กรณีศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ทั่วโลก มีหุ่นยนต์ทำงานอยู่ 3,400,000 ตัว

กรณีศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ทั่วโลก มีหุ่นยนต์ทำงานอยู่ 3,400,000 ตัว

22 พ.ย. 2022
กรณีศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ทั่วโลก มีหุ่นยนต์ทำงานอยู่ 3,400,000 ตัว | BrandCase
สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือ IFR ระบุว่า
ปี 2021 มีหุ่นยนต์ที่กำลังดำเนินการผลิต ในโรงงานอุตสาหกรรม มีมากกว่า 3,477,000 ตัว
ซึ่งตัวเลขนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 15% ทั่วโลก จากปี 2020
นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่า
จำนวนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม
จะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000,000 ตัว ภายในปี 2025
ซึ่งต้องบอกว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
จำนวนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตลอด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
หุ่นยนต์เหล่านี้ มีบทบาทสำคัญอย่างไร ?
ทำไมโรงงานถึงยอมลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก เพื่อใช้หุ่นยนต์มาทำงาน ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่า ระบบการผลิตในโรงงาน ที่นิยมใช้กันจนถึงปัจจุบัน คือการผลิตด้วยระบบสายพานการผลิต ซึ่งเป็นไอเดียของ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้ง Ford Motor
ซึ่งวิธีการผลิตแบบนี้ก็คือ จะให้งานไหลไปตามสายพานการผลิต โดยจะให้พนักงาน ยืนประจำตำแหน่งของตัวเอง แล้วค่อย ๆ ประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ทีละส่วน
และพนักงานก็จะประกอบชิ้นส่วนเดิมซ้ำไปซ้ำมา จนสามารถผลิตรถยนต์ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละวัน
ไอเดียนี้ของ ฟอร์ด เวิร์กมาก เพราะสามารถลดต้นทุนของรถยนต์ต่อ 1 คัน ได้มาก และยังสามารถทำให้ผลิตได้จำนวนมาก ในระยะเวลาเท่าเดิม
เมื่อนวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเรามากขึ้น หุ่นยนต์ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมก็พัฒนามากขึ้น และถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เช่น
-หุ่นยนต์สามารถผลิตชิ้นงานซ้ำ ๆ ได้ทั้งวันทั้งคืน ในอัตราความเร็วที่คาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่มีความเหนื่อยล้า
-หุ่นยนต์มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ในการผลิตงานมากกว่าคน ในบางงาน ทำให้มีสัดส่วนงานเสีย ในระหว่างการผลิตที่น้อยกว่าแรงงานคน
-หุ่นยนต์สมัยนี้ สามารถรายงานผลการผลิตที่ได้ในแต่ละวัน รวมถึงรายงานปัญหาต่าง ๆ ในระหว่างการผลิต ส่งตรงถึงผู้บังคับบัญชาได้โดยตรง
ด้วยเหตุผลนี้เอง โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ถึงอยากลงทุนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ
เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างโรงงาน ที่เลือกใช้หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติเป็นหลัก ก็เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ของ TESLA
ตั้งแต่ปี 2020 TESLA ได้นำระบบอัตโนมัติ มาใช้ในการผลิตรถยนต์ เป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในระบบการผลิต
ตัวอย่างระบบอัตโนมัติที่ใช้ เช่น การขึ้นรูปโครงสร้างรถยนต์ และการเชื่อมประกอบตัวรถยนต์
การทำแบบนี้ ทำให้ในปี 2021 โรงงานผลิตรถยนต์ของ TESLA ที่เมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
สามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง 8,600 คันต่อสัปดาห์ ซึ่งมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
และล่าสุด TESLA สามารถผลิตตัวโครงรถยนต์ 1 คัน โดยใช้เวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย ก็มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต อย่างโรงงาน DELTA (ประเทศไทย)
ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักของ DELTA ก็คือ พาวเวอร์ซัปพลาย ที่มีแผงวงจร PCB เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
ซึ่งแผ่น PCB ก็คือ แผ่นที่เป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว ๆ นั่นเอง โดยเป็นแผ่นที่สร้างด้วยพลาสติกที่มีการฉาบผิวด้วยทองแดงด้านใน
โดย Delta ได้คิดค้นระบบการผลิตอัจฉริยะที่มีชื่อว่า Delta Smart Manufacturing หรือ DSM เพื่อใช้พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต
รวมถึงได้นำหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย ไม่ว่าจะเป็น
-หุ่นยนต์อัตโนมัติ สำหรับใส่อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Capacitor, Resistor และ Relay ลงบนแผงวงจร PWB
-กล้องอัตโนมัติ สำหรับตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ก่อนการบรรจุสินค้าลงกล่อง
นอกจากนี้ Delta ก็ยังได้คิดค้นระบบปฏิบัติการชื่อ MES ขึ้นมา เพื่อรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการผลิต โดยเชื่อมโยงกับไลน์ผลิต และหุ่นยนต์อัตโนมัติ
ซึ่งเป็นแนวทางให้วิศวกร ไปพัฒนาระบบการผลิต ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
ซึ่งนอกจากจะนำหุ่นยนต์ มาใช้ในอุตสาหกรรมหนักแล้ว หุ่นยนต์ ก็ยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเช่นเดียวกัน
อย่างโรงงานผลิตข้าวกล่องของ CP ที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน ก็ใช้เครื่องจักรแบบอัตโนมัติ มาผลิตอาหารทั้งหมด ไล่ตั้งแต่
-การหุงข้าวแบบอัตโนมัติ
-การบรรจุอาหารลงในกล่องแบบอัตโนมัติ
-การแพ็กอาหารแบบอัตโนมัติ
ซึ่งภายในโรงงานดังกล่าว ก็สามารถผลิตอาหารได้หลายอย่าง ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
โดยแทบไม่ต้องใช้แรงงานคนมาผลิตเลย
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะสรุปได้ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น
หุ่นยนต์ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนแรงงานคน ในภาคอุตสาหกรรม
หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่เริ่มมีความสำคัญ ในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น
แต่ยังเริ่มเข้ามามีบทบาท ในธุรกิจต่าง ๆ
ทุกวันนี้ เราก็คงไม่แปลกใจ ที่แบรนด์ต่าง ๆ ได้นำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
-ตู้ทำเครื่องดื่มอัตโนมัติของ “เต่าบิน”
-หุ่นยนต์เสริฟอาหารในร้านอาหารดังอย่าง สุกี้ตี๋น้อย และ YAYOI
-หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัจฉริยะของ Xiaomi
-หลาย ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เริ่มมีการติดตั้งระบบการจ่ายเงินอัตโนมัติ
-Café Amazon ที่เริ่มเปิดร้านกาแฟ โดยใช้บาริสตาเป็นหุ่นยนต์ 100%
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการใช้หุ่นยนต์มาทำงาน ก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน
เช่น กว่าจะได้หุ่นยนต์ที่สามารถใช้งานได้อย่างตอบโจทย์จริง ๆ ก็อาจจะใช้งบประมาณในการลงทุน พัฒนา และสั่งซื้อสูงมาก ๆ
รวมถึงยังมีต้นทุนค่าบำรุงรักษา ที่ต้องตรวจสอบและดูแลเป็นประจำ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อความปลอดภัยในการผลิต
แต่ก็มีหลายบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีงบลงทุนมาก ๆ) ที่วิเคราะห์แล้วว่า คุ้มค่าที่จะลงทุน และประหยัดต้นทุนในระยะยาว มากกว่าการจ้างคนมาทำหน้าที่ในส่วนนั้น ๆ
มันก็เลยทำให้ตอนนี้ มีหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนมีมากกว่า 3,400,000 ล้านตัว ทั่วโลก ในตอนนี้..
References
World Robotics 2022 International Federation of Robotics (IFR)
รายงาน 56-1 บมจ. เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ปี 2021
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.