สรุปโมเดลรายได้ 1,400 ล้าน ของเถ้าแก่น้อย จากงบการเงิน ไตรมาสล่าสุด แบบเข้าใจง่าย ๆ
17 ส.ค. 2024
บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง เจ้าของสาหร่ายเถ้าแก่น้อย รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 2 ปี 2567
- รายได้ 1,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- กำไร 268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +37.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ซึ่งโมเดลรายได้ 1,416 ล้านบาท ของเถ้าแก่น้อย แบ่งเป็น
-รายได้จากต่างประเทศ 919.3 ล้านบาท (65% ของรายได้รวม)
-รายได้จากในประเทศไทย 496.7 ล้านบาท (35% ของรายได้รวม)
จะเห็นว่าในไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ผ่านมา
รายได้จากการขาย เกือบ 2 ใน 3 ของเถ้าแก่น้อย เป็นรายได้จากต่างประเทศ
และบริษัทก็บอกว่า รายได้จากการขายของบริษัท 22% มาจาก ประเทศจีน
ส่วนอีก 34% มาจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา, ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV
โดยสำหรับงบไตรมาสล่าสุด บริษัทไม่ได้แยกรายได้จากการขาย ตามรายสินค้าให้
แต่ถ้าลองดูให้เห็นภาพคร่าว ๆ จากข้อมูลทั้งปี 2566
รายได้จากการขายของ เถ้าแก่น้อย มาจาก
-สาหร่ายย่าง 43%
-สาหร่ายทอด 40%
-สาหร่ายอบ 8%
-สาหร่ายเทมปุระ 6%
-ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 3%
โดยสำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 เรื่องสำคัญ ๆ ที่บริษัทแจ้งในรายงานก็มีอย่างเช่น
1. ยอดขายในประเทศเติบโตมากขึ้น
ทั้งจากการออกสินค้ารสชาติใหม่, การจัดบูทกิจกรรม ตามสถานที่ต่าง ๆ ช่วงสงกรานต์, การ Live สด และการโปรโมตสินค้า รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
2. ยอดขายในต่างประเทศเติบโตมากขึ้น แต่กำลังซื้อจีนอ่อนแอลง
ทั้งจากการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์และมีสินค้าเถ้าแก่น้อยปรากฏในซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง Wedding Impossible ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากใน ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย
ยอดขายในจีนลดลง 10.2% จากเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตตามคาด และกำลังซื้อที่อ่อนแอลง
อย่างไรก็ตาม จีน ก็ยังเป็นตลาดหลักของ เถ้าแก่น้อย
3. มีการเพิ่มรายได้ของสินค้าที่มีกำไรดี (portfolio mix)
โดยมุ่งเน้นให้เติบโตมากกว่าสินค้าอื่น รวมถึงการ ปรับราคาขายบางส่วนของบางประเทศเมื่อปลายปี 2566
4. ได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ซึ่งช่วยให้รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน
5. กลยุทธ์ GO FIRM
เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในทุกฝ่ายงาน ทั้งในโรงงานและออฟฟิศ ทำให้บริษัทสามารถรักษา สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อยอดขายให้คงที่
6. ต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์บางชนิดมีราคาลดลง
เนื่องจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่เป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขาย และการบริหารการจัดซื้อ
และทั้งหมดนี้ก็คือ โมเดลรายได้ และภาพรวมธุรกิจของ เถ้าแก่น้อย ในช่วงที่ผ่านมา..
Reference
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ของบริษัท
Tag:เถ้าแก่น้อย