ทำไม กรุงเทพฯ ถึงมีศูนย์การค้า เต็มเมือง

ทำไม กรุงเทพฯ ถึงมีศูนย์การค้า เต็มเมือง

10 ก.ค. 2023
ทำไม กรุงเทพฯ ถึงมีศูนย์การค้า เต็มเมือง | BrandCase
ถ้าถามคนกรุงเทพฯ ว่าวันเสาร์-อาทิตย์ ชอบไปไหนกัน หลายคนน่าจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ศูนย์การค้า” ที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ
โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองบริเวณสยามและชิดลม ที่มีศูนย์การค้าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน หรือเซ็นทรัลเวิลด์
แล้วทำไม กรุงเทพฯ ถึงเต็มไปด้วยศูนย์การค้า มากมายขนาดนี้ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1.ศูนย์การค้าคือศูนย์รวมสินค้าและบริการหลายอย่าง
ในอดีต เวลาคนไทยอยากซื้อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็จะต้องเดินทางไปซื้อสินค้านั้นในย่านการค้าต่าง ๆ เช่น ซื้อผ้าที่ย่านพาหุรัด
แต่เมื่อสังคมเมืองเริ่มพัฒนาขึ้น พร้อม ๆ กับการขยายตัวของชนชั้นกลาง ก็เกิดการพัฒนาศูนย์การค้าขึ้นมา
โดยศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย คือ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2525
ซึ่งหลักคิดของศูนย์การค้า ก็คือ การรวบรวมสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการทั้งหมด มาไว้ในสถานที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร หรือโรงหนัง
ดังนั้นศูนย์การค้า จึงกลายมาเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการพักผ่อนของคนเมือง และยิ่งคนย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากเท่าไร ก็จะต้องมีการสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่ เพื่อรองรับจำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
2.พื้นที่ใจกลางเมืองมีมูลค่าสูง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าที่ดินในกรุงเทพฯ ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางเมือง
ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ประกอบการ ที่มีที่ดินสักผืนในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เราก็คงต้องคิดทำธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรให้เราได้มากกว่ามูลค่าที่ดิน จึงจะคุ้มทุน
ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการหลายคน จึงเลือกที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการใช้งานทั้งเพื่อการอยู่อาศัย และทำธุรกิจอื่น ๆ ภายในพื้นที่เดียวกัน หรือโครงการ Mixed-Use
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โครงการเหล่านี้ก็จะประกอบไปด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และคอนโดมิเนียม ในพื้นที่เดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ยังเป็นที่ตั้งของโรงแรม 5 ดาว อย่างโรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ อีกด้วย
ซึ่งการมีโรงแรม 5 ดาวบนศูนย์การค้า ก็จะยิ่งทำให้มีลูกค้าหมุนเวียนมาใช้บริการศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น และเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนได้ในที่สุด
นอกจากเซ็นทรัล เอ็มบาสซีแล้ว โครงการ Mixed-Use อื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ก็อย่างเช่น
-โครงการสามย่านมิตรทาวน์
-โครงการไอคอนสยาม
-โครงการวัน แบงค็อก
3.กรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา มากที่สุดในไทย
รู้หรือไม่ว่า ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวกรุงเทพฯ มากถึง 9.8 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีประมาณ 5.5 ล้านคนเสียอีก
การเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาตินี่เอง ทำให้การสร้างศูนย์การค้าคู่กับโรงแรมประสบความสำเร็จมากในกรุงเทพฯ
เพราะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ชอบใช้เวลาว่างในการเดินศูนย์การค้า แต่ชาวต่างชาติก็นิยมมาเดินเที่ยว ซื้อของฝากกันในศูนย์การค้าอีกด้วย
4.การสร้างศูนย์การค้าใกล้ ๆ กัน เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อรักษาฐานลูกค้า ในทำเลที่มีศักยภาพสูง
กลยุทธ์นี้เรียกว่า Cannibalization ซึ่งเป็นการที่กิจการเพิ่มสินค้าหรือบริการใหม่มา เพื่อเพิ่มยอดขาย ถึงแม้จะกระทบกับสินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิมของตนเอง
เพราะมองว่า การแย่งส่วนแบ่งกันเองภายในเครือ ก็ยังดีกว่าให้ส่วนแบ่งดังกล่าว ตกไปอยู่ในมือของคู่แข่ง
จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่เราจะได้เห็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของไทย 3 ราย คือ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ ต่างยึดทำเลทองไว้เป็นฐานที่มั่นของตัวเอง
-กลุ่มเซ็นทรัล อยู่บริเวณชิดลม-เพลินจิต ซึ่งมีเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
-กลุ่มเดอะมอลล์ อยู่บริเวณสุขุมวิท 39 เป็นที่ตั้งของเอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และในอนาคตจะเปิดให้บริการเอ็มสเฟียร์
-กลุ่มสยามพิวรรธน์ อยู่บริเวณสยาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน
โดยที่ดินที่มีศักยภาพเหล่านี้ล้วนมีจำกัด หากปล่อยให้คู่แข่งเข้ามา เราก็อาจสูญเสียลูกค้าไปบางส่วนได้
อีกข้อที่น่าสนใจ คือเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อากาศข้างนอกบ้านนอกอาคารจะร้อนแทบทั้งปี
พอเป็นแบบนี้ หลายคนจะชอบพักผ่อนหย่อนใจในที่ร่ม มากกว่าจะเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง
ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมากี่ห้างหรือกี่ศูนย์การค้า ก็มีคนไปเดินเยอะอยู่ดี
จนทำให้ทั่วกรุงเทพมหานคร มีห้างและศูนย์การค้าเต็มไปหมด
จากเหตุผลทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่กรุงเทพฯ จะมีศูนย์การค้ากระจุกตัวอยู่ทั่วเมืองแบบนี้
จนทำให้ศูนย์การค้า น่าจะกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของคนกรุงเทพฯ หลาย ๆ คน ไปเรียบร้อยแล้ว..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.