อธิบายคำว่า Sub-Area License กลยุทธ์ 7-Eleven ให้ร้านค้าท้องถิ่น ช่วยดูแลสาขาให้

อธิบายคำว่า Sub-Area License กลยุทธ์ 7-Eleven ให้ร้านค้าท้องถิ่น ช่วยดูแลสาขาให้

8 พ.ย. 2024
รู้หรือไม่ ? ถ้าเราอยู่ในจังหวัดอย่างเช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต, อุบลราชธานี, ยะลา แล้วเราอยากเปิด 7-Eleven ในจังหวัดของตัวเอง
เราไม่ต้องไปขอแฟรนไชส์จาก CPALL เจ้าของ 7-Eleven โดยตรง แต่เราต้องไปขอแฟรนไชส์ จากร้านค้าปลีกท้องถิ่น 
อย่างเช่น
- ถ้าอยากเปิด 7-Eleven ที่เชียงใหม่ เราต้องขอแฟรนไชส์จาก กลุ่มตันตราภัณฑ์ เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิง
- ถ้าอยากเปิด 7-Eleven ที่อุบลราชธานี เราต้องขอแฟรนไชส์จาก กลุ่มยิ่งยง เจ้าของห้างยิ่งยง ห้างเก่าเมืองอุบลราชธานี
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเมื่อราว 30 ปีก่อน ร้านค้าท้องถิ่นเหล่านี้ 
ได้ทำสัญญา Sub-Area License กับ CPALL เพื่อขยายแฟรนไชส์ 7-Eleven แทน CPALL ได้
แล้วคำว่า Sub-Area License ของ CPALL คืออะไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2531 ตอนที่ บมจ.ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น หรือที่ปรับโครงสร้างมาเป็น CPALL ในปัจจุบัน เพิ่งเอา 7-Eleven มาเปิดที่ประเทศไทยใหม่ ๆ โดยเปิดสาขาแรกที่ถนนพัฒน์พงศ์
ในตอนนั้น คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักคำว่าร้านสะดวกซื้อ กันเท่าไรนัก
แต่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่ของ CPALL ต้องการให้ร้านสะดวกซื้อในรูปแบบใหม่นี้ สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ
ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
โดยโมเดลขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในตอนนั้นก็มีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ นั่นคือ 
- แบบที่บริษัทไปเปิดเอง
- แบบขายแฟรนไชส์
แต่ปัญหาหลัก ๆ ในตอนนั้นก็มีอยู่ว่า 
คนไทยในต่างจังหวัดไกล ๆ ยังไม่คุ้นเคยกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อย่างร้านสะดวกซื้อ
แถมคนในแต่ละพื้นที่ ล้วนมีความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน และมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก
ดังนั้น รูปแบบในการทำตลาดของแต่ละจังหวัด ก็จะไม่เหมือนกันเสมอไป
ซึ่งในช่วงนั้น CPALL เจ้าของ 7-Eleven ก็ยังคงเป็นมือใหม่ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 
โดยเฉพาะการจะเข้าหาลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เช่น ในต่างจังหวัดไกล ๆ
CPALL จึงตัดสินใจหาพาร์ตเนอร์ ที่เป็นกลุ่มร้านค้าท้องถิ่นในต่างจังหวัด ที่มีความเชี่ยวชาญ ในการทำธุรกิจกับคนในพื้นที่มากกว่า
โดย CPALL ได้จับมือกับกลุ่มร้านค้าท้องถิ่นทั้ง 4 เจ้า ในจังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี ภูเก็ต และยะลา
ซึ่ง CPALL ได้ทำสัญญากับกลุ่มทุนท้องถิ่นทั้ง 4 เจ้านี้ 
ในรูปแบบ Sub-Area License หรือแปลเป็นไทยว่า “การรับสิทธิช่วงอาณาเขตบริหารแฟรนไชส์”
โดยหลักการของโมเดล Sub-Area License ก็คือ 
ทาง CPALL จะให้สิทธิ์แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเพียงรายเดียว ในพื้นที่นั้น ๆ  เพื่อเปิด 7-Eleven และขยายสาขาได้ด้วยตัวเอง 
แถมผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ CPALL ให้สิทธิ์ไป ยังสามารถขายแฟรนไชส์ ให้กับคนทั่วไปที่อยากเป็นเจ้าของร้าน 7-Eleven ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว แทน CPALL ได้อีกด้วย
โดยที่ CPALL จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจเป็นบางเรื่อง ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
ซึ่งในตอนนั้น ทาง CPALL ได้ให้สิทธิ์แก่กลุ่มร้านค้าท้องถิ่นทั้ง 4 เจ้าในจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
- ให้สิทธิ์ กลุ่มตันตราภัณฑ์ เปิด 7-Eleven ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน 
- ให้สิทธิ์ กลุ่มยิ่งยง เปิด 7-Eleven ในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ
- ให้สิทธิ์ กลุ่มงานทวี เปิด 7-Eleven ในจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง
- ให้สิทธิ์ กลุ่มศรีสมัย เปิด 7-Eleven ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ซึ่งถ้าใครมีที่ดิน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ และอยากเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
ก็จะต้องมาซื้อแฟรนไชส์ ผ่านพาร์ตเนอร์ทั้ง 4 เจ้า ในแต่ละจังหวัด
ซึ่งเหตุผลหลักที่ CPALL เลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านค้าท้องถิ่น 
เพื่อขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อในจังหวัดดังกล่าว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน 
ก็เพื่อให้พาร์ตเนอร์ท้องถิ่นช่วยทำตลาด 
และทำร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ให้เป็นที่รู้จักในระดับท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว
โดย CPALL จะเลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ประกอบการท้องถิ่น 
ที่ทำธุรกิจกับคนในพื้นที่มานาน จนเกิดความเชี่ยวชาญ อย่าง
- กลุ่มตันตราภัณฑ์ ที่ทำธุรกิจอยู่คู่กับคนเชียงใหม่มานาน
โดยเริ่มจากทำธุรกิจร้านโชห่วยใกล้ ๆ กับตลาดวโรรส หลังจากนั้น 
ก็เริ่มขยายธุรกิจมายังห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตริมปิง 
- กลุ่มยิ่งยง ที่เป็นเจ้าของห้างยิ่งยง ซึ่งเป็นอดีตห้างเก่าแก่ อยู่คู่ชาวอุบลราชธานีมากว่า 30 ปี
- กลุ่มงานทวี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในโซนจังหวัดภูเก็ต โดยทำธุรกิจหลากหลาย
ทั้งธุรกิจสวนยางพารา เหมืองแร่ ปูนซีเมนต์ ร้านขายส่ง อสังหาริมทรัพย์ 
และโรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ ซึ่งเป็นโรงแรมชื่อดังใจกลางเมืองภูเก็ต
- กลุ่มศรีสมัย ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังสินค้า และห้างค้าส่งขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่เข้าใจวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ ของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นอย่างดี
ซึ่งโมเดลการขยายสาขาแบบ Sub-Area License ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก
จนสิ้นปี 2566 ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีสาขา Sub-Area License ของร้านค้าท้องถิ่นทั้งหมด 874 สาขา 
คิดเป็น 6% ของจำนวนสาขา 7-Eleven ทั้งหมดทั่วประเทศไทย
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ที่เหลือ ที่ไม่มีร้านค้าท้องถิ่นรับสิทธิ์ขยายสาขา หรือแฟรนไชส์ 
CPALL เจ้าของ 7-Eleven ก็ต้องเข้าไปทำตลาดด้วยตัวเอง ด้วย 2 รูปแบบหลัก ๆ นั่นคือ
- แบบ CPALL เข้าไปเปิด 7-Eleven ด้วยตัวเอง
- แบบ Store Business Partner ซึ่งเป็นรูปแบบสาขาที่ต่อยอดจากรูปแบบแฟรนไชส์ ที่ 7-Eleven เคยทำเมื่อหลายปีก่อน
ซึ่งรูปแบบนี้ จะให้คนทั่วไปมาเป็นเจ้าของ 7-Eleven ผ่านการเป็นผู้จัดการร้าน
โดยเราจ่ายเพียงแค่ค่าใช้จ่ายในการเปิดร้าน
ส่วน CPALL จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้าน อุปกรณ์ในการขาย รวมถึงสินค้าที่นำมาขายด้วย
ทีนี้ เราไปดูรายได้ และกำไรของทั้ง 4 บริษัท ที่เป็น Sub-Area License ให้กับ CPALL กันบ้าง
- บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด บริษัทในกลุ่มตันตราภัณฑ์ 
เจ้าของสิทธิ์ 7-Eleven ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
ปี 2566 มีรายได้ 10,590 ล้านบาท กำไร 468 ล้านบาท
- บริษัท ยิ่งยง มินิมาร์ท จำกัด บริษัทในกลุ่มยิ่งยง
เจ้าของสิทธิ์ 7-Eleven ในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ
ปี 2566 มีรายได้ 6,116 ล้านบาท กำไร 221 ล้านบาท
- บริษัท งานหนึ่ง จำกัด บริษัทในกลุ่มงานทวี
เจ้าของสิทธิ์ 7-Eleven ในจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง
ปี 2566 มีรายได้ 2,010 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
- บริษัท ยะลาเซเว่น จำกัด บริษัทในกลุ่มศรีสมัย
เจ้าของสิทธิ์ 7-Eleven ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ปี 2565 มีรายได้ 2,654 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
สรุปก็คือ Sub-Area License เป็นวิธีการขยายสาขาของ 7-Eleven วิธีหนึ่ง
ที่ CPALL ได้ใช้ เพื่อให้ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น 
ในต่างจังหวัดแต่ละพื้นที่ ที่มีลักษณะเฉพาะ 
คือมีความต้องการสินค้าที่ไม่เหมือนกัน หรือมีวิถีชีวิตที่ต่างกัน 
จากเคสนี้ เราพอจะเห็นได้ว่า ต่อให้ธุรกิจจะใหญ่ และแข็งแกร่งแค่ไหน
สุดท้ายถ้าธุรกิจนั้น อยากจะขยายตลาดไปให้ไกล เพื่อให้เป็นที่รู้จักเยอะ ๆ
ก็จำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์ที่ดี ในการขยายธุรกิจ
อย่างเคส CPALL เจ้าของ 7-Eleven ที่จำเป็นต้องพึ่งพาพาร์ตเนอร์ 
ที่เป็นร้านค้าท้องถิ่น ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่ ทั้ง 4 เจ้าทั่วประเทศไทยนั่นเอง..
References
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.ซีพี ออลล์
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.