อธิบายโมเดลธุรกิจ TFMAMA ในมุมโครงสร้างรายได้ ต้นทุน อัตรากำไร

อธิบายโมเดลธุรกิจ TFMAMA ในมุมโครงสร้างรายได้ ต้นทุน อัตรากำไร

3 ก.ค. 2025
- มาม่า มีเจ้าของคือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TFMAMA คือเจ้าของ มาม่า กับ ฟาร์มเฮ้าส์
บริษัทนี้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย โดยผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 2565 รายได้ 27,165 ล้านบาท กำไร 2,786 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 28,524 ล้านบาท กำไร 3,778 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 30,720 ล้านบาท กำไร 4,482 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2568 รายได้ 7,330 ล้านบาท กำไร 981 ล้านบาท
แล้ว TFMAMA ในมุม โครงสร้างรายได้ ต้นทุน อัตรากำไร เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
- สรุปสัดส่วนรายได้ ของ TFMAMA จากงบปี 2567
1. บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป 61.2%
ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น แบรนด์มาม่า 
- ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก 
ได้แก่ แบรนด์ MAMY, PAPA, PAMA, HANDI RICE และ PRESIDENT RICE 
- ผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป
2. เบเกอรี 24.2%
ซึ่งธุรกิจเบเกอรี อยู่ภายใต้ บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ หรือ PB บริษัทย่อยผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังและเบเกอรีแบรนด์ดัง ฟาร์มเฮ้าส์ 
ซึ่ง บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยเหมือนกัน โดยที่ TFMAMA ถือหุ้นอยู่ 52%
3. ขนมปังกรอบ 2.4%
โดยมีผลิตภัณฑ์บิสกิต แครกเกอร์ และเวเฟอร์หลากหลายรสชาติ ภายใต้แบรนด์ บิสชิน และ โฮมมี่
4. น้ำผลไม้ 3.1%
โดยมีทั้งน้ำผลไม้ในรูปแบบขวดและกระป๋อง ภายใต้แบรนด์กรีนเมท, เคลลี่ และไทซัน
5. บรรจุภัณฑ์ 4.0%
สินค้าจำพวก ฟิล์มห่ออย่างอ่อนสำหรับบรรจุอาหาร และถ้วยกระดาษ
6. รายได้จากธุรกิจอื่น ๆ 5.1%
ตัวอย่างเช่น 
- ธุรกิจต้นน้ำ ผลิตวัตถุดิบแป้งสาลี สำหรับทำบะหมี่
- ธุรกิจการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
- ธุรกิจตัวแทน นายหน้า ส่งออก
- ส่วนแบ่งกำไร จากบริษัทที่เข้าไปถือหุ้น หรือร่วมลงทุน
โดยทั้งปี 2567 สัดส่วนรายได้ของ TFMAMA มาจาก
- การขายในประเทศ 75.8%
- การส่งออกขายต่างประเทศ 24.2%
______________________
สรุปโครงสร้างต้นทุน ของ TFMAMA
- ต้นทุนขาย (COGS) หรือก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าของบริษัทโดยตรง 
ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนแป้งสาลี วัตถุดิบต่าง ๆ, ค่าแรงพนักงานฝ่ายผลิต, ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร และโรงงาน
โดยในปี 2567 TFMAMA มีต้นทุนขาย 19,614 ล้านบาท 
เทียบกับรายได้จากการขาย 29,606 ล้านบาท 
จะเห็นว่า ต้นทุนจากการขายกินสัดส่วนค่อนข้างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 66.3% ของรายได้จากการขายทั้งหมด 
และเมื่อนำรายได้จากการขาย ลบด้วยต้นทุนขาย จะได้กำไรขั้นต้น = 9,992 ล้านบาท 
หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น = 33.7%
- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ (SG&A)
หรือก็คือต้นทุนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าโดยตรง
อย่างเช่น ค่าโฆษณาและทำการตลาด ค่าขนส่งสินค้า
โดยปี 2567 TFMAMA มี SG&A = 4,494 ล้านบาท
ซึ่งคิดเป็น 15.2% ของรายได้จากการขายทั้งหมด
ทีนี้ถ้าหักต้นทุนทั้ง 2 ส่วนออกไปจากรายได้ เราจะได้กำไรจากการดำเนินงาน 
คือกำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 
29,606 ล้านบาท - 19,614 ล้านบาท - 4,494 ล้านบาท = 5,498 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 18.6%
อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ
ทั้งปี 2567 รายได้จากการขายสินค้าในเครือของ TFMAMA ทุก ๆ 100 บาท จะสร้างกำไรจากการดำเนินงาน 18.6 บาท
และเมื่อรวมรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจาก รายได้จากการขาย TFMAMA มีรายได้รวมทั้งปี 2567 = 30,720 ล้านบาท
เมื่อหักต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และภาษีแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิ = 4,482 ล้านบาท
หมายความว่า อัตรากำไรสุทธิของ TFMAMA = 14.6%
หรือก็คือ ทุก ๆ รายได้ 100 บาท เป็นกำไรสุทธิ 14.6 บาท นั่นเอง
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ทั้งปี 2567 TFMAMA สามารถผลิตบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปได้เฉลี่ย 575.3 ตันต่อวัน
โดยทั้งปีของ TFMAMA มีจำนวนวันผลิตทั้งหมด 300 วัน
นั่นเท่ากับว่า TFMAMA สามารถผลิตบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปได้ 172,590 ตัน ในปีที่ผ่านมา
Reference
- รายงานประจำปี 2567 บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์
Tag:TFMAMA
© 2025 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.