สรุปโมเดลธุรกิจ MBK บริษัทที่มีธุรกิจในมือ เยอะกว่าที่หลายคนคิด

สรุปโมเดลธุรกิจ MBK บริษัทที่มีธุรกิจในมือ เยอะกว่าที่หลายคนคิด

28 พ.ค. 2024
หลายคนคงจะรู้จัก ศูนย์การค้า MBK Center หรือชื่อเดิม คือ ศูนย์การค้ามาบุญครอง เซ็นเตอร์
ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นใจกลางย่านธุรกิจและการค้าสำคัญของกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า MBK ไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจศูนย์การค้าเท่านั้น
แต่ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีกมาก เช่น ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน
แถมยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนกว่า 48% ในกลุ่มศูนย์การค้าสยามพิวรรธน์
เจ้าของศูนย์การค้าสุดหรูหลายแห่งในประเทศไทย
- สยามพารากอน
- สยามเซ็นเตอร์
- สยามดิสคัฟเวอรี่
- ไอคอนสยาม
- สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต 
แล้วธุรกิจของ MBK มีอะไรบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
แต่เดิม MBK มีชื่อว่า “มาบุญครอง” ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2517 โดย คุณศิริชัย บูลกุล
ซึ่งการตั้งชื่อบริษัทมาจาก ชื่อ คุณพ่อมา และคุณแม่บุญครอง ของคุณศิริชัย
เดิมธุรกิจของมาบุญครองเป็นธุรกิจโรงสีข้าว และจำหน่ายข้าวสารเป็นหลัก
รวมถึงให้บริการพัก เก็บ อบ และขนถ่ายผลิตผลทางการเกษตร
ส่วนศูนย์การค้ามาบุญครองที่หลายคนรู้จักกันนั้นมีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2526
โดยมาบุญครองได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 27 ไร่ บริเวณสี่แยกปทุมวัน
จากนั้นจึงได้เริ่มทำการก่อสร้างโครงการ โดยในตอนแรกใช้ชื่อโครงการว่า “จุฬาคอมเพล็กซ์”
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นศูนย์การค้า “มาบุญครอง เซ็นเตอร์” และเปิดให้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2528
ซึ่งในตอนนั้นถือว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ต่อมา มาบุญครองก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2539
และในปี พ.ศ. 2543 ศูนย์การค้ามาบุญครอง เซ็นเตอร์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น MBK Center
ปัจจุบันศูนย์การค้า MBK Center ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 23 ไร่ ประกอบไปด้วย
อาคารศูนย์การค้า 8 ชั้น อาคารสำนักงาน 20 ชั้น และโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส 29 ชั้น
แต่ธุรกิจศูนย์การค้า MBK Center ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจหนึ่งเดียวของ MBK
เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา MBK ยังขยายธุรกิจไปยังธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายอย่าง 
ผ่านการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ใน 8 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจศูนย์การค้า 
ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้าชั้นนำทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์การค้า MBK Center
- ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค
- ศูนย์การค้าพาราไดซ์ เพลส
- ศูนย์การค้าเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9
- ศูนย์การค้าเดอะไนน์เซ็นเตอร์ ติวานนท์
นอกจากนี้ MBK ยังได้เข้าไปถือหุ้นในสยามพิวรรธน์อีก 48.71%
ทำให้ MBK ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากสยามพิวรรธน์ด้วย 
ซึ่งศูนย์การค้าของเครือสยามพิวรรธน์ ได้แก่
- สยามพารากอน
- สยามเซ็นเตอร์
- สยามดิสคัฟเวอรี่
- ไอคอนสยาม
- สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต 
2. ธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว 
ตัวอย่างธุรกิจโรงแรมในเครือ เช่น
- โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส และดิ โอลิมปิค คลับ เป็นธุรกิจฟิตเนสตั้งอยู่ในโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส
- โรงแรมลยานะ รีสอร์ท แอนด์ สปา
- โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีซ รีสอร์ท
- โรงแรมทินิดี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท
3. ธุรกิจกอล์ฟ
ประกอบไปด้วยสนามกอล์ฟทั้งหมด 4 แห่ง
โดยอยู่ในจังหวัดปทุมธานี 2 แห่ง และจังหวัดภูเก็ตอีก 2 แห่ง
4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อขาย, ธุรกิจรับบริหารทรัพย์สิน, ธุรกิจรับบริหารอาคารและชุมชน และธุรกิจให้คำปรึกษาและประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
5. ธุรกิจอาหาร
- ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงภายใต้ตราสินค้า “มาบุญครอง” และ “มาบุญครองพลัส”
- ธุรกิจ OEM หรือการรับจ้างผลิตข้าวสารบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ของลูกค้า
- ธุรกิจศูนย์อาหารภายใต้ชื่อ “ฟู้ด เลเจ้นด์ส บาย เอ็มบีเค” (Food Legends by MBK) อีก 3 แห่ง
โดยอยู่ที่ศูนย์การค้า MBK Center, ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
และโครงการสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ
6. ธุรกิจการเงิน
ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อย โดยเป็นสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่, สินเชื่อรถจักรยานยนต์มือสอง,
จำนำเล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ และบริการเช่าซื้อเครื่องมือแพทย์
นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างประเทศ
และสินเชื่อระยะสั้นก่อนเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว (Bridging Loan) ด้วย
7. ธุรกิจการประมูล
ดำเนินธุรกิจศูนย์ประมูลรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสองครบวงจรในชื่อ “Apple Auto Auction”
โดยเป็นผู้นำเทคโนโลยีการประมูลผ่านระบบออนไลน์มาใช้แห่งแรกของประเทศไทย
8. ศูนย์สนับสนุนองค์กร (ศสอ.)
เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ในเครือ MBK ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจจากบริษัทย่อย 5 บริษัท คือ
- ให้บริการข้อมูล รับข้อร้องเรียนหรือแนะนำจากลูกค้า
- ให้บริการนำเข้า ซื้อ ขาย อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ภายใน MBK Group
- ให้คำปรึกษาและบริการด้านการตลาด บริการด้านบริหารข้อมูลลูกค้า
- ให้บริการด้านการสื่อสาร และบริหารแบรนด์
- ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทีนี้เราลองมาดูโครงสร้างรายได้ของ MBK กัน ว่ามาจากทางไหนกันบ้าง
ในปี พ.ศ. 2566 MBK มีรายได้ทั้งหมด 12,100 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น
- รายได้จากค่าเช่า อย่างศูนย์การค้าและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมด 2,735 ล้านบาท
(คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของรายได้รวม)
- รายได้จากค่าบริการ อย่างธุรกิจกอล์ฟและการประมูล ทั้งหมด 1,157 ล้านบาท
(คิดเป็นสัดส่วน 9.6% ของรายได้รวม)
- รายได้จากการขาย อย่างการจำหน่ายข้าวสาร ธุรกิจศูนย์อาหาร และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทั้งหมด 2,510 ล้านบาท 
(คิดเป็นสัดส่วน 20.7% ของรายได้รวม)
- รายได้จากกิจการโรงแรม ทั้งหมด 1,259 ล้านบาท 
(คิดเป็นสัดส่วน 10.4% ของรายได้รวม)
- รายได้จากธุรกิจการเงิน อย่างการให้กู้ยืมเงินแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งหมด 2,353 ล้านบาท 
(คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของรายได้รวม)
- รายได้อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ทั้งหมด 2,086 ล้านบาท 
(คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของรายได้รวม)
จากรายได้รวมทั้งหมดกว่า 12,100 ล้านบาท จะเห็นว่า MBK มีสัดส่วนรายได้จากศูนย์การค้าเพียง
22.6% ของรายได้รวมเท่านั้น 
และมีรายได้อื่น ๆ อีก 77.4% มาจากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ
ซึ่งใครอ่านถึงตรงนี้ ก็จะเห็นแล้วว่า MBK มีธุรกิจอยู่ในมือเยอะมาก ๆ แบบที่หลายคนคิดไม่ถึง..
References
- รายงานประจำปี 2566 ของบริษัทเอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
--------------------------
Sponsored by JCB Thailand
#JCBสุขทุกสไตล์ได้ทุกวัน
พบกับส่วนลดและสิทธิพิเศษสำหรับทุกไลฟ์สไตล์
ทั้ง กิน เที่ยว ช็อป ให้คุณมีความสุขได้ทุก ๆ วัน
เพิ่มเติมที่ >> https://bit.ly/JCBJSOPRO
สมัครบัตรเครดิต JCB ได้ที่
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.