อธิบายโมเดลธุรกิจ PKN บริษัทผลิต ถังพ็อปคอร์น-แก้วลายอานิเมะ ที่กำลังจะ IPO

อธิบายโมเดลธุรกิจ PKN บริษัทผลิต ถังพ็อปคอร์น-แก้วลายอานิเมะ ที่กำลังจะ IPO

23 ต.ค. 2024
- ถังพ็อปคอร์นลาย One Piece ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
- การ์ดมาสค์ไรเดอร์จีโอ ของขนมแคมปัส
- ของใช้ในครัวเรือนลายอานิเมะ ที่ขายตามห้างบิ๊กซี
- แก้วน้ำลาย Transformers ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
- โคมไฟ Black Panther ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
เบื้องหลังไอเทมเหล่านี้ คือ บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PKN หนึ่งในผู้ผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ให้กับอีกหลาย ๆ ธุรกิจ
โมเดลธุรกิจของ PKN เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ 
PKN หรือ บริษัท พีเคเอ็น อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 
โดยคุณปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ และคุณเกตุญาณินท์ จีรพัฒน์ชนากร
จุดเริ่มต้นของบริษัทเกิดจากการที่ผู้ก่อตั้งเห็นว่า ตลาดสินค้าพรีเมียมและสินค้าตัวละครลิขสิทธิ์ มีโอกาสในการเติบโต 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคาแรกเตอร์จากอานิเมะญี่ปุ่น ตัวการ์ตูน โลโก และแอนิเมชันยอดนิยม 
เช่น One Piece, Transformers หรือ Gundam
โดยกลยุทธ์หลักของบริษัท PKN คือการนำเอาตัวละครเหล่านี้มาออกแบบลงบนสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าพรีเมียมต่าง ๆ 
เช่น ถังพ็อปคอร์น, แก้วน้ำ, กระเป๋า, พวงกุญแจ และตุ๊กตา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์และเพิ่มยอดขาย 
ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มสินค้าของสะสมที่มีดิไซน์และคอลเลกชันใหม่ ๆ ที่เป็นกระแสและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักสะสมสินค้าเหล่านี้
ปัจจุบัน PKN มีรายได้หลัก ๆ มาจาก 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 
- รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) 
โดยบริษัทจะให้บริการผลิตสินค้าลิขสิทธิ์แบบครบวงจร โดยจะเริ่มตั้งแต่แนะนำลิขสิทธิ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงผลิตและจัดส่ง 
- รายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ารายย่อย (B2C) 
โดยกลุ่มนี้จะเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ไลฟ์สไตล์ ที่จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “IGNITE” ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกของบริษัท ที่เอาไว้ขายสินค้าลิขสิทธิ์และออกแบบสินค้า
โดยใช้ลิขสิทธิ์ของคาแรกเตอร์ยอดนิยม เช่น One Piece, Transformers และ Gundam
- รายได้จากสินค้าและบริการอื่น 
ซึ่งรายได้ในส่วนนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 
1. กลุ่มสินค้าพรีเมียม สินค้าที่ระลึกที่ไม่ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ของสมนาคุณ หรือสินค้าไลฟ์สไตล์  
เช่น ร่ม, ชาม, กระเป๋า 
2. สินค้าอื่น ๆ ที่จัดหาตามความต้องการของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ โดยจะจัดหาและจำหน่ายสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ โดยสินค้าที่จัดหาจะมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น แก้วน้ำ, พวงกุญแจ ที่เป็นลายลิขสิทธิ์เฉพาะตัว 
โดยในปี 2566 บริษัทมีรายได้ 252 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท 
ซึ่งสัดส่วนรายได้แบ่งออกเป็น
- รายได้สินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) 68.3 %
- รายได้จากสินค้าและบริการอื่น 21.1 %
- รายได้สินค้าลิขสิทธิ์จากลูกค้ารายย่อย (B2C) 10.6 %
จะเห็นว่ารายได้เกินครึ่งหนึ่งของบริษัทมาจากลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) 
และบริษัทบอกว่า ลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) มีลูกค้ารายใหญ่หลัก ๆ อยู่ 2 เจ้าด้วยกัน แต่ไม่ได้บอกชื่อ คือ
1. ผู้ประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 29 ปี และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2. ผู้ประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 140 ปี และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งหมดนี้ คือโมเดลธุรกิจของ PKN บริษัทที่มีรายได้จากการผลิตสินค้าลิขสิทธิ์และสินค้าไลฟ์สไตล์ให้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ ในไทย รวมถึงขายในแบรนด์ตัวเองก็มี
ซึ่งตอนนี้ PKN ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่น Filing เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้น mai ในไทย
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.