อธิบายโมเดล รายได้-ต้นทุน ธุรกิจค้าปลีก VS ค้าส่ง จากเคส Moshi Moshi
19 ต.ค. 2024
-ในครึ่งปีแรกของปี 2567 เจ้าของร้าน Moshi Moshi หรือ บมจ.โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น มีรายได้ทั้งหมด 1,328 ล้านบาท
จากร้านในเครือ Moshi Moshi ทั้งหมด 150 สาขา และร้านค้าออนไลน์ (จำนวนสาขา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567)
แต่รู้หรือไม่ว่า ในจำนวน 150 สาขานั้น
มีอยู่ 4 สาขาที่สามารถทำยอดขายได้ 226 ล้านบาท คิดเป็น 17% ของรายได้ทั้งหมด
ซึ่งร้าน 4 สาขาที่ว่า คือ “ร้านค้าส่ง” ในเครือ Moshi Moshi
โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2567 เครือ Moshi Moshi
-มีร้านค้าปลีกกว่า 146 สาขา
-มีร้านค้าส่ง 4 สาขา
ซึ่งถ้าไปเจาะดูในคำอธิบายงบการเงิน
ก็จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของ โมเดลรายได้-ต้นทุน ของธุรกิจค้าปลีก กับค้าส่ง ว่าต่างกันอย่างไร
BrandCase สรุปให้ง่าย ๆ ในโพสต์นี้
ร้านค้าปลีกของเครือ Moshi Moshi ทั้ง 146 สาขา แบ่งออกเป็น
- ร้าน Moshi Moshi ตามศูนย์การค้า 143 สาขา
- ร้าน Garlic ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านที่เครือ Moshi Moshi เพิ่งปั้นมาใหม่เน้นขายสินค้าแฟชั่น และของตกแต่งบ้านแบบเก๋ ๆ อีก 3 สาขา
ส่วนร้านค้าส่งของเครือ Moshi Moshi ที่สามารถทำยอดขายกว่า 226 ล้านบาท มีทั้งหมด 4 สาขา คือ
- ร้าน The OK Station เป็นร้านค้าส่งสินค้าแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน และเครื่องเขียน ที่ใหญ่ที่สุดใจกลางย่านสำเพ็ง โดย Moshi Moshi ซื้อกิจการเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
- ร้าน GIANT ที่ศูนย์การค้า แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
- ร้าน Moshi Moshi อีก 2 สาขา นั่นคือในย่านสำเพ็ง และศูนย์การค้า แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
ทีนี้ เราลองไปดูสัดส่วนรายได้ และกำไรของเครือ Moshi Moshi ทั้งธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจค้าส่ง
รายได้ของเครือ Moshi Moshi ทุก ๆ 100 บาท มาจาก
- ร้านค้าปลีก = 82 บาท
- ร้านค้าส่ง = 17 บาท
- ขายออนไลน์ ผ่าน Shopee, Lazada,TikTok Shop = 1 บาท
จากตัวเลขตรงนี้ เราจะเห็นว่า รายได้ของเครือ Moshi Moshi ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจร้านค้าปลีก
แต่ถ้าเราลองเอาแว่นขยาย ส่องลงไปที่งบการเงินชัด ๆ เราก็จะเห็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาอย่างที่เกริ่น
นั่นก็คือ
- ร้านค้าปลีกของเครือ Moshi Moshi ทั้ง 146 สาขา ทำยอดขายได้ 1,089 ล้านบาท
คิดเป็นยอดขายต่อสาขาเฉลี่ย 7.5 ล้านบาท
- ร้านค้าส่งของเครือ Moshi Moshi ที่มีอยู่เพียง 4 สาขา ทำยอดขายได้ 226 ล้านบาท
คิดเป็นยอดขายต่อสาขาเฉลี่ย 56 ล้านบาท
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า ธรรมชาติของโมเดลธุรกิจค้าส่ง จะเน้นขายสินค้าทีละมาก ๆ โดยจะเสนอส่วนลดให้กับลูกค้า ในราคาต่อชิ้นที่ถูกลง
นอกจากนี้ โมเดลร้านค้าส่งของเครือ Moshi Moshi ยังเจาะกลุ่มลูกค้า ที่เป็นร้านค้าเฉพาะอย่าง
ซึ่งเป็นร้านค้าแบบดั้งเดิม ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ ก็จะสั่งซื้อสินค้า อย่างเครื่องเขียน กระเป๋านักเรียน ของใช้ในบ้าน และของเล่น
แบบทีละมาก ๆ ในราคาต่อชิ้นที่ถูก
เพื่อนำไปขายที่ร้านค้าเฉพาะอย่างในพื้นที่ท้องถิ่น โดยขายในราคาขายปลีกเพื่อเอากำไรส่วนต่าง
ซึ่งโมเดลธุรกิจแบบนี้ ก็จะคล้าย ๆ กับ ที่ร้านค้าโชห่วย ไปซื้อสินค้าจากห้างค้าส่ง อย่าง makro ในราคาขายส่ง แล้วเอามาขายต่อ
ทีนี้ เรามาดูในส่วนของ กำไรขั้นต้น ของเครือ Moshi Moshi
ซึ่งกำไรขั้นต้น หรือ Gross profit = รายได้ - ต้นทุนขาย
รายได้ของ Moshi Moshi ทุก ๆ 100 บาท
เมื่อหักต้นทุนสั่งซื้อสินค้าและนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่าย 46 บาท
จะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น เท่ากับ 100 - 46 บาท = 54 บาท
และถ้าเราเอาอัตรากำไรขั้นต้น มาหักลบกับ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
อย่างเช่น ค่าเช่าที่ ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าทำการตลาดอีก 33 บาท
ก็จะคิดเป็นกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ เท่ากับ 54 -33 บาท = 21 บาท
ทีนี้ลองมาดูแบบแยกธุรกิจ ค้าปลีก กับ ค้าส่ง
- รายได้จากธุรกิจค้าปลีกของเครือ Moshi Moshi ทุก ๆ 100 บาท
เป็นกำไรขั้นต้น 57 บาท
- รายได้จากธุรกิจค้าส่งของเครือ Moshi Moshi ทุก ๆ 100 บาท
เป็นกำไรขั้นต้น 35 บาท
เมื่อเทียบแบบนี้ก็พอจะเห็นเป็นตัวเลขที่สะท้อนธรรมชาติของ 2 ลักษณะร้านแบบนี้
ว่าธุรกิจค้าปลีกมีความสามารถในการทำกำไรต่อการขาย 1 ชิ้น หรือต่อสาขา ได้มากกว่า
ส่วนร้านค้าส่ง แม้ความสามารถในการทำกำไรต่อชิ้นหรือต่อสาขา จะน้อยกว่า เพราะมีการให้ส่วนลดกับลูกค้าเยอะกว่าร้านค้าปลีก
แต่จุดเด่นคือ ลูกค้าจะซื้อแบบเน้น Volume คือซื้อแต่ละครั้ง ทีละมาก ๆ นั่นเอง
References
- คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) 2Q2024
- Moshi Moshi Financial Performance 2Q2024