กลยุทธ์ BEARHOUSE ทำไมเอาเมนู ชาชีส ที่เคยขายไม่ออก มาขายใหม่

กลยุทธ์ BEARHOUSE ทำไมเอาเมนู ชาชีส ที่เคยขายไม่ออก มาขายใหม่

22 ก.ค. 2023
กลยุทธ์ BEARHOUSE ทำไมเอาเมนู ชาชีส ที่เคยขายไม่ออก มาขายใหม่ | BrandCase
ถ้าใครเป็นแฟนตัวยงของร้านชานม BEARHOUSE ก็อาจจะเคยเห็น เมนูชาผลไม้ใส่ชีส ที่ชื่อ “เซี่ยงไฮ้สตรอว์เบอร์รีชาชีส” กันในช่วงแรก ๆ ของการเปิดร้านใหม่ ที่สยามสแควร์ เมื่อปี 2562
แต่เมนูนี้กลับไม่ฮิตอย่างที่ คุณซารต์และคุณกานต์ คิดไว้
และเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น เมนูนี้ก็ถูกลบออกจากสินค้าของร้าน BEARHOUSE ไป..
ผ่านมา 4 ปี วันนี้ BEARHOUSE ได้หยิบเมนูชาผลไม้นุ่มชีสมาเล่าใหม่
ด้วยการเปิดตัวเครื่องดื่ม Fruit Tea Series เมนู “ชาผลไม้นุ่มชีส” ออกมาถึง 3 รสชาติ
ซึ่งจะมีการวางขายพร้อมกันทุกสาขา ในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 นี้
วันนี้ BrandCase มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณซารต์และคุณกานต์ ผู้ก่อตั้ง BEARHOUSE ถึงแนวคิดเบื้องหลังการเปิดตัวเมนูใหม่ “ชาผลไม้นุ่มชีส”
แล้วเรื่องราวเบื้องหลังที่กว่าจะเป็นเมนูนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
“คุณภาพ” และ “ความพิถีพิถันในการต้มชา” คือสองสิ่งสำคัญที่คุณซารต์และคุณกานต์ ใช้สร้างเมนูใหม่
ซึ่งต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว BEARHOUSE มีเมนูชาผลไม้ที่ทานกับชีสมาตั้งแต่ปี 2562
ซึ่งเป็นปีแรกที่ก่อตั้ง หรือเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว
โดยได้ทำเมนู เซี่ยงไฮ้สตรอว์เบอร์รีชาชีส ออกมาขาย
แต่เพราะตอนนั้นคนไทยยังไม่นิยมดื่มชาผลไม้ที่ทานกับชีส
เมนูนี้จึงไม่ฮิต ทำให้ขายได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น ก็ต้องยกเลิกทำเมนูนี้ไป เพราะขายไม่ออก
แต่หลังจากผ่านมา 4 ปี ตอนนี้เทรนด์และกระแสตอบรับชาผลไม้มาแรงมาก ๆ และเทรนด์ชานมชีสก็กำลังมา
BEARHOUSE เลยนำเอาสูตรเดิมที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดปรับสูตรให้มันดีขึ้น
ทั้งขั้นตอนการเลือกเนื้อผลไม้ที่มีคุณภาพ และปริมาณการใส่เนื้อผลไม้ต่อแก้ว ก็ตั้งใจคิดและพัฒนาสูตรออกมา เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่ามากที่สุดกับราคาที่จ่ายไป
และความพิถีพิถันในการต้มชา มีการ R&D วิธีการต้มชา
เพื่อให้ได้ชาที่หอม รสนุ่ม และให้รสชาติของชาเข้ากับเนื้อผลไม้ที่เลือกมา เมื่อลูกค้าดื่มแล้วไม่รู้สึกฝาดติดลิ้น
นอกจากนี้ยังมีท็อปปิงนุ่มชีส (Noom Cheese) สูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของ BEARHOUSE
ที่ให้รสสัมผัสนุ่มละมุน หอมมันเป็นเอกลักษณ์ ไม่หนักเกินไป และไม่รู้สึกเลี่ยนเกินไป ด้วยรสชาติของครีมชีสแท้ นำเข้าจากออสเตรเลีย
ซึ่งต้องบอกว่า BEARHOUSE มีความพยายามที่จะใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้ได้มากที่สุด
แต่ในกรณีของตัวครีมชีส มีการพัฒนาออกมาหลายสูตรมาก
แต่เนื่องจากรสชาติที่ออกมา ไม่ได้เป็นแบบที่ตั้งใจ ความหอมไม่ถึง สุดท้ายจึงจำเป็นต้องใช้ครีมชีสนำเข้าจากออสเตรเลีย
นอกจากเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ และความพิถีพิถันในการต้มชาแล้ว
ก็ยังมีการปรับสูตรระดับความหวาน เพื่อให้สินค้าตัวนี้สามารถตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพได้ด้วย
ซึ่งจากการต่อยอดพัฒนาจากสูตรเก่าในระยะเวลา 3 เดือน
สุดท้ายก็ได้ออกมาเป็นเมนูใหม่ Fruit Tea Series 2 แบบคือ “ชาผลไม้นุ่มชีส” และ “ชาใสนุ่มชีส”
โดยกลุ่มสินค้าที่ตั้งใจให้เป็นสินค้าเรือธงของ Fruit Tea Series ก็คือ “ชาผลไม้นุ่มชีส”
ซึ่งมี 3 รสชาติ คือ ชาพีชลิ้นจี่นุ่มชีส, ชาเนื้อส้มนุ่มชีส และชาเสาวรสมะม่วงนุ่มชีส
ในรูปแบบแก้วขนาดใหญ่ ราคา 120 บาท
-นอกจากตัวสินค้าแล้ว อะไรคือคีย์สำคัญที่คุณซารต์และคุณกานต์ คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ BEARHOUSE ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ?
อย่างแรกเลยคือ “ความพยายามเข้าใจลูกค้า”
BEARHOUSE ต้องมองว่าลูกค้าคือใคร ?
ลูกค้าต้องการอะไร ?
เนื่องจากเคยเป็นยูทูบเบอร์มาก่อน
ซึ่งเป็นงานที่ทำให้ต้องเจอกับคอมเมนต์หลากหลายรูปแบบอยู่ตลอดเวลา
จากตอนนั้นมันทำให้ได้เรียนรู้ว่า ควรรับฟังคำติชมและเสียงจากลูกค้าให้มากขึ้น
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เราก็จะนำมาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้แบรนด์ดีขึ้น และถูกใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
เช่น ทาง BEARHOUSE รู้ว่าลูกค้าเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมอยู่ด้วย
จึงทำการคอลแลบกับแบรนด์เกมชื่อดังอย่าง Honkai: Star Rail
โดยออกแคมเปญ BEARHOUSE x HONKAI STAR RAIL ทำเมนูสำหรับแฟนเกมโดยเฉพาะ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
อย่างต่อมาคือ “การทำการตลาด” จากเดิมมีการทำตลาดแบบออนไลน์หนัก ๆ
ตอนนี้ก็มีการเปลี่ยนรูปแบบ เป็นการทำตลาดแบบ In-Store Marketing มากขึ้น
ด้วยการตกแต่งร้าน และทำสื่อขึ้นที่หน้าร้านทุกสาขา ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชัน
เพื่อให้เกิดการ Trial Product ทดลองบริโภคสินค้า
และถึงแม้ว่าการทำตลาดแบบใช้โปรโมชัน จะทำให้แทบไม่ได้กำไรเลย แต่ก็อยากทำให้ทุกคนได้ลองชิม
-ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ BEARHOUSE เป็นอย่างไรบ้าง ?
ปี 2562 รายได้รวม 17 ล้านบาท กำไร 0.6 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 85 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 118 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 210 ล้านบาท กำไร 21 ล้านบาท
ซึ่งจากตัวเลขของผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ BEARHOUSE ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ดีทีเดียว
และปัจจุบัน BEARHOUSE มียอดขายเฉลี่ยวันละ 8,000 แก้ว
แบ่งเป็นยอดขายวอล์กอิน (Walk-In) หน้าร้าน 60% และดิลิเวอรี (Delivery) 40%
โดยสัดส่วนรายได้กว่า 90% มาจากสินค้าประเภทเครื่องดื่ม มีเมนู 3 อันดับแรกคือ
-ชานมอัสสัมไข่มุกโมจิ
-อัญชันยูซุ
-ชาดำยูซุ
และรายได้อีก 10% มาจากสินค้าประเภทขนม มีเมนู 3 อันดับแรกคือ
-โมจิโรลนมฮอกไกโด
-เหมือนฝัน
-โมจิโรลช็อกโกแลต
-แล้วก้าวต่อไปที่ BEARHOUSE มองไว้คืออะไร ?
“ต่างประเทศ” คือเป้าหมายที่ BEARHOUSE อยากจะไปให้ถึง
ซึ่งภายในระยะเวลาสัก 1-2 ปีนี้ เราก็ตั้งใจไว้ว่า เราอยากขยายสาขาไปที่ต่างประเทศให้ได้
ในขณะเดียวกันเป้าหมายภายในประเทศ ก็มีเหมือนกัน
ปัจจุบัน BEARHOUSE มีสาขารวมทั้งสิ้น จำนวน 23 สาขา
ซึ่งสาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลทองรอบกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล
รวมถึงมีสาขาต่างจังหวัดสาขาแรก ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อปีที่แล้ว ที่นครราชสีมา
โดยในปีนี้ตั้งใจจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น ให้ถึง 33 สาขา
ซึ่งจะมีทั้งในโซนกรุงเทพมหานคร ตามห้างใหญ่ ๆ และเริ่มขยายออกต่างจังหวัดมากขึ้น
เนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว มีการขยายสาขาไปที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วได้รับกระแสตอบรับดีมาก
นอกจากนี้ คุณกานต์ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า
ทำเลที่เราเลือกไปเปิด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสาขาที่แฟนคลับในช่องคอมเมนต์แนะนำมา
และจากที่ผ่านมาได้รับคอมเมนต์จากแฟนคลับว่า ให้ไปเปิดสาขาที่ภาคอีสานเยอะมาก
ดังนั้นโซนต่างจังหวัดที่มองไว้ต่อไปคือ “ภาคอีสาน” นั่นเอง
ก็ต้องยอมรับว่า BEARHOUSE เป็นอีกแบรนด์ ที่มีการทำธุรกิจ
โดยใช้จุดเริ่มต้นมาจากลูกค้าเป็นหลัก เพราะทุกคำติชมของลูกค้า ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่
และคำแนะนำของแฟนคลับ ก็นำไปสู่การขยายสาขา
นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่า ทำไมทุกครั้งที่ BEARHOUSE ไปเปิดสาขาใหม่ที่ไหนก็ตาม
ก็จะมีลูกค้ามาอุดหนุนอยู่เสมอ
โดยคุณกานต์ ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“จากความผิดพลาดในการออกสินค้าผิด Timing หรือผิดเวลา
ทำให้เรานำความผิดพลาดในครั้งนั้น กลับมาทำใหม่ในเวลาที่เหมาะสม”
และในมุมมองของ BEARHOUSE เรื่องเล็ก ๆ ของลูกค้า ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา..
References
-สัมภาษณ์พิเศษ กับคุณกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ และคุณซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช เจ้าของ BEARHOUSE
-ข่าวประชาสัมพันธ์ ครบรอบ 4 ปี BEARHOUSE
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.