สรุปจบในโพสต์เดียว วิเคราะห์ เซ็นทรัล รีเทล ใช้โมเดลค้าปลีก สร้างอาณาจักรธุรกิจ ในเวียดนาม

สรุปจบในโพสต์เดียว วิเคราะห์ เซ็นทรัล รีเทล ใช้โมเดลค้าปลีก สร้างอาณาจักรธุรกิจ ในเวียดนาม

27 ธ.ค. 2024
หากย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน กลุ่มเซ็นทรัล ระดมขยายห้าง ศูนย์การค้าในเครือหลาย ๆ แห่ง ในต่างจังหวัดใหญ่ ๆ แทบทุกจังหวัด
ในตอนนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ก็กำลังจะทำแบบเดียวกัน ที่ประเทศเวียดนาม
โดยตอนนี้ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่าง ๆ ของกลุ่มเซ็นทรัลในเวียดนามทั้งหมด
อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเราขอเรียกสั้น ๆ ว่า เซ็นทรัล รีเทล
ซึ่ง เซ็นทรัล รีเทล ก็เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ศูนย์การค้า Robinson Lifestyle, TOPS, Power Buy, B2S, ร้านค้าส่ง GO Wholesale ในประเทศไทย
จากจุดเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน เซ็นทรัล รีเทล บุกตลาดเวียดนามอย่างไร
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ จบในโพสต์นี้
- เซ็นทรัล รีเทล เริ่มต้นบุกตลาดค้าปลีกในเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มต้นจากการจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น
ต่อมาได้ร่วมทุนกับกลุ่มเหงียนคิม เพื่อเป็นห้างขายเครื่องใช้ไฟฟ้า 
และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โมเดลคล้าย ๆ Power Buy 
และร่วมทุนกับกลุ่มลานชี มาร์ท เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในโซนเวียดนามเหนือ เพื่อเปิดเป็นห้างซูเปอร์มาร์เก็ตลานชี คล้าย ๆ โมเดล TOPS ของประเทศไทย
ต่อมาในปี 2559 เซ็นทรัล รีเทล ก็เข้าสู่ธุรกิจห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม
โดยซื้อกิจการห้าง Big C ในเวียดนามต่อจากกลุ่มธุรกิจชื่อว่าคาสิโน
ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ 
เข้ามาซื้อกิจการห้าง Big C ในประเทศไทย ต่อจากกลุ่มคาสิโนเช่นเดียวกัน
ในขณะที่เซ็นทรัล รีเทล ใช้ชื่อ Big C ทำตลาดห้างในเวียดนาม
ก็ต้องเจอกับปัญหาที่ว่า กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ 
เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ Big C ของทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม
ดังนั้น การที่ เซ็นทรัล รีเทล จะดำเนินธุรกิจ โดยใช้ชื่อแบรนด์ห้าง Big C ในประเทศเวียดนามต่อนั้น
ก็ต้องไปเช่าลิขสิทธิ์ การใช้ชื่อแบรนด์ Big C มาจากกลุ่ม TCC ด้วย
ทำให้ เซ็นทรัล รีเทล เลือกที่จะรีแบรนด์ห้าง Big C ทุกสาขาในประเทศเวียดนาม ให้เป็นห้างใหม่ ชื่อ GO! มาตั้งแต่ปี 2562
และทยอยเลิกใช้ชื่อแบรนด์ Big C ในประเทศเวียดนามทั้งหมด
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า การปั้นแบรนด์ห้าง GO! ในประเทศเวียดนามนั้นประสบความสำเร็จ และได้รับผลตอบรับดี จากกลุ่มลูกค้าในประเทศเวียดนาม
ทำให้ เซ็นทรัล รีเทล เลือกใช้ชื่อแบรนด์ GO! ไว้บุกตลาดค้าปลีกในประเทศเวียดนามตั้งแต่ตอนนั้น
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ก็ได้ปั้นแบรนด์ GO! ไปแล้วมากมาย 
ตั้งแต่ห้างขนาดใหญ่ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก 
อย่างเช่น
- GO! Mall เป็นรูปแบบศูนย์การค้าขนาดกลาง กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ และต่างจังหวัดทั่วเวียดนาม 
โดย GO! Mall จะมีโมเดลธุรกิจคล้ายกับห้าง Lotus’s หรือ Big C Place สาขาใหญ่ ๆ ในประเทศไทย
ที่สามารถแบ่งพื้นที่ให้ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร หรือโรงภาพยนตร์ ให้มาเช่าพื้นที่ข้างในได้
- GO! Hypermarket เป็นรูปแบบห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 
ที่ขายสินค้าหลากหลายในประเทศเวียดนาม คล้าย ๆ ห้าง Lotus’s และห้าง Big C ทั่ว ๆ ไป
โดยห้าง GO! Hypermarket ก็จะมาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้า GO! อีกทีหนึ่ง
ซึ่งรูปแบบโมเดลธุรกิจนี้ ก็ไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่มาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล
- go! Supermarket เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมในประเทศเวียดนาม
ที่เน้นขายสินค้ามากมายหลากหลาย คล้าย ๆ กับโมเดลห้าง Lotus’s ขนาดเล็กในต่างจังหวัด
หลังจากที่แบรนด์ค้าปลีก GO! ทั้ง 3 รูปแบบ ประสบความสำเร็จในประเทศเวียดนามแล้ว
เซ็นทรัล รีเทล ก็ได้เอาแบรนด์ GO! เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเติม 
อย่างเช่น
- GO Wholesale ที่เป็นห้างค้าส่งแบรนด์ใหม่ในประเทศไทย ที่มีโมเดลคล้าย ๆ กับ ห้าง makro ของ CP AXTRA
- GO! Hotel ที่เป็นโรงแรมบัดเจดโฮเทลแห่งใหม่ ติดกับศูนย์การค้าเซ็นทรัล หรือ Robinson Lifestyle
ถ้าถามว่าโมเดล GO! ที่เซ็นทรัล รีเทล ปั้นขึ้นมา ประสบความสำเร็จแค่ไหนในประเทศเวียดนาม
?
ลองมาดูในเชิงตัวเลขกัน
- ศูนย์การค้า GO! Mall มีจำนวนสาขาทั้งหมด 40 สาขาใน 30 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนาม 
และจะมีทั้งหมด 42 สาขา ภายในสิ้นปีนี้
- ห้าง GO! Hypermarket ที่ค่อย ๆ รีแบรนด์มาจาก Big C เมื่อปี 2562 
ตอนนี้มีสาขาทั้งหมด 39 สาขาทั่วประเทศเวียดนาม
- ห้าง go! Supermarket ตอนนี้มีทั้งหมด 11 สาขาใน 8 จังหวัด ทั่วประเทศเวียดนาม
เรียกได้ว่า ถ้าประเทศไทยมีห้าง Lotus’s และ Big C ที่มีสาขาแทบทุกจังหวัด
ประเทศเวียดนาม ก็มี GO! Mall อยู่หลากหลายสาขา กระจายในหลายจังหวัดทั่วประเทศเวียดนามเช่นเดียวกัน
ซึ่งนอกจากแบรนด์ค้าปลีก GO! ที่เซ็นทรัล รีเทล เอาไปบุกตลาดในประเทศเวียดนามแล้ว
เซ็นทรัล รีเทล ก็ยังเป็นเจ้าของร้านค้าปลีกแบรนด์อื่น ๆ ในประเทศเวียดนามด้วย
โดยมีโลคัลแบรนด์ที่ เซ็นทรัล รีเทล ได้ไปซื้อกิจการมาต่อ อย่างเช่น
- ลานชี มาร์ท (Lanchi Mart) แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เน้นขายสินค้าโลคัล คุณภาพสูง 
โดยซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ จะอยู่ทางโซนตอนเหนือของเวียดนาม ตอนนี้มีสาขาทั้งหมด 24 สาขา
- เหงียนคิม (Nguyen Kim) ร้านค้าเฉพาะอย่าง ที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 
คล้าย ๆ ร้าน Power Buy ของเมืองไทย ตอนนี้มีมากกว่า 60 สาขา ทั่วประเทศเวียดนาม
และเซ็นทรัล รีเทล ก็ยังได้รับสิทธิ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดัง ในประเทศเวียดนามอีกหลากหลายแบรนด์ด้วยกัน อย่าง Dyson, Fitflop, Crocs และ Under Armour 
โมเดลนี้ ก็ไม่ต่างจากโมเดลของ CMG หรือ Central Marketing Group ในประเทศไทย ในเครือของ เซ็นทรัล รีเทล เอง
ที่เป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าแฟชั่นแบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า 30 แบรนด์ เข้ามาในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งตั้งแต่ที่ เซ็นทรัล รีเทล ได้บุกตลาดเวียดนามเมื่อปี 2555 ก็มีการทำกลยุทธ์เชิงรุก
โดยซื้อกิจการร้านค้าปลีกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้าง Big C, ลานชีมาร์ท และเหงียนคิม ในเวียดนามมาบริหารเอง แล้วขยายสาขาไปเรื่อย ๆ จนแทบทุกจังหวัด
โดยโมเดลการซื้อกิจการ ที่เจาะจงเฉพาะร้านค้าปลีกเจ้าดังแบบนี้ ก็ไม่ต่างจากโมเดลที่กลุ่มเซ็นทรัล ใช้บุกตลาดค้าปลีกในประเทศไทย เมื่อ 30 ปีก่อน
ตอนนั้นกลุ่มเซ็นทรัล ซื้อกิจการร้านค้าต่าง ๆ มามากมาย อย่างเช่น B2S, TOPS รวมถึงห้างโรบินสัน ที่ภายหลังก็ได้ปรับเป็นรูปแบบศูนย์การค้า อย่าง Robinson Lifestyle ในปัจจุบัน
- ทำไมเซ็นทรัล รีเทล ถึงเลือกโฟกัสการลงทุนในเวียดนามเป็นหลัก ?
ต้องบอกว่าในจังหวะนี้ ประเทศเวียดนาม ก็มีเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เติบโตสูงมาก ไม่แตกต่างจากไทยในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมี GDP เติบโตจากปีก่อนถึง 7%
ซึ่งหลัก ๆ แล้วการเติบโตก็มาจากนโยบายของรัฐ ที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเรื่องภาษี และการทำข้อตกลงการค้าต่าง ๆ กับชาวต่างชาติ เพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติ มาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศเวียดนาม เหมือน ๆ กับไทยก่อนยุคต้มยำกุ้ง
ซึ่งการที่เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ 
ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ชาวเวียดนามมีรายได้มากขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น
นั่นจึงทำให้กลุ่มเซ็นทรัล มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจจากจุดนี้
แถมศักยภาพตลาดค้าปลีกในประเทศเวียดนาม ก็มีขนาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศไทยด้วย
เวียดนาม เป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน แถมประชากรในประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็เป็นวัยที่สามารถทำงานได้ 
ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ที่มีกำลังซื้อมากพอนี่แหละ ที่จะมาเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ของ เซ็นทรัล รีเทล
โดยจะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า จากร้าน Traditional Trade ร้านโชห่วยรูปแบบทั่วไป กลายเป็นหันมาช็อปปิง ที่ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าชั้นนำมากขึ้น  
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนาม ก็ยังส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว 
โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ และปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 
โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 ประเทศเวียดนาม 
มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพุ่งสูงถึง 8.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับครึ่งปีก่อน
ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยว ก็เป็นอีกหนึ่งกำลังซื้อสำคัญ ของร้านค้าปลีกในเครือ เซ็นทรัล รีเทล
หากเราไปดูผลประกอบการ ของห้างสรรพสินค้าในเวียดนามย้อนหลัง เราก็จะเห็นว่า
ในปี 2566 ห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม ของเครือเซ็นทรัลรีเทล 
มีสัดส่วนรายได้ 21% ของรายได้เครือเซ็นทรัลทั้งหมด
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ในการเลือกที่จะขยายธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามนั้น 
จะลอกสูตรสำเร็จ ที่กลุ่มเซ็นทรัล เคยทำในประเทศไทยไปทั้งหมด
เพราะในการเลือกขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ อย่างเวียดนาม ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่างทางธุรกิจที่แตกต่างไปจากประเทศไทย 
อย่างเช่น
- ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม
- ความแตกต่างด้านกฎหมาย บริบททางการเมือง หรือนโยบายของรัฐบาล
- ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์
- ความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ 
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ก็เป็นความท้าทายของกลุ่มเซ็นทรัล ที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียด 
สำหรับการบุกธุรกิจที่ตลาดต่างประเทศอย่างเวียดนาม
ซึ่งถ้า เซ็นทรัล รีเทล สามารถขยายธุรกิจในเวียดนามได้และประสบความสำเร็จ 
ในอนาคตต่อไป เราก็อาจเห็นโมเดลร้านค้าปลีกในเครือ เซ็นทรัล รีเทล เอง ไปเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่เซ็นทรัล รีเทล เป็นเจ้าของในประเทศเวียดนาม
เหมือนกับโมเดลในประเทศไทย ที่มีร้านค้า อย่าง TOPS, B2S, Power Buy และร้านอาหารต่าง ๆ ของเซ็นทรัล รีเทล มาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า ของตัวเอง..
References
- Central Retail Company Presentation As of Sep 2024
- ข่าวประชาสัมพันธ์ CRC_TH_FactSheet_เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.