กรณีศึกษา ดุสิตธานี ทุบโรงแรมเก่าแก่ทิ้ง เพื่อสร้าง Dusit Central Park

กรณีศึกษา ดุสิตธานี ทุบโรงแรมเก่าแก่ทิ้ง เพื่อสร้าง Dusit Central Park

22 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา ดุสิตธานี ทุบโรงแรมเก่าแก่ทิ้ง เพื่อสร้าง Dusit Central Park | BrandCase
รู้ไหมว่า เมื่อ พ.ศ. 2513 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย และก็ถือเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น
โดยโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ คือโรงแรมแห่งแรกของเครือดุสิตธานี
ซึ่งกลุ่มดุสิตธานี ยังเป็น 1 ใน 8 บริษัทแรก ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โรงแรมแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บริเวณหัวมุมแยกสีลม-พระราม 4 ซึ่งเป็นย่านใจกลางเมืองที่ใกล้แหล่งออฟฟิศ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ
อีกทั้งยังไม่ไกลจากสยามสแควร์ ย่านออฟฟิศสีลม และยังอยู่ติดกับสวนลุมพินี ที่มีเนื้อที่กว่า 300 ไร่
แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลายคนจะได้ยินข่าวว่า ดุสิตธานี จะทำการทุบโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เพื่อสร้างโครงการใหม่แทน
โดยโครงการมิกซ์ยูสขนาดยักษ์ ที่ชื่อว่า “Dusit Central Park” ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล และมีมูลค่าการลงทุนกว่า 36,700 ล้านบาท
แล้ว ดุสิตธานี ตัดสินใจทุบโรงแรมเก่าแก่แห่งแรกของเครือทิ้ง เพื่อสร้าง Dusit Central Park ทำไม ?
BrandCase จะวิเคราะห์ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
1.ทำเลที่ตั้ง ที่เพอร์เฟกต์สุด ๆ อยู่แล้ว
ต้องบอกว่า ทำเลของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เดิมนั้น ตั้งอยู่ที่หัวมุมแยก ติดกับสวนลุมพินี ติดกับถนนสีลมและถนนพระราม 4
ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีศักยภาพ ใกล้ย่านออฟฟิศ และยังใกล้กับใจกลางเมืองอย่างสยามสแควร์
จนมาถึงยุคปัจจุบันก็มีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสีลมตั้งอยู่ด้านหน้า หรือถ้าเดินไปอีกเล็กน้อยก็จะสามารถไปเปลี่ยนเส้นทางที่สถานีบีทีเอสศาลาแดงได้อีกด้วย
เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จนทำให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ กลายเป็นสถานที่ที่ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศก็อยากจะมาลองเข้าพัก
ที่สำคัญอีกอย่างคือ พื้นที่ของโครงการนั้น หันเข้าหาทางสวนของลุมพินี ซึ่งต้องบอกว่าเป็นบริเวณที่มีวิวที่สวยงาม
โดยเมื่อมองออกไปจากทางตัวโรงแรม ก็จะเห็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 360 ไร่ ถูกรายล้อมด้วยตึกสูงระฟ้าประดับเรียงรายอยู่โดยรอบ
ก็ยิ่งทำให้คนที่ได้มาเข้าพัก ได้เห็นวิวที่น้อยที่นัก จะได้แบบนี้ในกรุงเทพมหานคร
ซึ่งทางผู้บริหารเครือดุสิตธานี คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ก็ยังได้บอกด้วยว่า
เมื่อโครงการ Dusit Central Park นี้แล้วเสร็จ ในส่วนของตัวอาคารโรงแรมใหม่ ผู้ที่มาเข้าพักจะมีโอกาสได้เห็นวิวสวนลุมพินี ทุกห้อง
ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโรงแรมเดียวในย่านนี้ที่สามารถทำได้
นอกจากนี้ราคาของที่ดินบริเวณสีลม ซึ่งก็เป็นบริเวณที่มีมูลค่าประเมินสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของไทย อยู่ที่ 750,000 – 1,000,000 บาทต่อตารางวา
ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงทำเลทองที่แทบจะไม่สามารถหาได้อีกแล้วในปัจจุบัน
2.ทำโรงแรมอย่างเดียวแบบเมื่อก่อน อาจไม่พออีกต่อไป
เนื่องจากเป็นพื้นที่ผืนที่แทบเรียกได้ว่า หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
ดังนั้น จะปล่อยไว้เป็นเพียงโรงแรมอย่างเดียว อาจจะไม่ได้เป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าไรนัก
เนื่องจากคนที่จะเข้ามาใช้บริการก็อาจจะถูกจำกัดอยู่แค่เพียงลูกค้าของโรงแรมเท่านั้น
ดังนั้นการที่ทางดุสิตธานี ตัดสินใจจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างทางเซ็นทรัลพัฒนา
ซึ่งก็มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ก็ยิ่งสามารถทำให้พื้นที่แห่งนี้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น
โดยโครงการ Dusit Central Park จะประกอบไปด้วย โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า หรือที่รวม ๆ กันแล้วเรียกว่า มิกซ์ยูส
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นที่รวมทั้งหมด 23 ไร่
3.ทุบใหม่ไปแล้ว แต่ก็สร้างใหม่ให้คงเอกลักษณ์เดิมได้
ทางผู้บริหารได้เล่าว่า ถึงแม้จะทุบทิ้งและสร้างใหม่ แต่ทางบริษัทเองก็ยังอยากที่จะคงเอกลักษณ์ของตึกโรงแรมดุสิตธานีเดิมเอาไว้อยู่บ้าง
หากใครที่จำกันได้ ทางอาคารโรงแรมเดิมนั้นจะมีลักษณะเป็นตึกสี่เหลี่ยม ที่มีเสาสีทองตั้งสูงอยู่ด้านบน
ซึ่งตัวตึกโรงแรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็จะถูกออกแบบให้มีความเป็นไทย และมีลักษณะคล้ายเดิม
คือยังมีเสาสีทองตั้งสูงอยู่ด้านบนเหมือนเดิม แต่ออกแบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น
โดยตัวโครงการ Dusit Central Park คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 นี้
โดยจะเปิดในส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก่อน
และจะทยอยเปิดศูนย์การค้าดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และอาคารสำนักงานเซ็นทรัลพาร์ค ออฟฟิศเซสในปี 2567
ส่วนอาคารที่พักอาศัย ดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์คไซด์ กลางปี 2568 จะทยอยเปิดบางส่วนก่อน และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการ ภายในปี 2568 นี้
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ? ที่มาของชื่อดุสิตธานี มาจาก ชื่อของถนนฝั่งพระราม 4
โดยคำว่าดุสิตธานี มีความหมายว่า สวรรค์ชั้น 4 หรือ “ชั้นดุสิต” นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.