อธิบาย โมเดลธุรกิจ TFMAMA เจ้าของแบรนด์ มาม่า ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย

อธิบาย โมเดลธุรกิจ TFMAMA เจ้าของแบรนด์ มาม่า ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย

8 มิ.ย. 2024
ทุกคนรู้หรือไม่ ? คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “มาม่า” มานานกว่า 51 ปีแล้ว
และทุกวันนี้ มาม่า ยังครองส่วนแบ่งการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย 48.8%
โดยบริษัทเจ้าของ มาม่า ชื่อว่า บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TFMAMA ซึ่งบริษัทนี้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย
ปีที่แล้ว TFMAMA มีรายได้ 28,524 ล้านบาท กำไร 3,778 ล้านบาท
รายได้จากการขายของบริษัทนี้ หลัก ๆ แล้ว เกินครึ่ง แน่นอนว่ามาจากบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป
แต่ก็ยังมีรายได้จากธุรกิจประเภทอื่น ๆ รวมถึงแบรนด์ย่อยกว่า 10 แบรนด์ ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน
โมเดลธุรกิจ TFMAMA เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ผลประกอบการช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 2564 มีรายได้ 25,096 ล้านบาท กำไร 3,575 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 27,165 ล้านบาท กำไร 2,786 ล้านบาท
ปี 2566 มีรายได้ 28,524 ล้านบาท กำไร 3,778 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้จากการขาย ปี 2566 มาจาก
1. บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป 59%
ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
-ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก หรือก็คือแบรนด์มาม่า
-ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก ได้แก่ แบรนด์ MAMY, PAPA, PAMA, HANDI RICE และ PRESIDENT RICE 
-ผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป
2. เบเกอรี 26.3%
เป็นธุรกิจภายใต้ บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ประกอบธุรกิจผลิต
และจำหน่ายขนมปังและเบเกอรีทั้งค้าส่ง และค้าปลีก 
ยกตัวอย่างเช่น ขนมปังแบรนด์ “ฟาร์มเฮาส์” ที่เราคุ้นเคยกันดี
ซึ่ง บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยเหมือนกัน โดยที่ TFMAMA ถือหุ้นอยู่ 51.99%
3. ขนมปังกรอบ 2.3%
ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าบิสชิน และโฮมมี่
4. น้ำผลไม้ 3.5%
ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้ากรีนเมท, เคลลี่ และไทซัน
5. บรรจุภัณฑ์ 4.4%
ได้แก่ สินค้าจำพวก ฟิล์มห่ออย่างอ่อนสำหรับบรรจุอาหาร และถ้วยกระดาษ
6. รายได้จากการขายอื่น ๆ 1.1%
ได้แก่ ผลิตวัตถุดิบแป้งสาลี สำหรับบะหมี่, ธุรกิจลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
และธุรกิจตัวแทน นายหน้า ส่งออก
7. รายได้อื่น ๆ 3%
8. ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 0.4%
จะเห็นได้ว่ารายได้จากการขายเกือบ 60% หรือประมาณ 16,894 ล้านบาท
มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป
ซึ่งภาพรวมของตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2566 มีการเติบโตขึ้นคิดเป็น 11.7 % โดยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,045 ล้านบาท
และแบรนด์ มาม่า ยังคงเป็นผู้นำอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 48.8%
และรู้หรือไม่ ? มาม่า ไม่ได้ครองอันดับ 1 แค่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงตลาดเส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปด้วย โดยรักษาส่วนแบ่งการตลาดโดยรวม 61.7%
ปัจจุบันบริษัทมีการขยายช่องทางการขายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 
เช่น มีการเปิดร้าน “มาม่าสเตชั่น” ที่อาร์ซีเอ 
ซึ่งเป็นร้านที่นำเอามาม่า มาสร้างเป็นเมนูหลากหลายสไตล์
ยกตัวอย่างเช่น มาม่าฮอตโคเรียนผัดแห้ง, มาม่าปลาหมึกผัดไข่เค็มแห้ง, มาม่าหม้อไฟเกาหลี
ซึ่งบริษัทบอกว่า เป้าหมายการสร้าง มาม่าสเตชั่น ไม่ได้หวังยอดขายหรือกำไรเป็นหลัก
แต่เน้นการสร้าง Awareness หรือการรับรู้ให้แบรนด์ มาม่า เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มากขึ้นอีกเรื่อย ๆ
Reference
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.