สรุปโมเดลรายได้ 12,800 ล้าน และโครงสร้างต้นทุน MR. D.I.Y. จากงบการเงิน แบบเข้าใจง่าย ๆ

สรุปโมเดลรายได้ 12,800 ล้าน และโครงสร้างต้นทุน MR. D.I.Y. จากงบการเงิน แบบเข้าใจง่าย ๆ

12 ก.ย. 2024
ล่าสุด มีข่าวมาว่าร้านขายสินค้าจิปาถะ MR. D.I.Y. กำลัง IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์
โดยไอเดียร้าน MR. D.I.Y. นั้น เริ่มต้นมาจากประเทศมาเลเซีย
คุณ Tan Yu Yeh ผู้ก่อตั้ง เขาตั้งใจอยากจะทำร้านที่เป็น One Stop Service ที่เป็นศูนย์รวมของจิปาถะ และของใช้ในบ้าน 
ซึ่งในตอนนั้น ที่มาเลเซียยังไม่มีร้านแบบนี้เยอะมากนัก
โมเดลรายได้ 12,800 ล้าน และโครงสร้างต้นทุน MR. D.I.Y. เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
โดยร้าน MR. D.I.Y. ร้านแรก เปิดให้บริการในปี 2548 ในรูปแบบ Stand Alone
เมื่อผลตอบรับดี จึงเลือกขยายสาขาในศูนย์การค้า
ตั้งแต่ที่ MR. D.I.Y. มาเปิดภายในศูนย์การค้า ร้าน MR. D.I.Y. ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนขยายสาขาไปได้หลายห้าง หลายเมืองในมาเลเซีย
เพราะมีกลุ่มลูกค้าขาจรของมาเลเซีย ที่ไปเดินห้างและแวะซื้อของที่ร้าน MR. D.I.Y. 
ไม่ต่างจากห้าง HomePro ของไทยในช่วงนั้น ที่ธุรกิจเติบโตมาก จนขยายสาขาออกไปได้หลายจังหวัด
และเมื่อธุรกิจในมาเลเซียเริ่มเติบโตเต็มที่ คุณ Tan Yu Yeh 
ก็เน้นขยายสาขาออกไปต่างประเทศบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า “ประเทศไทย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
โดย MR. D.I.Y. เข้ามาเปิดที่สาขา ซีคอนบางแค เป็นสาขาแรกในประเทศไทย
ตั้งแต่ที่ MR. D.I.Y. มาเปิดสาขาแรกที่ประเทศไทย 
แน่นอนว่าผลตอบรับจากลูกค้านั้นดีเกินคาด ไม่ต่างจากประเทศมาเลเซียเลย
หากเราดูจำนวนสาขาของ MR. D.I.Y. เราจะเห็นว่า
ปี 2559 MR. D.I.Y. เริ่มเปิดสาขาแรก ที่ซีคอนบางแค
จากนั้น MR. D.I.Y. ก็ขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 5 ปี
ปี 2564 MR. D.I.Y. มี 399 สาขา
ปี 2565 MR. D.I.Y. มี 557 สาขา
ปี 2566 MR. D.I.Y. มี 741 สาขา
และ ณ เดือนกันยายน ปี 2567 MR. D.I.Y. มี 846 สาขา 
จะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ร้าน MR. D.I.Y. สามารถขยายสาขาได้ปีละมากกว่า 100 สาขา เลยทีเดียว
แล้วอะไร ที่ทำให้ร้าน MR. D.I.Y. สามารถขยายสาขาออกไปได้ไกลขนาดนี้
1. เป็น One Stop Service ครอบคลุมของใช้จำเป็นทุกอย่าง ในร้านเดียว
ซึ่งสินค้าของร้าน MR. D.I.Y. ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าที่เล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่มาก
แล้วสินค้าเล็ก ๆ นั้นก็อย่างเช่น
- เครื่องมือช่าง อย่าง ค้อน ไขควง ประแจ เทปกาว เครื่องมือวัดระดับ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าง ปลั๊กไฟ สายไฟ หูฟัง แบตเตอรี่ โคมไฟ 
- ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก ชั้นวางของ ผ้าม่าน ตะกร้าใส่ของ 
- อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ อย่าง ที่หุ้มเบาะรถยนต์ น้ำหอมติดรถยนต์ ผ้าเช็ดรถ 
อุปกรณ์ทำความสะอาดรถยนต์ 
- อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน อย่าง ปากกา ดินสอ กระดาษ สมุดบันทึก แฟ้ม 
- อุปกรณ์ห้องน้ำ อย่าง ก๊อกน้ำ สายฉีดก้น
จะเห็นได้ว่า สินค้าทุก ๆ อย่างที่กล่าวมา เป็นของใช้จำเป็นที่ทุกคนต้องซื้อติดบ้านไว้
2. สินค้ามีราคาถูก เข้าถึงง่าย
ด้วยสินค้าที่มีราคาเป็นมิตรกับทุกคน ทำให้ MR. D.I.Y. สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับแมสได้
แถมยังสามารถขยายสาขาร้าน ไปตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างเซ็นทรัล หรือซีคอนสแควร์ ไปจนถึงห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่าง Lotus's และ Big C 
นอกจากห้างแล้ว ด้วยสินค้าที่มีราถูก ก็ทำให้ MR. D.I.Y. สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตามชุมชน หรือตามตลาดท้องถิ่นได้ด้วย
ทำให้ MR. D.I.Y. เติบโตอย่างรวดเร็ว ในต่างจังหวัด และต่างอำเภอ
จากจุดเด่นทั้ง 2 ข้อ ก็ทำให้เราสามารถมองคู่แข่งของ MR. D.I.Y. ได้เป็น 2 มุมหลัก ๆ ด้วยกัน
- มุมแรก ก็คือคู่แข่งในมุมของการเป็นร้านค้า ที่ขายสินค้าในราคาถูก ภายในห้างเหมือนกัน
เช่น ร้าน Daiso, Miniso และ Komonoya
- มุมที่ 2 ก็คือคู่แข่งในมุมของการเป็นห้างขายวัสดุก่อสร้าง และข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่ครอบคลุมทุกอย่าง 
เช่น HomePro, Global House และ ไทวัสดุ 
ทีนี้ เรามาลองพิจารณาถึง คู่แข่งของร้าน MR. D.I.Y. ไปทีละมุมกัน
- โดยเริ่มจากมุมแรก ซึ่งก็คือคู่แข่งอย่าง ร้าน Daiso, Miniso และ Komonoya 
ร้าน MR. D.I.Y. มีพื้นที่ของร้าน ที่ใกล้เคียงกับร้านเหล่านี้
โดยจะอยู่ที่ประมาณ 600-1,000 ตารางเมตร และสินค้าบางอย่างของ MR. D.I.Y. จะมีเรตราคาพอ ๆ กับร้านเหล่านี้
แต่ความแตกต่างก็คือ ร้าน MR. D.I.Y. จะเน้นของใช้ในบ้าน และสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ และคุ้มค่าคุ้มราคา 
ในขณะที่ร้านคู่แข่งอย่าง ร้าน Daiso, Miniso และ Komonoya จะเน้นไปที่สินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเน้นขายสินค้าคุณภาพ ในราคาที่ไม่แพงสำหรับคนทั่วไป
- ทีนี้ลองมาดูมุมที่ 2 โดยมีคู่แข่งอย่าง ห้าง HomePro, Global House และไทวัสดุ
ก็ต้องบอกว่า ประเภทของสินค้าที่ MR. D.I.Y. นำมาขายนั้นมีความหลากหลาย โดยมีสินค้ากว่า 15,000 รายการ
ซึ่งก็จะเน้นไปที่สินค้าจำเป็น และของจิปาถะภายในบ้าน คล้าย ๆ กับห้างเหล่านี้  
แต่ MR. D.I.Y. จะแตกต่างตรงที่มีโมเดลร้านที่เล็กกว่า และขายสินค้าชิ้นเล็ก โดยไม่เน้นสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ เหมือนกับ HomePro หรือไทวัสดุ
จากการวิเคราะห์คู่แข่งทั้ง 2 มุมนี้ เราก็พอจะเห็นจุดเด่นของร้าน MR. D.I.Y. ที่ไม่เหมือนคู่แข่งเจ้าอื่น ไม่ว่าจะเป็น
- การเน้นขายสินค้าเบ็ดเตล็ด และสินค้าจิปาถะ ในราคาถูก และทุกคนซื้อได้
- การเน้นเป็นร้านค้าเล็ก ๆ และเน้นขายสินค้าขนาดเล็ก แต่ครอบคลุมการใช้งานหลายรายการ
ด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้ ทำให้ MR. D.I.Y. สามารถขยายสาขาร้านค้าได้คล่องตัวกว่าร้านคู่แข่ง และสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม 
ตั้งแต่กลุ่มลูกค้าที่อยู่ตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ตามห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงการเปิดเป็นร้าน Stand Alone ตามตลาดนัดในต่างอำเภอ 
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนร้านของ MR. D.I.Y. นั้น สามารถขยายสาขาได้จนมี 846 สาขา ภายใน 8 ปี
ทีนี้ เราลองไปดูรายได้ และกำไรของ MR. D.I.Y. กันบ้าง โดย
ปี 2564 มีรายได้ 7,182 ล้านบาท กำไร 836 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 9,941 ล้านบาท กำไร 1,051 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 12,832 ล้านบาท กำไร 1,381 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 มีรายได้ 7,567 ล้านบาท กำไร 794 ล้านบาท
โดยรายได้ของ MR. D.I.Y.  ทุก ๆ 100 บาท มาจาก 
- รายได้จากสาขานอกศูนย์การค้า 57 บาท
- รายได้จากสาขาในศูนย์การค้า 42 บาท
- รายได้จากออนไลน์ และอื่น ๆ 1 บาท
ทีนี้ เราลองไปดูโครงสร้างรายได้ ต้นทุน และกำไร ของร้าน MR. D.I.Y. จากงบการเงินปี 2566
ทุก ๆ ยอดขาย 100 บาท
หักต้นทุนขาย อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายวัตถุดิบ ค่าขนส่งสินค้า 52 บาท
เหลือเป็นกำไรขั้นต้น 48 บาท
และกำไรขั้นต้น 48 บาท 
หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งก็คือ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร หรือ SG&A
เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ และค่าทำการตลาดอีก 32 บาท
เหลือเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 16 บาท
และหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างดอกเบี้ย และภาษีเงินได้แล้ว
จะเหลือกำไร 11 บาท ..
References
-ข้อมูลสรุปของการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน บมจ.มิสเตอร์. ดี.ไอ.วาย. โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) 
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.