กลยุทธ์ Dairy Queen ขายอย่างไร ให้ยอดขายโต 70% ภายใน 3 ปี 

กลยุทธ์ Dairy Queen ขายอย่างไร ให้ยอดขายโต 70% ภายใน 3 ปี 

2 ก.พ. 2024
กลยุทธ์ Dairy Queen ขายอย่างไร ให้ยอดขายโต 70% ภายใน 3 ปี | BrandCase
ตอนนี้เราจะเห็นร้านที่ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟหน้าใหม่ ทั้งจากในไทย และต่างประเทศเข้ามาเปิดใหม่มากมายเต็มไปหมด
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจทำให้หลาย ๆ คนคิดว่า ร้านค้าเหล่านี้ อาจจะมาดึงยอดขายของทาง Dairy Queen ให้ลดลงไป
แต่ถ้าเราดูตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายของ Dairy Queen ในประเทศไทยนั้นเติบโตขึ้น
ผลประกอบการย้อนหลังของ บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด
ปี 2564 รายได้ 1,018 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 1,439 ล้านบาท กำไร 152 ล้านบาท
และจากข้อมูลล่าสุดจาก Dairy Queen ในปี 2566 รายได้จะเติบโตขึ้นอีกราว 30%
หรือประมาณการได้ว่าจะอยู่ที่ราว 1,700 - 1,800 ล้านบาท..
โดยเติบโตขึ้นราว 70% ภายใน 3 ปี และทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดในไทยมานาน 28 ปี
แล้วตอนนี้ Dairy Queen มีกลยุทธ์อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านไอศกรีม Dairy Queen ได้ออกมาเปิดเผยว่า
กลยุทธ์สำคัญที่ทาง Dairy Queen ใช้ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือ
การออกเมนูพิเศษ จับตามกระแส
Dairy Queen ไม่ได้มองว่าตัวเองจะต้องเป็น Trendsetter หรือผู้จุดกระแส
แต่มองว่าตัวเองนั้น สามารถเป็น Fast Follower หรือผู้ตามที่รวดเร็วได้
ดังนั้นเราจะเห็นว่า ถ้าตอนไหนมีกระแสอะไรมาใหม่ ทาง Dairy Queen ก็จะมีการนำเมนูที่เป็นกระแสเหล่านั้น มาจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว
อย่างที่ผ่านมาก็มี เมนูบลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย ซึ่งเป็นเมนูที่ทาง Dairy Queen เคยนำมาจำหน่ายเมื่อหลายปีก่อน กลับมาอีกครั้ง
พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนหรืออัปเกรดให้มีรสชาติดีกว่าเดิม ถูกปากมากขึ้น
หรือเมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ จับกระแสหน้าร้อน
บลิซซาร์ดโอวัลตินภูเขาไฟ ที่สร้างยอดขายในประเทศไทยได้มากกว่า 1 ล้านถ้วย ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน
รักษาคุณภาพ ตลอดระยะ 28 ปี
คุณธนกฤตกล่าวว่า นับตั้งแต่ Dairy Queen เปิดให้บริการในไทยมา ทางร้านยังไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนสูตรเลย
ยังคงใช้นมเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ให้รสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม ซึ่งยังคงเป็นจุดเด่นของ Dairy Queen มาจนถึงทุกวันนี้
โดยกว่าจะได้ เมนูใหม่ ๆ มาลงหน้าร้านนั้น ไม่ได้คิดกันแค่เดือนหรือสองเดือน
แต่ใช้เวลาผ่านการค้นคว้า วิจัย จากทั้งความชอบของลูกค้าคนไทย คุณภาพวัตถุดิบ รวมถึงรสชาติต่าง ๆ
โดยหากรวมทั้งขั้นตอนการพัฒนาสินค้า และการทดลองตลาดแล้ว จะใช้เวลารวมกว่า 1 ปี กว่าที่จะสามารถวางขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นได้
ให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น
แน่นอนว่าในสมัยนี้ การที่เราจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้นั้น หนึ่งในช่องทางที่เรียกได้ว่า เห็นผลมากที่สุดช่องทางหนึ่งก็คือช่องทาง โซเชียลมีเดีย
ซึ่งทาง Dairy Queen นั้นก็ให้ความสำคัญกับช่องทางเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram โดยเฉพาะใน TikTok ที่กำลังมาแรงตอนนี้
ทีนี้คำถามสำคัญคือ เมื่อเราสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียเหล่านี้แล้ว จะมีวิธีในการสร้าง Engagement หรือทำอย่างไรให้คนให้ความสนใจในคอนเทนต์
ซึ่งทางคุณธนกฤต ก็ได้ใช้วิธีการให้พนักงานเข้ามาลองมีส่วนร่วมในคอนเทนต์โดยการทำคลิปวิธีการทำเมนูต่าง ๆ ออกมา
เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า กว่าจะได้แต่ละเมนูออกมานั้นมีวิธีการอย่างไร ให้เขาได้เห็นความใส่ใจ กว่าจะเป็นแต่ละเมนูออกมานั้นเป็นอย่างไร
แล้วก็แชร์ลงไปในโลกออนไลน์ เช่นใน TikTok ที่คนชอบความเรียล ชอบเห็นอินไซต์การทำจริง ๆ
ทั้งนี้คุณธนกฤตยังเสริมด้วยว่า คู่แข่งหน้าใหม่ ส่วนใหญ่ที่เข้ามาตอนนี้ จะเป็นร้านที่เน้นเมนูเครื่องดื่มมากกว่า ไม่ได้เน้นแค่ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเพียงอย่างเดียว
ซึ่งถ้ามามองในกลุ่มตลาดซอฟต์เสิร์ฟนั้น ทาง Dairy Queen ยังคงถือเป็นผู้นำอยู่โดยครองส่วนแบ่งตลาดราว 40%
โดยปัจจุบัน รายได้จากเมนูไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟนั้น คิดเป็น 65% ของรายได้ทั้งหมด และมีสัดส่วนเครื่องดื่มอยู่ที่ 10%
แต่ทั้งนี้ ทาง Dairy Queen เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
เพราะตลาดเครื่องดื่มก็ยังเป็นตลาดที่โตได้ และทำให้ตัว Dairy Queen เองมีความหลากหลายมากขึ้น ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น
ดังนั้นในปีนี้ เราก็น่าจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ในกลุ่มเมนูเครื่องดื่มมากขึ้นด้วย
และสำหรับใครที่เป็นแฟน ๆ ของร้าน Dairy Queen ในปีนี้ก็น่าจะได้เห็นการตกแต่งร้านใหม่ ๆ ที่แปลกตามากขึ้น
โดยร้านใหม่นี้จะอยู่ในคอนเซปต์ของ The playground for a sweet pause ให้ความรู้สึกเหมือนนั่ง Lounge ที่สนามบิน มีที่นั่งมากขึ้น
รวมถึงจะมีการเปิดสาขาใหม่ ๆ ตาม ร้าน Wholesale อย่าง makro หรือ GO Wholesale มากขึ้นด้วย
สำหรับภาพรวมของ Dairy Queen ปัจจุบัน
มีจำนวนสาขารวม 520 สาขา (ถือเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศจีน)
โดยแบ่งเป็น
สาขาที่ทางไมเนอร์ บริหารเอง 230 สาขาสาขาแฟรนไชส์ 290 สาขา
ซึ่งก็น่าติดตามกันว่า ปีต่อ ๆ ไป Dairy Queen
จะเติบโตได้อย่างน่าสนใจ แบบช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้หรือไม่..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.