สรุปเรื่อง INCOTERMS เรื่องสำคัญ ของคนทำธุรกิจ ค้าขายระหว่างประเทศ

สรุปเรื่อง INCOTERMS เรื่องสำคัญ ของคนทำธุรกิจ ค้าขายระหว่างประเทศ

2 ธ.ค. 2023
สรุปเรื่อง INCOTERMS เรื่องสำคัญ ของคนทำธุรกิจ ค้าขายระหว่างประเทศ | BrandCase
หากเราต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
เราก็ต้องดีลกับผู้ขาย ซึ่งก็อาจจะเป็นร้านค้าส่ง หรือโรงงานผลิตที่อยู่ในต่างประเทศ
เมื่อเราดีลเรื่องชนิดสินค้า สเป็ก หรือปริมาณ ที่ต้องการสั่งได้แล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ซื้อ กับผู้ขายจะต้องคุยรายละเอียดกันให้ลงตัว ก็คือ
“ใคร จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของค่าใช้จ่าย ระหว่างการขนส่งสินค้า ?”
ตั้งแต่ค่าขนส่งสินค้า ค่าประกันสินค้า ไปจนถึงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ
เรื่องพวกนี้ เป็นรายละเอียดของคำว่า “INCOTERMS”
ซึ่ง BrandCase จะสรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
สมมติว่าเรานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศจีน เข้ามาในประเทศไทย ก็จะมีขั้นตอนต่าง ๆ คือ
สินค้าจะถูกส่งจากโรงงาน หรือร้านค้าส่งในประเทศจีน
ไปยังจุดส่งออกสินค้า คือ ท่าเรือหรือสนามบิน ของประเทศจีนนั่นเองสินค้านั้น จะผ่านด่านศุลกากรของประเทศจีน ก่อนที่สินค้าจะถูกส่งออกมาในประเทศไทยสินค้านั้น จะถูกขนส่งผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น ทางเรือ หรือทางเครื่องบินเมื่อสินค้ามาถึงฝั่งท่าเรือหรือสนามบิน แล้วผ่านด่านศุลกากรของประเทศไทยสินค้านั้นจะถูกจัดส่งจากท่าเรือหรือสนามบิน ไปยังผู้สั่งซื้อสินค้า
ซึ่งในระหว่างการขนส่งสินค้า ก็จะมีเรื่องประกันการขนส่ง
และภาษีศุลกากร ซึ่งก็คือ ภาษีนำเข้าและภาษีส่งออก
คำถามคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในระหว่างที่สินค้า กำลังเดินทางมาจนถึงประเทศไทย ?
สำหรับเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องดีลกัน เพื่อทำสัญญาเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า
โดยสัญญาดังกล่าว เราจะเรียกว่า INCOTERMS
INCOTERMS ย่อมาจาก International Commercial Terms คือเงื่อนไขข้อตกลง ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ ระหว่างประเทศ
ซึ่งตามปกติแล้ว ข้อกำหนดของ INCOTERMS มีอยู่ทั้งหมด 11 รูปแบบด้วยกัน
ซึ่งถ้าเราอยากทราบรายละเอียดของ INCOTERMS ทั้งหมด 11 รูปแบบ สามารถกดลิงก์ด้านล่างเข้าไปดูได้เลย
https://fastship.co/incoterms-for-e-commerce/
แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ทาง BrandCase ขอยกตัวอย่าง INCOTERMS ที่ใช้กันบ่อย ๆ ทั้งหมด 4 รูปแบบ
ผ่านตัวอย่าง การสั่ง “รองเท้า” ผ่านร้านค้าส่งจากประเทศจีน มาขายในไทย
สั่งซื้อแบบ Ex Works หรือ EXW
กรณีแบบนี้ ผู้ขายจากจีน จะขายรองเท้าให้เพียงอย่างเดียว
และภาระของผู้ขายจะจบที่หน้าร้าน คือจะไม่รับผิดชอบขนส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ
ซึ่งการสั่งซื้อแบบนี้ ผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าดำเนินการต่าง ๆ อย่างค่าขนส่ง ค่าประกัน และภาษีนำเข้าเองทั้งหมด
สั่งซื้อแบบ Free on Board หรือ FOB
กรณีแบบนี้ ผู้ขายจากจีนจะขายรองเท้า และจะดำเนินการส่งสินค้าให้ถึงท่าเรือ
โดยความรับผิดชอบของผู้ขาย จะจบที่ท่าเรือของประเทศต้นทางอย่างประเทศจีน
ส่วนผู้ซื้อจะรับผิดชอบส่วนที่เหลือ ตั้งแต่ค่าขนส่งรองเท้าทางเรือ จากประเทศจีน
และภาษีนำเข้ามายังจุดหมายปลายทาง ของประเทศไทย
สั่งซื้อแบบ Cost, Insurance & Freight หรือ CIF
กรณีแบบนี้ ผู้ขายจากจีนจะช่วยดูแลการส่งสินค้าให้แบบครบวงจร จนกระทั่งสินค้านั้นถึงท่าเรือของประเทศไทย
การสั่งซื้อแบบนี้ ผู้ขายจะช่วยรับประกันตัวสินค้า ระหว่างการขนส่งข้ามประเทศด้วย
สั่งซื้อแบบ Delivered Duty Paid หรือ DDP
กรณีแบบนี้ จะสะดวกสบายสำหรับผู้ซื้อสินค้ามากที่สุด
เพราะผู้ซื้อจะรับผิดชอบเพียงแค่สั่งซื้อสินค้า และจะรอให้รองเท้ามาส่งถึงหน้าร้านเพียงอย่างเดียว
การสั่งซื้อแบบนี้ ภาระต่าง ๆ จะตกอยู่ที่ผู้ขายสินค้า
คือจะรับผิดชอบค่าขนส่ง ค่าประกันสินค้า ไปจนถึงเรื่องภาษีนำเข้าและส่งออกทั้งหมดแบบครบวงจร
ทีนี้ก็พอจะเห็นเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า หรือ INCOTERMS หลัก ๆ ทั้ง 4 แบบแล้ว
ถ้าถามว่า พ่อค้าแม่ค้าควรจะเลือกวิธีการนำเข้าสินค้า ในรูปแบบไหนดีนั้น ?
เรื่องหลัก ๆ ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ จะทำอย่างไรให้สามารถนำเข้าสินค้ามาได้ โดยมีต้นทุนถูกที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น
หากเราสามารถดีลกับบริษัทขนส่งจากต้นทางได้เอง ในราคาที่ถูกกว่า และคุ้มค่ากับต้นทุนสินค้าที่เราสั่ง
เราก็อาจใช้วิธีการสั่งซื้อแบบ EXW คือเราจะเป็นคนรับผิดชอบค่าขนส่งทั้งหมดถ้าหากเรา ไม่สามารถดีลกับบริษัทขนส่งได้เอง เราก็อาจใช้วิธีการจัดซื้อแบบ DDP
คือเพียงแค่เราสั่งสินค้าจากต่างประเทศมา และรอให้สินค้ามาส่งถึงที่เลย แต่วิธีการจัดซื้อแบบนี้ ก็อาจมีต้นทุนค่าสินค้าที่สูง
นอกจากนี้ เราสามารถใช้บริการผ่านบริษัทชิปปิง
ที่ให้บริการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งทางรถ ทางเรือ และทางอากาศได้ ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่อยากนำเข้าสินค้ามาขาย
ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่า เวลาเรานำเข้าสินค้า จะถูกคิดภาษีศุลกากรอย่างไร ?
ก็ต้องบอกว่า เวลานำเข้าสินค้าจากประเทศไหนก็ตาม ภาษีศุลกากร ก็จะมีทั้ง 2 ขา คือ
“ภาษีส่งออกจากประเทศต้นทาง” และ “ภาษีนำเข้า”
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานำเข้าสินค้าจากจีน ภาษีศุลกากรก็จะมี
ภาษีส่งออกสินค้าจากประเทศจีนภาษีนำเข้าสินค้ามายังประเทศไทย
สำหรับภาษีส่งออก หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศจีนและไทย จะไม่นิยมนำมาคิดกับสินค้าขั้นสุดท้ายที่ถูกส่งออกทั่ว ๆ ไป
แต่ภาษีส่งออก จะถูกคิดกับสินค้า ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
อย่างเช่น แร่ธาตุ พันธุ์ไม้ หรือของป่าหายากต่าง ๆ
ส่วนภาษีนำเข้า แทบทุกประเทศ จะต้องคิดภาษีศุลกากรเวลานำเข้าสินค้าทุกครั้ง
อย่างเช่น ถ้าเรานำเข้าสินค้าจากจีนมายังประเทศไทย ก็จะต้องคิดภาษีศุลกากรของประเทศไทยด้วย
ซึ่งไม่ว่าเราจะสั่งสินค้า ด้วย INCOTERMS ในรูปแบบไหนก็ตาม
ฐานภาษีที่จะนำมาคิดเป็นภาษีนำเข้า ก็จะคิดจาก
ราคาสินค้า + ค่าประกันสินค้า + ค่าขนส่งสินค้าถึงท่าเรือหรือสนามบิน ซึ่งก็คือราคา CIF นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสั่งซื้อสินค้าแบบ FOB คือเราเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งสินค้าทางเรือเอง
เราก็จะต้องปรับราคาสินค้าที่เราสั่งซื้อมา ให้เป็นรูปแบบ CIF
คือจะต้องมีราคาสินค้า + ค่าประกันสินค้า + ค่าขนส่งสินค้าถึงท่าเรือหรือสนามบิน
โดยอัตราภาษีนำเข้าก็มีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับสินค้าชนิดนั้น ๆ (โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5-30%)
ซึ่งเราจะเรียกอัตราภาษีนำเข้านี้ว่า “พิกัดภาษีศุลกากร”
ทีนี้จะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ผ่านการสั่งรองเท้าจากจีนมาขาย
โดยสมมติว่าเรานำเข้ารองเท้ามาขายสัก 1,000 คู่ ในราคาคู่ละ 250 บาท และมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คือ
ค่าขนส่งทางรถ 10,000 บาทค่าประกันสินค้า 10,000 บาทค่าระวางเรือ 30,000 บาท
เราก็พอจะคิดราคา CIF ได้เท่ากับ
(1,000 คู่ x 250 บาท) + 10,000 บาท + 10,000 บาท + 30,000 บาท ซึ่งจะเท่ากับ 300,000 บาท
แล้วสมมติว่ารองเท้าที่นำเข้าจากจีน ถูกคิดพิกัดภาษีศุลกากร หรือก็คือภาษีนำเข้าในอัตรา 10%
ภาษีนำเข้า ก็จะเท่ากับ 300,000 x 10% เท่ากับ 30,000 บาท
เมื่อเราคิดภาษีนำเข้าได้แล้ว เราก็จะเอาราคา CIF ไปรวมกับภาษีนำเข้า
แล้วนำยอดทั้งหมด ไปคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายไทย คือ VAT = 7%
เมื่อรวมกันแล้ว เราก็พอจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น (300,000 บาท + 30,000 บาท) x 7%
เท่ากับว่า ถ้าเรานำเข้ารองเท้ามาขาย เราก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 23,100 บาท
สรุปก็คือว่า จากรองเท้าที่สั่งมาทั้งหมด 1,000 คู่ ในราคาคู่ละ 250 บาท
ค่ารองเท้าทั้งหมดที่เราต้องจ่ายคือ 250,000 บาท
แต่พอลองคิดค่าขนส่ง ค่าประกันสินค้า และภาษีต่าง ๆ แล้ว
เราต้องจ่ายเงินรวมทั้งหมดเท่ากับ 300,000 บาท + 30,000 บาท + 23,100 บาท
ซึ่งจะเท่ากับ 353,100 บาท นั่นเอง
ด้วยราคาต้นทุนเท่านี้ ทำให้ต้นทุนราคารองเท้า จากเดิมอยู่ที่ 250 บาท กลายมาเป็น 353 บาทต่อคู่
แต่ก็ต้องบอกว่า สำหรับคู่ค้าบางประเทศ ก็ยังมีข้อตกลงหนึ่งที่ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้า
ซึ่งข้อตกลงนั้นเราเรียกว่า FTA หรือที่เรียกว่า Free Trade Agreement
ซึ่งข้อตกลง FTA ก็เป็นข้อตกลงระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะขอยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับสินค้าบางชนิด
ซึ่งก็ต้องบอกว่าปัจจุบัน ไทยกับจีนก็มีข้อตกลง FTA ที่ยกเว้นภาษีนำเข้าของผัก ผลไม้ และอาหารทะเลต่าง ๆ
แล้วถ้าสมมติว่า สินค้าที่เรานำเข้าจากจีน อย่างรองเท้า เป็นสินค้าที่ไทยกับจีนมี FTA ระหว่างกัน
เราจะมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าเท่าไร ?
เราก็จะคิดจากค่าใช้จ่าย ที่เรานำเข้าสินค้า บวกรวมกับค่าขนส่ง ค่าประกันต่าง ๆ
ที่ยอด 300,000 บาท มาคิดบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ได้เลย
ซึ่งก็จะได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 300,000 บาท x VAT 7% เท่ากับ 21,000 บาท
นั่นเท่ากับว่า เราต้องจ่ายเงินรวมทั้งหมดเท่ากับ 300,000 บาท + 21,000 บาท
ซึ่งจะเท่ากับ 321,000 บาท
ทำให้ต้นทุนราคานำเข้ารองเท้าทั้งหมด 1,000 คู่ อยู่ที่ 321 บาทต่อคู่ นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ของการคำนวณต้นทุนราคาสินค้า ว่าเราต้องคำนึงถึง ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
และควรจะใช้วิธีการนำเข้า หรือ INCOTERMS ในรูปแบบไหนดี ที่จะทำให้เราประหยัดต้นทุนค่าขนส่งได้มากที่สุด
ซึ่งถ้าใครหลายคน ที่สนใจอยากเริ่มนำเข้าสินค้าต่าง ๆ มาขาย
บทความนี้ ก็คงจะเป็นประโยชน์ สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจหลาย ๆ คนได้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.