กลยุทธ์ “ตำมั่ว” จากร้านอีสานข้างทาง มาขึ้นห้าง แล้วขยายไป ต่างประเทศ

กลยุทธ์ “ตำมั่ว” จากร้านอีสานข้างทาง มาขึ้นห้าง แล้วขยายไป ต่างประเทศ

17 มี.ค. 2023
กลยุทธ์ “ตำมั่ว” จากร้านอีสานข้างทาง มาขึ้นห้าง แล้วขยายไป ต่างประเทศ | BrandCase
หลายคนน่าจะรู้จัก “ตำมั่ว” ร้านนี้ คือร้านอาหารไทยสไตล์อีสาน ที่เมื่อก่อนเริ่มจากการเป็นร้านอาหารข้างทาง
วันนี้ ตำมั่ว เติบโตจนมาขายบนห้างสรรพสินค้า
แถมยังขยายไปไกล ถึงต่างประเทศ
แล้วเจ้าของร้านนี้ ทำได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของร้านตำมั่ว เกิดมาตั้งแต่ปี 2532
โดยชื่อเดิมของร้าน ชื่อว่า “นครพนมอาหารอีสาน”
โดยผู้ที่เป็นเจ้าของร้านก็คือ คุณแม่ของ คุณศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ แม่ทัพของร้านคนปัจจุบัน
สมัยที่ยังใช้ชื่อร้านว่า นครพนมอาหารอีสาน คุณศิรุวัฒน์ เล่าว่า
ถึงร้านของคุณแม่จะขายดีแค่ไหน แต่ปัญหาคือลูกค้าหลายคนก็ยังจำชื่อร้านไม่ค่อยได้ และร้านเองก็ไม่ใช่แบรนด์แรก ๆ ที่ลูกค้านึกถึง
พอเป็นแบบนี้ เขาจึงเริ่มปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่
-เน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำ ทำการตลาดมากขึ้น
คุณศิรุวัฒน์ รีแบรนด์ใหม่ด้วยชื่อว่า ร้าน “ตำมั่ว”
พร้อมทั้งใช้กลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Music marketing เพื่อทำการโปรโมตร้านอาหารของตนเองผ่านเพลง บ่เป็นหยัง ของ ก้อง ห้วยไร่ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ซึ่งจนถึงวันนี้มีผู้เข้ามารับชมกว่า 72 ล้านครั้ง
ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนรู้จักร้านตำมั่วมากขึ้นไปอีก
-วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อจะได้เสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจมากขึ้น
คุณศิรุวัฒน์ บอกว่า สิ่งสำคัญแรก ๆ คือ รู้ว่าเรากำลังจะขายอาหารให้ใคร ?
เพราะการที่เรารู้ว่าลูกค้าคือใคร จะช่วยให้เราวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ลูกค้ามีกำลังจ่ายได้เท่าไร และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
ซึ่งทางร้านก็พบว่ากลุ่มลูกค้าของร้านตำมั่วนั้นมีหลากหลาย ทุกเพศ ทุกวัย และมีตั้งแต่กลุ่มรายได้น้อยไปจนถึงรายได้สูง
หรือพูดง่าย ๆ คือ อาหารที่ร้านนั้นอยู่ในตลาดแมส
นั่นคือ ทุกคนสามารถเข้ามาทานได้ตั้งแต่คนรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือนรายได้ปานกลาง ไปจนถึงคนรวย
เขาบอกว่า เมื่อรู้แล้วว่า กลุ่มลูกค้าคือกลุ่มแมส ดังนั้นจึงค่อยคิดเรื่องอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร การตกแต่งร้าน อุปกรณ์ภายในร้าน
-เลือกพันธมิตรดี ๆ เวลาต้องขยายธุรกิจไปในสถานที่ที่เราไม่รู้จักดีพอ
เช่น การไปเติบโตในต่างประเทศของตำมั่ว ในลาว เมียนมา และกัมพูชา จะทำผ่านการลงทุนกับพันธมิตรด้วยการขายแฟรนไชส์
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้เงินลงทุนคือ ทัศนคติของผู้ที่ต้องการมาร่วมธุรกิจ
คุณศิรุวัฒน์บอกว่า ถ้าคนที่ต้องการเป็นพันธมิตรรายไหนบอกว่า รสชาติอาหารของตำมั่วอร่อย แต่เขาจะขอปรับรสชาติ ปรับวัตถุดิบตามแบบของตนเองได้ไหม
ถ้าเป็นแบบนี้ คุณศิรุวัฒน์จะไม่คุยต่อเลย เพราะเขามองว่า รสชาติและคุณภาพของตำมั่วไม่ว่าทานที่ไหน จะต้องเหมือนกันหมด นี่คือจุดยืนของทางร้าน
การเติบโตของตำมั่ว ทำให้ในปี 2559 ตำมั่ว ได้เซ็นสัญญาร่วมธุรกิจกับบริษัทภายในเครือร้านอาหารยักษ์ใหญ่ ที่ชื่อว่า บริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN
ซึ่ง ZEN ก็ถนัดในเรื่องการทำร้านอาหารตามห้างใหญ่ ๆ เช่น ห้างในเครือเซ็นทรัล ทำให้ ตำมั่ว กลายเป็นร้านอาหารอีสานขึ้นห้าง
ในมุมมองของคุณศิรุวัฒน์ เขามองว่า การที่ตำมั่วมี ZEN มาร่วมทำธุรกิจ ถือเป็นการเพิ่มจุดแข็งของตำมั่ว โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการร้านอาหารให้มีความเป็นมืออาชีพ
ซึ่งปัจจุบัน ร้านตำมั่ว มีกว่า 150 สาขา ใน 4 ประเทศ
คือในไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา..
References
-https://tummouroriginal.com/about/
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2564, บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
-https://mgronline.com/smes/detail/9590000041785
-https://www.bangkokbiznews.com/business/697030
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.