
โมเดลโรงแรม เครือ AWC เน้นสร้างโรงแรมเอง แล้วเอา แบรนด์ระดับโลก มาใช้
15 ก.ค. 2025
- หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าธุรกิจโรงแรม มีหลายแบบ เช่น สร้างแบรนด์เอง แล้วบริหารเอง, สร้างแบรนด์ขึ้นมา แล้วขายสิทธิ์ให้คนอื่นใช้
รวมถึง สร้างตัวอาคารโรงแรมขึ้นมา แล้วลงทุนเอาสิทธิ์แบรนด์โรงแรมดัง ๆ ระดับโลกมาใช้
ซึ่งกรณีหลังสุดนี้ คือโมเดลที่เครือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เน้นมาก ๆ
โมเดลโรงแรมแบบนี้ เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
- บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC คือเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังหลาย ๆ ที่ในไทย
ไม่ว่าจะเป็น Asiatique The Riverfront, ศูนย์การค้า Pantip
หรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ อย่างตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ใจกลางย่านสาทร
นอกจากศูนย์การค้า แลนด์มาร์กดัง ๆ หรืออาคารสำนักงานต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว
เครือ AWC ก็ยังมีธุรกิจอีกขาหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ธุรกิจโรงแรม
ปัจจุบันเครือ AWC เป็นเจ้าของโรงแรมกว่า 23 แห่ง
โมเดลบริหารโรงแรมของเครือ AWC ที่ดูจะเด่นมาก คือการเป็นเจ้าของสินทรัพย์เอง แล้วจ้างเชนโรงแรมดังระดับโลกบริหารให้
โดยโมเดลลักษณะนี้ อาจเรียกอีกอย่างได้ว่า Asset-Heavy Model
โมเดลแบบนี้ เจ้าของแบรนด์โรงแรมดัง ๆ จะขายสิทธิ์การใช้แบรนด์โรงแรมที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่
ให้กับเจ้าของโรงแรมรายอื่น ๆ นำไปประกอบธุรกิจ โดยที่เจ้าของแบรนด์โรงแรมไม่ต้องใช้เงินลงทุนเอง
โมเดลธุรกิจนี้ของ AWC จะเลือกไปจับมือกับเชนโรงแรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก
อย่างเช่น
- Marriott International
- Hilton Hotels
- InterContinental Hotels Group (IHG)
ซึ่งเชนโรงแรมเหล่านี้ ต่างก็มีแบรนด์โรงแรมดัง ๆ ระดับโลกอยู่ในเครือ
อย่างเช่น แบรนด์โรงแรม Marriott, Le Meridien, Sheraton, Hilton, InterContinental, Holiday Inn
แบรนด์ดังระดับโลกเหล่านี้ ต่างก็มีกลุ่มลูกค้า หรือ Customer Segment ของแบรนด์ที่ค่อนข้างชัดเจน
Marriott Group กลุ่มโรงแรมระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา มีแบรนด์โรงแรมอย่างเช่น
- Marriott โรงแรมสำหรับนักธุรกิจ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางบน
- Le Meridien โรงแรมสำหรับกลุ่มคนที่ชอบเสพดิไซน์และงานศิลปะ
- The Athenee Hotel, a Luxury Collection หนึ่งในแบรนด์โรงแรมหรู ที่บริหารโดยเครือ Marriott
IHG หรือ InterContinental Hotels Group กลุ่มโรงแรมระดับโลกจากสหราชอาณาจักร มีแบรนด์โรงแรมอย่างเช่น
- Holiday Inn ที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางบน
- InterContinental ที่เจาะกลุ่มลูกค้าลักชัวรี
- Meliá (อ่านว่า มีเลีย) กลุ่มโรงแรมชื่อดังจากประเทศสเปน
ดังนั้น เมื่อเครือ AWC ได้ไปลงทุนในโครงการโรงแรม ในทำเลศักยภาพต่าง ๆ
อย่างเช่น ใจกลางกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต, เกาะสมุย หรือพัทยา
เครือ AWC ก็พร้อมที่จะไปดีลกับแบรนด์โรงแรมดังระดับโลก เพื่อขอใช้ชื่อแบรนด์ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ พร้อมกับจ้างให้เชนโรงแรมนั้นบริหารโรงแรมไปด้วย
ซึ่งโมเดล เป็นเจ้าของโรงแรมเอง แต่จ้างบริหาร
ข้อดีคือ จะสามารถรับรู้รายได้ จากค่าบริการห้องพักแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วไปเสียค่าจ้างบริหารเอา
แต่ก็แลกกับ การจะต้องดูแลต้นทุนต่าง ๆ ทั้งหมดเอง อย่างเช่น ค่าเสื่อมราคาของตัวโรงแรม และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการห้องพัก
แต่การจ้างบุคลากรจากเชนโรงแรมชื่อดังมาบริหารโรงแรม ก็จะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
คือค่า Royalty Fee ตามเรตที่ตกลงกัน
โดยเครือ AWC เป็นเจ้าของโรงแรม ที่อยู่ภายใต้โมเดลการบริหารแบบนี้ทั้งหมด 23 แห่งด้วยกัน
แบ่งออกเป็น
- กรุงเทพมหานคร 10 แห่ง
เช่น โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ, โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท
โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ
และโรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา ที่เพิ่งซื้อกิจการมาล่าสุด
- เชียงใหม่ 3 แห่ง
เช่น โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง และ โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่
- พัทยา 1 แห่ง
โรงแรมมีเลีย พัทยา
- หัวหิน 1 แห่ง
โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท แอนด์สปา
- กระบี่ 1 แห่ง
โรงแรมบันยันทรี กระบี่
- เกาะสมุย 4 แห่ง
เช่น โรงแรมบันยันทรี สมุย และ โรงแรมเชอราตัน สมุย รีสอร์ท
- ภูเก็ต 3 แห่ง
เช่น โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์สปา และ โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์
โดยปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรม สามารถทำรายได้มากถึง 77% ของทั้งเครือ AWC เลยทีเดียว
โจทย์สำคัญของการเป็นเจ้าของโรงแรมเองแบบ AWC
คือจะทำอย่างไร ให้มี Occupancy Rate หรือมีเรตคนมาเข้าพักโรงแรม ให้ได้มากที่สุด
เพราะถ้าโรงแรมมี Occupancy Rate น้อย ก็อาจทำให้รายได้จากค่าที่พักไม่คุ้มกับต้นทุนค่าใช้จ่าย
แต่ถ้าโรงแรมมี Occupancy Rate สูง ก็จะทำให้โรงแรมสามารถเก็บรายได้มากขึ้น
เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนของ Fixed Cost หรือต้นทุนคงที่
เจ้าของโรงแรม ก็จะมีโอกาสทำให้โรงแรมนั้น มีอัตรากำไรที่มากขึ้นได้นั่นเอง
References
- รายงานประจำปี 2567 บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป