วิเคราะห์ ซามาเนีย พลาซ่า แลนด์มาร์กทุนจีน ในสมุทรปราการ ทำไมตอนนี้ถึงเงียบเหงา

วิเคราะห์ ซามาเนีย พลาซ่า แลนด์มาร์กทุนจีน ในสมุทรปราการ ทำไมตอนนี้ถึงเงียบเหงา

5 เม.ย. 2024
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในย่านสมุทรปราการ มีศูนย์ค้าปลีก-ค้าส่ง สินค้าจากประเทศจีนขนาดใหญ่ ที่เรียกได้ว่าช่วงเปิดตัวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอยู่พักหนึ่ง
แลนด์มาร์กที่ว่านี้ก็คือ “ซามาเนีย พลาซ่า” 
ที่มีขนาดใหญ่ถึง 220 ไร่ หรือใหญ่กว่าเซ็นทรัลเวิลด์ ถึง 3 เท่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับผู้ที่จะมาลงทุน และชูจุดเด่นในเรื่องราคาสินค้าที่ถูกกว่า 
แต่ดูเหมือนว่าล่าสุด ซามาเนีย พลาซ่า จากแลนด์มาร์กทุนจีน ที่หลายคนเคยกลัวว่าจะมาแย่งส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีก-ค้าส่งของคนไทย ในวันนี้แทบจะกลายเป็นโครงการร้างไปแล้ว..
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ? 
BrandCase ลองวิเคราะห์ให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ซามาเนีย พลาซ่า เล่าสั้น ๆ คือ เป็นโครงการค้าปลีก-ค้าส่ง สินค้าจากประเทศจีน ที่มีทั้งหน้าร้านสำหรับขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ของใช้ในบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน
จุดเด่นอีกอย่างของ ซามาเนีย พลาซ่า คือ นอกจากจะมีหน้าร้านแล้ว ยังมีห้องไลฟ์สดขายของ, คลังสินค้าให้เช่า, ที่พัก, โรงแรม และอาคารสำนักงานบริการ ที่เรียกว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน 
โดยในตอนนั้นหลายคนมองว่าการเข้ามาของ ซามาเนีย พลาซ่า นั้นจะมาตัดวงจร พ่อค้าคนกลางในไทย เพราะเป็นเหมือนกับศูนย์ค้าปลีก-ค้าส่ง สินค้าจากประเทศจีน มาขายให้คนไทยถึงที่โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง 
ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของการทำราคา เทียบกับผู้ประกอบการชาวไทย ที่ต้องนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง 
ถ้าดูจากจุดเด่นของโครงการนี้ก็ดูจะมีโอกาสเติบโตได้สูง 
แต่ทำไมวันนี้กลับเงียบเหงา 
เราลองมาวิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กัน 
- เรื่องทำเล และการเดินทาง
ทำเลของ ซามาเนีย พลาซ่า ตั้งอยู่ถนนบางนา-ตราด ใกล้กับ มหาวิทยาลัย ABAC บางนา 
ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองพอสมควร ทำให้การเดินทางมาซื้อของที่นี่ค่อนข้างลำบาก
และด้วยรถเมล์สายที่ผ่าน ซามาเนีย พลาซ่า มีแค่สายเดียวเท่านั้น คือสาย 365
ทำให้ลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้า เดินทางไม่สะดวก
บวกกับรถแท็กซี่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยผ่านเส้นทางนี้ ทำให้การเดินทางมาซื้อของที่ ซามาเนีย พลาซ่า ยิ่งเพิ่มความยากเข้าไปอีก
อีกประเด็นในเรื่องของทำเลคือ กว่าที่จะเดินทางไปถึง ซามาเนีย พลาซ่า ที่ตั้งอยู่ย่านบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ก็มีศูนย์การค้าต่าง ๆ มากมายมาดักคนในเมืองไว้ก่อนแล้ว 
ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้าเมกาบางนา, เซ็นทรัลบางนา, ตลาดกิ่งแก้ว บางพลี, มาเก็ตวิลเลจ สุวรรณภูมิ เรียกได้ว่าต้องผ่านหลายด่าน ก่อนที่จะถึงซามาเนีย พลาซ่า
ทำให้คนที่ยังไม่เคยไป หรืออยากลองเดินทางไปยังซามาเนีย พลาซ่า ก็อาจจะเปลี่ยนไปศูนย์การค้าเหล่านั้นแทน เพราะมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ทำมากกว่า 
หรือถ้าจะให้เดินทางเพื่อไปซื้อสินค้าที่ซามาเนียอย่างเดียว อาจจะไม่คุ้มกับการเดินทางเท่าไรนัก 
เพราะฉะนั้นคนที่จะเดินทางไปยังซามาเนียส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในละแวก หรือคนในพื้นที่  
- ขาดการโปรโมตอย่างต่อเนื่อง
หลาย ๆ คนในที่นี้อาจไม่เคยได้ยินเรื่อง ซามาเนีย พลาซ่า ด้วยซ้ำ หรือถ้าเคยได้ยินก็รู้แค่ว่าเป็นโครงการทุนจีนยักษ์ใหญ่ ที่โปรโมตหนัก ๆ ในช่วงแรกเพียงเท่านั้น
จากการนำอินฟลูเอนเซอร์และเพจรีวิวดัง ๆ มาโปรโมต เพื่อเรียกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
ให้เข้าไปใช้บริการห้องไลฟ์สดขายสินค้าและโกดังเก็บของ 
รวมทั้งจากเพจ Facebook ของโครงการ ที่ไม่ได้อัปเดตมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยรวมแล้วทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้
- ราคาไม่ต่างกับสินค้าใน E-commerce มาก 
สินค้าบางรายการที่ขายใน ซามาเนีย พลาซ่า มีราคาไม่ต่างกับในแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Shopee หรือ Lazada มากนัก 
ซึ่งถ้ากดซื้อผ่านทางออนไลน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้เลย น่าจะสะดวกมากกว่าที่ต้องเดินทางไปซื้อถึงที่
ซามาเนีย พลาซ่า 
มากกว่านั้นหากลองมาคำนวณค่าเดินทางไป-กลับ ซามาเนีย พลาซ่า อาจมีต้นทุนการเดินทางและขนส่งมากกว่าการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ 
ซึ่งถ้าคิดแบบเร็ว ๆ ในมุมพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อสินค้าไปขาย ต้นทุนค่าเดินทางเหล่านี้ ก็จะถูกคิดเข้าไปในต้นทุนของสินค้า และอาจทำให้ราคาสินค้าต่อชิ้นเพิ่มสูงขึ้นอีก 
- เรื่องภาษีนำเข้า 
จากเดิมที่ ซามาเนีย พลาซ่า เคยมีข้อได้เปรียบเรื่องราคาสินค้า จากผลของการยกเว้น VAT สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท 
แต่ล่าสุดเมื่อ 2 - 3 วันก่อนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้สั่งให้ทางกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการเก็บ VAT จากสินค้านำเข้า ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทแล้ว
โดยจะเริ่มบังคับเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้ข้อได้เปรียบด้านราคา จากผลของภาษีตรงนี้ไม่มีอีกต่อไป..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ซามาเนีย พลาซ่า เป็นโครงการร่วมทุนของ 3 บริษัท คือ บริษัท ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด, บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และบริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด 
โดยทั้ง 3 บริษัทมี นายเฉือก ฟ้ง อ้อ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ซึ่งมีสัญชาติไทยและมีแม่เป็นคนไทย 
พอเป็นแบบนี้จึงทำให้บริษัททั้ง 3 ราย ไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 
สรุปก็คือ นายเฉือก ฟ้ง อ้อ คือนักธุรกิจชื่อจีน สัญชาติไทย ที่เข้าไปถือหุ้นของทั้ง 3 บริษัท จึงทำให้บริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย หรือเป็นบริษัทของคนไทย ทำให้สามารถทำธุรกิจในประเทศไทยได้ทุกอย่าง เหมือนกับคนไทย สัญชาติไทย นั่นเอง..
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.