อธิบาย Fixed Cost ต้นทุนคงที่ แบบภาษาบ้าน ๆ

อธิบาย Fixed Cost ต้นทุนคงที่ แบบภาษาบ้าน ๆ

4 เม.ย. 2024
อธิบาย Fixed Cost ต้นทุนคงที่ แบบภาษาบ้าน ๆ | BrandCase
หากเราทำธุรกิจเปิดร้านขายของ
ไม่ว่าร้านเราจะมีลูกค้าเข้ามาซื้อของมากน้อยแค่ไหน
ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายแน่ ๆ นั่นคือ ค่าเช่าที่, ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงานประจำ
ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนในการทำธุรกิจของเรา
โดยจะเรียกต้นทุนส่วนนี้ว่า ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
ซึ่งต้นทุนคงที่ จะแตกต่างจากต้นทุนผันแปร หรือ Variable Cost
ที่แปรผันไปตามยอดขายที่เราขายได้ เช่น ต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาแล้วขายไป
แล้วต้นทุนคงที่ มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็จะขออธิบายเรื่องต้นทุนคงที่
ผ่านโมเดลธุรกิจทั้ง 4 อย่าง นั่นคือ
ธุรกิจสายการบิน
ที่ต่อให้เครื่องบิน 1 เที่ยว มีผู้โดยสารไม่ถึง 10 คน หรือมีผู้โดยสารเต็มลำ
อย่างไรก็ต้องจ่ายค่าน้ำมัน เงินเดือนกัปตันและแอร์โฮสเตส หรือค่าลงจอดสนามบินเหมือนกันธุรกิจโรงแรม
ที่ต่อให้ใน 1 คืน มีคนมาเข้าพักเพียงห้องเดียว
หรือเต็มทุกห้อง ก็ต้องจ่ายค่าแม่บ้าน และค่าดูแลสถานที่ธุรกิจโรงพยาบาล
ที่ต่อให้มีคนไข้เยอะหรือน้อย ก็ต้องจ่ายเงินเดือน หรือค่าเวรให้กับหมอและพยาบาลเหมือนกันธุรกิจโรงเรียนเอกชน
ที่ต่อให้มีนักเรียนเยอะหรือน้อย ก็มีต้นทุนค่าจ้างครูผู้สอน และค่าผู้ดูแลโรงเรียนเช่นเดียวกัน
ซึ่งนอกจากธุรกิจทั้ง 4 อย่างนี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่สูงแล้ว
ธุรกิจทั้ง 4 อย่างนี้ ยังเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงด้วย อย่าง
ธุรกิจสายการบิน ที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าเครื่องบินธุรกิจโรงแรม ที่ต้องลงทุนสร้างตึกโรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวก
เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและของใช้ภายในห้อง ระบบคีย์การ์ด หรือสระว่ายน้ำธุรกิจโรงพยาบาล ที่ต้องลงทุนสร้างตึกโรงพยาบาล
และลงทุนกับเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาสูงธุรกิจโรงเรียนเอกชน ที่ต้องมีอาคารเรียน สนามเด็กเล่น อุปกรณ์การเรียน และสื่อการสอน
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อทรัพย์สินเหล่านี้ถูกนำไปประกอบธุรกิจ
ก็ต้องมีต้นทุนค่าเสื่อมราคา ที่ต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในทุก ๆ ปี
อย่างเช่น ซื้อเครื่องปรับอากาศมา 1 เครื่องราคา 50,000 บาท มีอายุใช้งานเฉลี่ย 5 ปี
ในทางบัญชีก็ต้องบันทึกเป็นค่าเสื่อมทุก ๆ ปี ปีละ 10,000 บาท
ซึ่งค่าเสื่อมราคาเหล่านี้ก็ถือเป็นต้นทุนคงที่อย่างหนึ่ง
มาถึงตรงนี้ ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สูงอยู่แล้ว กลับมามีกำไร
แน่นอนว่าคำตอบแรก ๆ ของใครหลายคนก็คือ ต้องมีจำนวนผู้มาใช้บริการมากพอ
แต่เรื่องจำนวนผู้มาใช้บริการ ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดทีเดียว
โดยเราลองไปดูโจทย์ง่าย ๆ สัก 1 ข้อ
สมมติว่ามีรถทัวร์ รับส่งผู้โดยสารจากกรุงเทพมหานคร ไปเชียงใหม่ ทั้งหมด 3 บริษัท
นั่นคือ บริษัท A, บริษัท B และ บริษัท C
ให้แต่ละบริษัท เก็บค่าโดยสารที่ราคาเท่ากันคือ 1,000 บาท
บริษัท A ใช้รถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน บรรจุผู้โดยสารทั้งหมด 20 คนบริษัท B ใช้รถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน บรรจุผู้โดยสารทั้งหมด 50 คนบริษัท C ใช้รถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน บรรจุผู้โดยสารทั้งหมด 100 คน
โดยกำหนดให้ต้นทุนคงที่ อย่างเช่น ค่าน้ำมันรถโดยสาร ค่าที่จอดรถขนส่ง
รายได้ตอบแทนคนขับรถ พนักงานต้อนรับ ผู้ดูแลรถ
ไปจนถึงค่าเสื่อมราคารถโดยสาร อยู่ที่ 20,000 บาท ต่อคันต่อเที่ยว
และสมมติว่ารถโดยสารทั้ง 3 บริษัท ไม่แจกอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้โดยสารบนรถ
คำถามคือ บริษัทไหน จะทำกำไรได้มากที่สุด ?
ถ้าคิดเลขเร็ว ๆ หลายคนก็อาจจะตอบเป็นบริษัท C
เพราะมีจำนวนลูกค้า เลือกโดยสารกับบริษัท C มากสุดที่ 100 คน
ทีนี้ถ้าเราลองไปคำนวณรายได้ และกำไร ที่บริษัทได้รับจริง ๆ ก็จะเห็นว่า
บริษัท A จะมีรายได้ 1,000 x 20 เท่ากับ 20,000 บาทบริษัท B จะมีรายได้ 1,000 x 50 เท่ากับ 50,000 บาทบริษัท C จะมีรายได้ 1,000 x 100 เท่ากับ 100,000 บาท
ในส่วนของบริษัท C สมมติให้ ผู้โดยสารทั้งหมด 100 คน เลือกนั่งคันละ 20 คน เนื่องจากผู้โดยสารแต่ละคนเลือกเส้นทางเดินรถที่ต่างกัน
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า บริษัท C จะมีรายได้มากที่สุด ตามจำนวนผู้โดยสาร
แต่ถ้าไปลองคำนวณค่าใช้จ่าย เราก็จะเห็นว่า
บริษัท A มีรถโดยสาร 1 คัน ต้นทุนอยู่ที่ 20,000 บาทบริษัท B มีรถโดยสาร 1 คัน ต้นทุนอยู่ที่ 20,000 บาทส่วนบริษัท C มีรถโดยสาร 5 คัน ดังนั้นต้นทุนก็จะอยู่ที่ 5 x 20,000 เท่ากับ 100,000 บาท
แล้วเมื่อนำรายได้มาหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว กำไรที่แต่ละบริษัทจะได้รับคือ
บริษัท A 20,000 - 20,000 บาท เท่ากับ 0 บาทบริษัท B 50,000 - 20,000 บาท เท่ากับ 30,000 บาทบริษัท C 100,000 - 100,000 บาท เท่ากับ 0 บาท
จะเห็นได้ว่า ถ้าเราคิดในแง่ของกำไร บริษัท B สามารถทำกำไรได้ 30,000 บาท
ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร แค่เพียงครึ่งหนึ่งของบริษัท C
ในขณะที่บริษัท A และ C ทำกำไรได้ 0 บาท หรือไม่มีกำไรเลย
จากโจทย์ สิ่งที่เราได้รู้มีทั้งหมด 3 อย่าง นั่นคือ
จำนวนลูกค้า ซึ่งก็คือผู้โดยสาร ที่เป็นตัวกำหนดรายได้ คือยิ่งมีผู้โดยสารมาก ยิ่งมีรายได้มากยิ่งมีลูกค้า หรือผู้โดยสารเต็มคันรถ ก็ยิ่งมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น โดยเราจะเห็นได้จาก
บริษัท A มีผู้โดยสาร 20 คน ในรถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง คิดเป็นอัตราการใช้บริการเท่ากับ 40%บริษัท B มีผู้โดยสาร 50 คน ในรถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง คิดเป็นอัตราการใช้บริการเท่ากับ 100%บริษัท C มีผู้โดยสาร 100 คน ในรถโดยสารขนาด 50 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน
นั่นเท่ากับว่ารถโดยสาร 1 คันจะมีผู้โดยสาร 20 คน ดังนั้น จึงคิดเป็นอัตราการใช้บริการเท่ากับ 40%
ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัตราการใช้บริการ หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Utilization Rate
ก็เป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัท มีกำไรนั่นเอง
ในการเดินรถโดยสาร 1 เที่ยว จะต้องมีผู้โดยสารตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ถึงจะคุ้มทุน
นั่นหมายความว่า การเดินรถ 1 เที่ยวจะมีกำไรได้ ถ้ามีผู้โดยสารมากกว่า 20 คน
สรุปชัด ๆ คือ ยิ่งธุรกิจมีคนมาใช้บริการมาก ธุรกิจก็ยิ่งมีรายได้มาก
และยิ่งธุรกิจมีอัตราการใช้งาน หรือ Utilization มาก ธุรกิจก็ยิ่งมีโอกาสทำกำไรได้มากขึ้น
ซึ่งต้องบอกว่าธุรกิจหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สูง
ได้ให้ความสำคัญ กับอัตราการใช้บริการของลูกค้ามาก
ถึงขนาดนำมาสร้างเป็นตัวชี้วัด เพื่ออธิบายถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
ธุรกิจสายการบิน มีตัวชี้วัดคือ อัตราส่วนผู้โดยสารบนเครื่องบิน (Load Factor)ธุรกิจโรงแรม มีตัวชี้วัดคือ อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate)ธุรกิจโรงเรียนเอกชน มีตัวชี้วัดคือ อัตราส่วนนักเรียน ต่อความจุของโรงเรียนที่สามารถสอนได้ธุรกิจโรงพยาบาล มีตัวชี้วัดคือ อัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยใน
และอัตราการใช้บริการเฉลี่ยสำหรับผู้ป่วยนอก
ทีนี้เราลองไปดูตัวอย่างเคสจริงกัน
ธุรกิจสายการบิน อย่าง บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV เจ้าของสายการบิน ไทย แอร์เอเชีย
ปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 7,945 คน
ปี 2566 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 51,781 คน
มีอัตราส่วนผู้โดยสาร (Load Factor) ใน 1 เที่ยวบิน
ปี 2564 ทุก ๆ 100 ที่นั่ง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 68 ที่นั่ง
ปี 2566 ทุก ๆ 100 ที่นั่ง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 90 ที่นั่ง
โดยผลประกอบการ
ปี 2564 มีรายได้ 4,559 ล้านบาท ขาดทุน 6,647 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 42,983 ล้านบาท กำไร 466 ล้านบาท
ธุรกิจโรงแรม อย่าง บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW
เจ้าของโรงแรมหรู อย่างแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ไปจนถึงโรงแรมบัดเจ็ตโฮเทล อย่าง Hop Inn
ปี 2564 ทุก 1 คืน จะมีแขกเข้าพักเฉลี่ย 2,771 ห้อง
ปี 2566 ทุก 1 คืน จะมีแขกเข้าพักเฉลี่ย 8,280 ห้อง
อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ใน 1 คืน
ปี 2564 ทุก ๆ 100 ห้อง มีแขกมาเข้าพักเฉลี่ย 29 ห้อง
ปี 2566 ทุก ๆ 100 ห้อง มีแขกมาเข้าพักเฉลี่ย 81 ห้อง
โดยผลประกอบการ
ปี 2564 รายได้ 1,641 ล้านบาท ขาดทุน 2,050 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 7,046 ล้านบาท กำไร 743 ล้านบาท
ธุรกิจโรงเรียนเอกชน อย่าง บมจ.เอสไอเอสบี หรือ SISB เจ้าของโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์
ปี 2564 มีจำนวนนักเรียน 2,434 คน
ปี 2566 มีจำนวนนักเรียน 4,197 คน
อัตราส่วนนักเรียนต่อที่นั่งในโรงเรียน
ปี 2564 ทุก ๆ 100 ที่นั่ง จุนักเรียนเฉลี่ย 52 ที่นั่ง
ปี 2566 ทุก ๆ 100 ที่นั่ง จุนักเรียนเฉลี่ย 63 ที่นั่ง
ผลประกอบการ
ปี 2564 รายได้ 1,075 ล้านบาท กำไร 209 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 1,940 ล้านบาท กำไร 654 ล้านบาท
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าธุรกิจ อย่างสายการบิน โรงแรม หรือโรงเรียนเอกชนที่มี Fixed Cost สูง
นอกจากจะต้องการลูกค้า มาใช้บริการเยอะ ๆ แล้ว
บริษัท ยังต้องทำให้ธุรกิจ มีอัตราการใช้บริการ หรือ Utilization ที่มากขึ้นด้วย
เพื่อให้บริษัทมีโอกาสทำกำไรมากขึ้น
นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ในช่วงโลว์ซีซัน หรือช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อย
หลาย ๆ สายการบิน จำเป็นต้องขายตั๋วในราคาที่ถูกลง
หรือโรงแรมหลายแห่ง จำเป็นต้องปรับราคาที่พักลง
เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเพื่อเพิ่มอัตราการใช้บริการจากลูกค้าให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
ซึ่งแม้ว่าการปรับราคาแบบนี้ อาจทำให้อัตรากำไรลดลง แต่อย่างน้อย ก็จะช่วยให้รายได้ที่เพิ่มเข้ามานี้ สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ ไม่ว่าอย่างไรก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน..
References
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.เอสไอเอสบี
-รายงานประจำปี 2564 และ 2566 บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
-รายงานประจำปี 2566 บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น
-https://www.set.or.th
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.