ทำไม ทำงานหนัก ทำงานเร็ว แต่ธุรกิจก็ยังไม่โต

ทำไม ทำงานหนัก ทำงานเร็ว แต่ธุรกิจก็ยังไม่โต

10 พ.ค. 2021
ทำไม ทำงานหนัก ทำงานเร็ว แต่ธุรกิจก็ยังไม่โต | THE BRIEFCASE
ยุคนี้ต้องทำงานเร็ว ทำงานหนัก ธุรกิจจึงจะอยู่รอด
แต่ทำไมวิธีการทำงานเช่นนี้ กลับทำให้หลายธุรกิจยังวนเวียนอยู่ในจุดเดิม ๆ ไม่เติบโตไปข้างหน้า..
The Red Queen Effect คือแนวคิดการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ซึ่งมาจากบทประพันธ์ Through the Looking-Glass ของ Lewis Carroll
ในตอนที่ อลิซ และ ราชินีแดง (The Red Queen) พยายามวิ่งอย่างสุดแรงเกิด
แต่ก็พบว่า ตนเองยังคงอยู่ที่เดิม..
เพราะโลกที่อลิซอยู่ขณะนั้น ก็หมุนเร็วพอ ๆ กับความเร็วในการวิ่งของอลิซ
ดังนั้น วิธีเดียวที่อลิซจะวิ่งหนีจากสถานที่แห่งนั้นได้
ก็คือ การวิ่งให้เร็วขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าจากเดิม
เรื่องราวลักษณะนี้ ไม่ได้ต่างไปจากการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน..
เมื่อธุรกิจมีแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง ก็มักจะมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด
แต่ทันทีที่สินค้านั้นได้รับความนิยม..
ไม่นานก็จะมีคู่แข่งลอกเลียนแบบ หรือพัฒนาสินค้าที่ดีกว่าออกสู่ตลาด
ธุรกิจจึงต้องกลับมาทำงานหนัก ทำงานเร็ว เพื่อพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
การแข่งขันที่รุนแรง หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้เอง
ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องทำงานเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้น
สุดท้ายก็เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด มากกว่าที่จะสร้างการเติบโตไปข้างหน้า
เพราะเพียงแค่รักษาส่วนแบ่งการตลาดเดิม ๆ หรือการรักษาฐานลูกค้าเดิม ๆ ก็นับว่ายากแล้วในยุคนี้
แล้วธุรกิจยุคนี้ จะหลุดออกจากวงจรนี้ ได้อย่างไร ?
หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องการทำงานหนัก หรือการทำงานเร็ว
แต่มันอยู่ที่ว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ ช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้จริงหรือไม่..
ลองมาดูตัวอย่างแนวคิดธุรกิจ ที่จะช่วยให้ธุรกิจหลุดออกจากวงจร The Red Queen Effect นี้กัน
- เปลี่ยนจาก “การพัฒนาผลิตภัณฑ์” มาเป็น “การสร้างระบบนิเวศธุรกิจ”
หนึ่งธุรกิจที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างดี ก็คือ Apple
Apple สร้างระบบนิเวศธุรกิจ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค
โดยการเชื่อมโยงการใช้งานระหว่างผลิตภัณฑ์เข้าด้วยกัน
ทำให้เมื่อผู้ใช้งานลองใช้สินค้าหนึ่งแล้ว ก็อยากใช้งานสินค้าอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ
ตลาดผลิตภัณฑ์ของ Apple จึงถูกขยายใหญ่ขึ้นตลอดเวลา
สิ่งที่ Apple ทำ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์
แต่ยังต้องพัฒนาระบบปฏิบัติการเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกันของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย
นั่นก็หมายความว่า ยิ่ง Apple ทำงานเร็วและทำงานหนักเท่าไร
ธุรกิจ Apple ก็จะยิ่งมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้มากขึ้น ตามไปด้วย
- เปลี่ยนจาก “การตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค” มาเป็น “การสร้างพฤติกรรมผู้บริโภค”
หนึ่งธุรกิจที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้อย่างดี ก็คือ Airbnb
โดยปกติแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับการพักค้างแรมในรูปแบบของโรงแรม
Airbnb คือ ธุรกิจที่กล้าฉีกพฤติกรรมการเข้าพักโรงแรมเดิม ๆ
ด้วยการเสนอโมเดลเป็นตัวกลางให้คนมีที่พัก กับคนต้องการที่พัก ได้มาเจอกัน
เมื่อผู้คนเห็นด้วยกับการพักค้างแรม ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของโรงแรม เพียงอย่างเดียว
Airbnb จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ ที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท
และยังมีเครือข่ายที่พักอยู่กว่า 5.6 ล้านแห่งทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การทำธุรกิจที่จะหลุดออกจากวงจร The Red Queen Effect ไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่อย่างน้อย.. วันนี้คงได้แนวคิดการทำธุรกิจ ที่จะกลับมาพิจารณาธุรกิจตนเองดูสิว่า
- ธุรกิจของเรากำลังโตด้วย “ฐานลูกค้าใหม่” แล้วหรือยัง ?
- ธุรกิจของเรากำลังสร้างความแข็งแกร่งด้วย “ระบบนิเวศทางธุรกิจ” อยู่หรือเปล่า ?
- ธุรกิจของเราสร้าง “ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน” ได้หรือไม่ ?
เพราะหากคำตอบในวันนี้ ยังคงว่างเปล่า..
นั่นก็เท่ากับว่า ธุรกิจของเรา ยังคงต้องทำงานหนัก ทำงานเร็ว เพื่ออยู่ในวังวนเดิม ๆ แห่งความอยู่รอด
แต่โอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ก็ยังคงอยู่ห่างไกล เท่าเดิม..
References
-https://medium.com/the-nora/the-red-queen-effect-brand-business-the-biological-system-b0b82568305d
-https://fs.blog/2012/10/the-red-queen-effect/
-https://www.slideshare.net/BurcuDurmuolu/red-queen-effect-and-blue-ocean-strategy
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.