วิธีสร้าง Branding แบบ Guss Damn Good ขายไอศกรีมปีละ 1,000,000 ถ้วย แบบไม่ต้องแข่งเรื่องราคา

วิธีสร้าง Branding แบบ Guss Damn Good ขายไอศกรีมปีละ 1,000,000 ถ้วย แบบไม่ต้องแข่งเรื่องราคา

1 พ.ย. 2024
Guss Damn Good เป็นแบรนด์ไอศกรีมสัญชาติไทย ขายไอศกรีม 95 บาทต่อสกูป
เห็นราคาประมาณนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าแพง
แต่รู้หรือไม่ว่า ใน 1 วัน Guss Damn Good สามารถขายไอศกรีมได้ 2,000-2,500 ถ้วย
หรืออย่างในช่วงพีก ๆ ยอดขายอาจพุ่งไปถึง 3,000-3,500 ถ้วย
ซึ่งถ้านับรวมเป็น 1 ปี Guss Damn Good ก็น่าจะขายไอศกรีมได้ปีละราว ๆ 1,000,000 ถ้วย บวกลบไม่มากจากนี้
แล้ว Guss Damn Good ขายไอศกรีมอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ เป็นข้อ ๆ
1. ให้ลูกค้าชิมจนกว่าลูกค้าจะชอบ
หนึ่งในวิธีการขายไอศกรีมของ Guss Damn Good คือการให้ลูกค้าชิมไอศกรีมจนกว่าลูกค้าจะชอบ
วิธีการขายแบบนี้ แบรนด์ Guss Damn Good เรียกมันว่า Boston Culture
ซึ่งเกิดจากตอนที่คุณระริน และคุณนที ไปเรียนที่ต่างประเทศ แล้วเห็นว่าร้านไอศกรีมที่โน่นให้ลูกค้าชิมไอศกรีมจนกว่าลูกค้าจะชอบ
โดยที่ลูกค้าสามารถชิมไอศกรีมได้โดยไม่ต้องรู้สึกเกรงใจร้าน ทั้งคู่เลยนำวิธีการขายแบบนี้มาใช้กับร้าน Guss Damn Good ของตัวเองด้วย
2. สร้างเรื่องราวให้กับทุกรสชาติ
หนึ่งในกิมมิกเด่น ๆ ของแบรนด์ Guss Damn Good ที่เรียกได้ว่าเป็นเหมือน DNA ที่อยู่ในไอศกรีมทุกรสชาติคือ Story To Flavor เป็นการสร้างเรื่องราวดี ๆ รอบตัวให้กับไอศกรีมทุกรสชาติ
โดย Guss Damn Good จะไม่ได้มองว่าไอศกรีมเป็นแค่ขนมหวาน แต่คือเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์และอารมณ์ที่เฉพาะตัว
ซึ่งแบรนด์จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวผ่านรสชาติ การตั้งชื่อแต่ละรสชาติที่สะท้อนและเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึก
ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ไอศกรีมไม่ได้เป็นแค่ของหวาน แต่เป็นตัวแทนความทรงจำ
ดังนั้น Process ในการออกรสชาติของ Guss Damn Good จะเป็นการเปลี่ยน Story (เรื่องราว) ให้เป็น Feeling (ความรู้สึกและอารมณ์) และเปลี่ยน Feeling ให้เป็น Flavour (รสชาติ)
ในส่วนของการตั้งชื่อแบรนด์ก็จะจับเอา Feeling (ความรู้สึกและอารมณ์) ของรสชาตินั้น ๆ มาสรุปและขมวดออกมาเป็นชื่อไอศกรีมอีกที
ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกผูกพันและทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ได้ซื้อแค่ไอศกรีม แต่กำลังซื้อประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
3. ทำให้สินค้า สื่อสารกับคนได้
นอกจากรสชาติแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำตลาดของ Guss Damn Good จะเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกและความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้บริโภค
ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย การออกแบบแพ็กเกจจิง หรือการตั้งชื่อที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น การเขียนชื่อรสชาติบนแพ็กเกจจิงด้วยลายมือ และใช้รูปพื้นหลังที่สื่อถึง Feeling (ความรู้สึกและอารมณ์) ของรสชาตินั้น ๆ
หรืออย่างรสชาติไหนที่มีความตื่นเต้นหรืออะไรที่มีความท้าทาย ก็จะเลือกใช้ลายเส้นที่ไม่นุ่มนวลและเลือกใช้สีฉูดฉาดหรือคู่สีที่มีความตัดกัน
วิธีนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกที่ไอศกรีมแต่ละรสต้องการสื่อได้ตั้งแต่แรกเห็น
และการสร้างอารมณ์ร่วมในรูปแบบนี้ทำให้ Guss Damn Good ไม่ได้เป็นเพียงไอศกรีม แต่กลายเป็นถ้วยไอศกรีมที่สะท้อนอารมณ์และเรื่องราว
ซึ่งช่วยให้แบรนด์เป็นที่จดจำและถูกพูดถึง ต่อยอดในโซเชียลมีเดียได้ไม่ยาก
4. มีวิธีดิไซน์และจัดรสชาติไอศกรีมให้ลูกค้าอร่อย
หากจะขายของกิน แน่นอนว่าสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องนึกถึงคือเรื่องของ “รสชาติ”
และแบรนด์ Guss Damn Good เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ต่างกับการสร้างแบรนด์เลย
โดยคุณระรินได้แชร์หนึ่งเรื่องที่ลูกค้าหลายคนอาจไม่รู้หรือไม่ได้สังเกตคือ การจัดเรียงรสชาติของไอศกรีมในถ้วย ซึ่งทางแบรนด์จะมีรสชาติต้องห้าม
เช่น รสชาติบางรสชาติต้องวางไว้ข้างบนเสมอ หรือการวางรสชาติไล่ระดับให้ลูกค้ากินก่อนหลังแล้วอร่อยทุกรส
ยกตัวอย่างเช่น สมมติลูกค้าซื้อไอศกรีม 3 รสชาติ คือ รสช็อกโกแลต (Here's Your Damn Good Chocolate) รสมินต์ช็อก (SECRET ADMIRER) และรส Don't Give Up#18
การจัดเรียงของร้านคือ รส Don't Give Up#18 จะต้องวางไว้ข้างบนเสมอ เพราะถ้าลูกค้ากินไอศกรีมรสชาติอื่นก่อนแล้วค่อยกินรส Don't Give Up#18 จะทำให้รสชาติไอศกรีมของ Don't Give Up#18 ไม่อร่อย
เพราะรสชาติอื่นอาจจะมีความเข้มข้นมากกว่า มีส่วนผสมที่หลากหลายกว่า รส Don't Give Up#18 ที่มีส่วนผสมแค่นมสดกับครีมฝรั่งเศส
ซึ่งทุกองค์ประกอบที่แบรนด์สร้างมา ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ ชื่อไอศกรีม การออกแบบแพ็กเกจจิง หรือการดิไซน์รสชาติไอศกรีมให้ลูกค้า ล้วนเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวเดียวกันกลายเป็นคอนเซปต์และ DNA ที่ชัดเจนของแบรนด์ Guss Damn Good
สุดท้ายแล้ว แทนที่ Guss Damn Good จะมองว่าตัวเองขายไอศกรีม แต่ Guss Damn Good กลับมองว่าตัวเองกำลังขาย ประสบการณ์และความรู้สึก
ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์แตกต่าง
จนสามารถขายไอศกรีมได้ปีละราว ๆ 1,000,000 ถ้วย ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.