralwOrld หลายคนอาจจะอยากมาดูของที่ Apple Store, ดูหนังที่ SF World Cinema หรือ มาซื้อโมเดลที่ POP MART แล้วเดินต่อไปซื้ออย่างอื่นโดยไม่ตั้งใจ
ซึ่งร้านที่จะเป็นแม่เหล็กดูดให้คนมาเดินที่ห้างนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์แฟชั่นหรือแบรนด์เทคโนโลยีเสมอไป
แต่สามารถเป็นได้ทุกประเภท ทุกรูปแบบ เพื่อดึงให้คนสามารถใช้เวลาอยู่ในศูนย์การค้าได้ตลอดวัน
เช่น เรามาเพื่อดูหนังที่โรงหนัง SF World Cinema พอดูหนังเสร็จก็อาจจะมาลองร้านอาหารร้านดังที่มีสาขาเฉพาะที่ centralwOrld เท่านั้น แล้วไปต่อด้วยร้านสมูททีที่กำลังเป็นกระแส
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่มีร้าน Anchor Store หรือร้านที่เป็นเหมือนแม่เหล็กนั้นค่อนข้างสำคัญมาก ที่จะทำให้คนสามารถเดินอยู่ในศูนย์การค้านี้ได้ทั้งวัน ไปเรื่อย ๆ
และมองกลับในอีกมุม คือเมื่อภาพลักษณ์ เอกลักษณ์ของ centralwOrld เป็นแบบนี้ พอแบรนด์นอกแบรนด์ไหนที่จะมาเปิดสาขาแรกในไทย ตัวเลือกแรก ๆ ก็น่าจะต้องเป็น centralwOrld ไปโดยปริยาย..
2. Food Cluster Strategy หรือกลยุทธ์คลัสเตอร์ร้านอาหาร
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทุกคนต่างก็มีความชื่นชอบในการทานอาหารเหมือน ๆ กัน และร้านอาหารก็มีส่วนสำคัญอย่างมากให้คนอยากมาเดินที่ศูนย์การค้า
ถ้าใครที่เคยมาเดินที่ centralwOrld บ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่า ศูนย์การค้านี้จะมีโซนร้านอาหารหลายโซนมาก
ไม่ว่าจะเป็น
- โซน Groove
- ฟูดคอร์ตโซน Hug Thai ชั้น G
- ฟูดคอร์ตชั้น 7 ใกล้ Central Food Hall
- โซนร้านอาหารชั้น 7 ขนาดใหญ่ สองฝั่ง
- โซนร้านอาหารชั้น 6
ยังไม่รวมถึงร้านอาหารที่แทรกตัวอยู่ประปรายตามชั้นต่าง ๆ
ในศูนย์การค้า centralwOrld นั้นมีโซนร้านอาหารให้เลือกได้แทบจะทุกชั้น
ซึ่ง Cluster ร้านอาหารเหล่านี้ก็เป็นเหมือนร้านแม่เหล็กดึงดูดชั้นดี สำหรับคนที่เป็น Foodie หรือคนที่ชื่นชอบอาหาร
โดยสามารถเลือกได้เลยว่าอยากไปทานอะไรที่ชั้นไหน เพราะมีร้านแม่เหล็กดึงดูดให้สามารถเดินไปได้ทุก ๆ ชั้น
นอกจากนี้ข้อดีของการที่มีร้านอาหารหลาย ๆ แบรนด์อยู่ในศูนย์การค้า โดยเฉพาะร้านใหม่ ๆ หรือร้านที่มีไม่กี่สาขาในไทยนั้น ยังช่วยให้ centralwOrld มีภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์การค้าที่เป็น Food Destination ของคนไทยได้ด้วย
คือถ้าใครที่อยากทานแบรนด์ดังในโซเชียลมีเดีย หรือร้านที่หาทานยาก ๆ
centralwOrld ก็น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของใครหลาย ๆ คน เพราะมาที่เดียวได้เจอ ครบจบ
3. Experiential Retail Strategy หรือการทำร้านค้าปลีกเชิงประสบการณ์
นอกจากร้านอาหาร, Flagship Store ต่าง ๆ แล้ว การที่มีกิจกรรมให้เลือกทำได้หลากหลายรูปแบบ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนอยากมาเดินที่ศูนย์การค้ามากขึ้น
ยกตัวอย่างของ centralwOrld
- มีโซน Co-Working
- มีลานจัด Event
- โซนเด็ก
- โซนร้านอาหาร
- โซนช็อปปิง
- โซนสังสรรค์อย่าง Groove
- โซนธนาคาร
และอื่น ๆ อีกหลายโซน
ซึ่งข้อดีของการมีกิจกรรมที่ครอบคลุมแบบนี้นั้น ก็ดีสำหรับคนที่ไม่ได้อยากมาช็อปของแบรนด์เนม หรือไม่ได้อยากมาทานอาหารอย่างเดียว
แต่อยากมาทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น มาดูหนัง มาพบเจอศิลปิน มาทำงาน มาอ่านหนังสือ
ที่ centralwOrld ก็จะมีบริเวณให้ทุกคนสามารถมาร่วมกิจกรรมเหล่านั้นได้
ซึ่งข้อดีก็คือมันจะทำให้คนสามารถใช้เวลาอยู่ในศูนย์การค้านี้ได้ทั้งวัน และยังดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่นักช็อปหรือพนักงานออฟฟิศ
ทั้งหมดนี้ก็คือ วิเคราะห์ 3 กลยุทธ์จัดศูนย์การค้า แบบ centralwOrld ที่มีคนมาเดินกว่า 150,000 คนต่อวัน ..
References