คุยกับ คุณระเฑียร ศรีมงคล จากนายแพทย์ สู่เส้นทาง CEO 12 ปี บัตรเครดิต KTC

คุยกับ คุณระเฑียร ศรีมงคล จากนายแพทย์ สู่เส้นทาง CEO 12 ปี บัตรเครดิต KTC

17 ส.ค. 2023
คุยกับ คุณระเฑียร ศรีมงคล จากนายแพทย์ สู่เส้นทาง CEO 12 ปี บัตรเครดิต KTC | BrandCase
คุณระเฑียร ศรีมงคล คือผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้าของไทย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และกรรมการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC
ในแง่ของการบริหารองค์กรอย่าง KTC
ถ้าเราไปดูผลประกอบการตั้งแต่ปี 2555-2565 ที่คุณระเฑียรได้เข้ามาบริหาร ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
ปี 2555 มีรายได้ 12,622 ล้านบาท กำไร 255 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 23,231 ล้านบาท กำไร 7,079 ล้านบาท
โดยในปี 2566 นี้ คุณระเฑียร กำลังจะวางมือ และก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหารแล้ว
ทาง BrandCase มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณระเฑียร ศรีมงคล ทั้งในแง่มุมของธุรกิจ การเงิน การตลาด การบริหาร
และการทำงานจากอดีตนายแพทย์ สู่เส้นทาง 12 ปี ในฐานะหัวเรือใหญ่ ของ KTC
ซึ่ง BrandCase จะสรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
แบ็กกราวนด์ของ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC คือส่วนที่แยกตัวออกมาจากบริษัทแม่ซึ่งก็คือ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ตั้งแต่ปี 2539 หรือเมื่อ 27 ปีก่อน
ต่อมาได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2545 นับว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่แยกตัวจากธนาคาร มาทำธุรกิจบัตรเครดิตโดยเฉพาะ
ส่วนแบ็กกราวนด์ของ คุณระเฑียร ศรีมงคล จบการศึกษาจากหลากหลายสาขา
เช่น คณะแพทยศาสตร์ (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชีวิตวัยทำงานของคุณระเฑียร เริ่มจากเป็นหมอรักษาโรคทั่วไป
และในเวลาต่อมา ได้เข้าสู่วงการธนาคาร โดยการทำงานให้กับธนาคารหลายธนาคาร
จนก้าวขึ้นมาเป็น CEO ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ในปี 2555
ในช่วงแรกที่คุณระเฑียร เข้ามาบริหาร KTC มีธุรกิจหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง ก็คือ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อบุคคล
ส่วนล่าสุด ปี 2563 เพิ่งมีธุรกิจใหม่เข้ามาเป็นขาที่ 3 นั่นคือ ธุรกิจ KTC พี่เบิ้ม ที่เป็นบริการสินเชื่อรถแลกเงิน
-เคล็ดลับในการบริหาร KTC ให้เติบโตอย่างโดดเด่น และแตกต่างจากที่อื่น ?
คุณระเฑียร เล่าว่า การบริหาร KTC ให้เติบโตขึ้นไปได้ตามสไตล์ของเขา สิ่งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้ KTC ยืนอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่มากเกินไป
โดย KTC ถูกแยกมาจากธนาคารกรุงไทย ก็เพื่อรองรับธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อ ถ้าจะดิ้นไปในธุรกิจด้านการเงินอื่น ๆ ก็คงจะทำได้ลำบาก
คุณระเฑียร บอกเพียงสั้น ๆ ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องสู้ ไม่มีชอยซ์ที่จะให้ไปทำธุรกิจอื่น”
ในด้านการบริหารการเงิน คุณระเฑียรจะเน้นพยายามทำกำไรให้เติบโตขึ้นทุกปี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์สูงสุด
โดยหัวใจการบริหารในช่วงที่ผ่านมาก็คือ
1.ไม่มีการเพิ่มทุนให้กับบริษัท
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่คุณระเฑียรได้บริหาร ตั้งแต่ปี 2555 แทบไม่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ KTC เลย
2.ไม่เน้นนำเงินไปลงทุน หรือนำไปเผากับโปรเจกต์หลาย ๆ อย่าง ที่เกินความจำเป็น เพราะธุรกิจของ KTC ผ่านพ้นช่วงที่เป็นบริษัทสตาร์ตอัปมาแล้ว
และถ้าหากเราไปดูผลประกอบการของ KTC ตั้งแต่ปี 2555-2565 ที่คุณระเฑียรได้เข้ามาบริหาร
ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ปี 2555 มีรายได้ 12,622 ล้านบาท กำไร 255 ล้านบาท
ปี 2565 มีรายได้ 23,231 ล้านบาท กำไร 7,079 ล้านบาท
ซึ่งผลประกอบการตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2565 นั้นเติบโตขึ้นทุกปี
ยกเว้นในปี 2563 ที่เกิดโรคระบาด เนื่องจากในปีนั้น ทาง KTC ได้ตั้งสำรองหนี้สูญเยอะกว่าปกติ
ปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่าธุรกิจธนาคาร เลือกที่จะมองหาแหล่งรายได้ จากธุรกิจอื่น ๆ ร่วมด้วย
ซึ่งธุรกิจบัตรเครดิต ก็เรียกได้ว่าเป็นพระเอก ของธุรกิจธนาคารหลาย ๆ ธนาคาร
จึงปฏิเสธไม่ได้ ว่า KTC ได้เป็นกรณีศึกษา ของโมเดลธุรกิจบัตรเครดิต ให้กับธนาคารหลาย ๆ ธนาคาร
อย่างเช่น ทางด้าน SCBX ที่ได้ Spin-off แยกตัวบริษัทบัตรเครดิตของตัวเองในชื่อ CardX ออกมาเหมือนกัน
โดยปัจจุบัน คุณระเฑียรได้วาง Key Driver หรือปัจจัยขับเคลื่อน 3 อย่าง ที่จะทำให้ KTC เติบโตต่อไปได้ในอนาคต คือ
-เทคโนโลยี
-บุคลากร
-Data
ซึ่งคุณระเฑียรคิดว่า เรื่องคนสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็น KTC หรือที่ไหนก็ตาม
เพราะคนเป็นผู้สร้าง คีย์หลักในการทำงานของบริษัท ซึ่งหมายถึงว่า คนทำให้เกิดกระบวนการทำงาน หรือ Process
ซึ่ง Process ที่ดีจะต้องผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำแบบนี้
โดยที่เราสามารถทำงานตาม Process เดิมซ้ำ ๆ ได้
นอกจากนี้ เมื่อเรามีองค์ความรู้มากขึ้น เราก็ต้องปรับปรุงและพัฒนา Process นั้นให้ดีขึ้น แล้วสร้างมาตรฐานการทำงานใหม่อยู่ตลอดเวลา
ทีนี้พอ Process ดีแล้ว ก็ค่อยนำเอาเทคโนโลยี ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้
ซึ่งเทคโนโลยีที่ดีนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมามองที่ว่า Process หรือกระบวนการทำงานที่เราทำอยู่นั้น ดีจริง ๆ หรือไม่
ส่วนเรื่อง Data เราก็ทราบกันดีว่า เป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน
ซึ่งแน่นอนว่า การใช้บัตรเครดิตของลูกค้า ก็พอจะคาดเดาได้
ว่าลูกค้ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน ลูกค้าชอบทำงานอดิเรกอะไร หรือลูกค้าป่วยเป็นโรคอะไรอยู่
ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้าไปรูดบัตร ซื้อยาโรคเบาหวาน
ทาง KTC เองก็จะเก็บข้อมูลนี้ แล้วมองหาโรงพยาบาลพาร์ตเนอร์กับ KTC ที่เก่งทางด้านการรักษาโรคเบาหวาน มาเสนอเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าได้
จากตรงนี้ ทำให้จากเดิมที่แค่ไปซื้อยาเฉย ๆ ก็ให้ไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลได้เลย
คุณระเฑียรได้พูดอีกว่า เรื่องของ Data ก็ถือเป็น Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่าอย่างหนึ่ง
ซึ่งก็คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การออกบัตร ยันรูดบัตร
ซึ่ง Data ก็ถือเป็นบ่อน้ำมันของ KTC ที่สร้างความเข้าใจกับลูกค้ามากขึ้น
โดยสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ หาร้านอาหารมาเป็นพาร์ตเนอร์ หรือเสนอโปรโมชันร้านค้าต่าง ๆ ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
-KTC ทำอย่างไร ให้อนุมัติสินเชื่อได้ไว แต่หนี้เสียน้อย ?
คุณระเฑียรกล่าวว่า เราต้องแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกัน
1.เรื่องหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า NPL เป็นเรื่องของการจัดการคุณภาพของสินเชื่อ (Asset Quality)
2.เรื่องของการอนุมัติวงเงิน เป็นเรื่องของกระบวนการ และเทคโนโลยี
ในส่วนของการจัดการคุณภาพสินเชื่อ ก็ต้องมั่นใจก่อนว่า เกณฑ์ที่เอามาใช้ในการพิจารณาวงเงิน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต และวงเงินสินเชื่อนั้นดีอยู่แล้ว
จากนั้น เวลาอนุมัติสินเชื่อ เราก็ต้องยึดตามเกณฑ์ในการอนุมัติอย่างเคร่งครัด ไม่มีการผ่อนปรน หรือหยวน ๆ ให้กับคนที่มาขอสินเชื่อ
ซึ่งก็ต้องบอกว่า KTC ก็มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่อยู่เสมอ
ถ้าหากว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินเพื่ออนุมัติวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อของธนาคาร จะมีแนวโน้มทำให้ NPL สูงขึ้น
เมื่อมั่นใจว่าเกณฑ์ในการอนุมัติวงเงินเริ่มแข็งแรง จนสามารถสร้างเป็นมาตรฐานขององค์กรได้แล้ว
เราก็มาทำกระบวนการ และเทคโนโลยีให้ดี
ซึ่งทาง KTC ก็ได้พยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ ในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อมากขึ้น
เพราะความเป็นจริงตอนนี้คือ การใช้เทคโนโลยีประเมินวงเงิน จะมีความผิดพลาดน้อยกว่า การใช้คนประเมินอยู่แล้ว แถมยังสามารถอนุมัติได้ไวกว่า
ด้วยการจัดการที่ดี จึงทำให้ KTC มีหนี้เสีย (NPL) ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาตลอด
โดยข้อมูลปี 2565
ธุรกิจบัตรเครดิต KTC มี NPL อยู่ที่ 1.1% เทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกบริษัทที่ 1.9%
ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล KTC มี NPL อยู่ที่ 2.8% เทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกบริษัทที่ 2.9%
-“KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ บริการน้องใหม่ของ KTC พอจะเติบโตเป็น New S-Curve ได้ไหม ?
คุณระเฑียรกล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของธุรกิจ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ต่างจากกลุ่มลูกค้าของธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล
และธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงินนั้น เป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเยอะ
ดังนั้น หัวใจในการทำตลาดของธุรกิจนี้คือ การสร้างความแตกต่าง
โดยธุรกิจ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน จะชูจุดเด่น คือ
-ให้วงเงินใหญ่สูงสุดถึง 1,000,000 บาท
-สินเชื่ออนุมัติไว ภายใน 1 ชั่วโมง
คุณระเฑียรบอกว่า ถึงแม้ว่าธุรกิจ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน จะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดใหม่ คล้าย ๆ สตาร์ตอัป
แต่ก็ไม่ควรจะจะอัดฉีดเงิน เพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีฐานลูกค้าที่มากขึ้น แล้วตัวเองขาดทุนอย่างหนัก
ดังนั้น KTC พี่เบิ้ม จึงเน้นไปที่การเป็นพาร์ตเนอร์ กับธนาคารกรุงไทยมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านทางแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย อย่าง Krungthai NEXT, เป๋าตัง, ถุงเงิน
และสามารถขอสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม ผ่านธนาคารกรุงไทยได้โดยตรง
การทำแบบนี้ ก็ทำให้ธุรกิจ KTC พี่เบิ้มนั้น เติบโตได้อย่างมั่นคง
ซึ่งคุณระเฑียร มองว่าธุรกิจ KTC พี่เบิ้ม ยังเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทแม่ อย่างธนาคารกรุงไทยอยู่
แตกต่างจาก ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ที่ไม่เน้นพึ่งพาแหล่งรายได้ ที่มาจากบริษัทแม่มากจนเกินไป เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ คุณระเฑียร ก็ได้เสริมอีกว่า
ธุรกิจ KTC พี่เบิ้มจะยังคงเป็นธุรกิจ ที่มีหนี้เสียสูงกว่าธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
แต่ก็ต้องบอกว่า ทาง KTC จะบันทึกหนี้เสียลงบัญชีตามจริง ไม่มีการขอเจรจากับลูกหนี้ เพื่อให้จ่ายเงินแค่ไม่กี่บาท แล้วค่อยตัดส่วนที่เป็นหนี้เสียของลูกค้าทั้งก้อนนั้นทิ้งไป
นอกจากนี้ ทาง KTC ก็ยังตั้งสำรองหนี้สูญ ตามความเป็นจริง
คือลูกหนี้ที่อาจเบี้ยวหนี้มีมากเท่าไร ก็ต้องตั้งสำรองให้มากเท่านั้น
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็บันทึกบัญชีแบบนั้น ไม่มีการตกแต่งให้สวย
อย่างปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโรคระบาด
คุณระเฑียรบอกว่า ได้ตั้งสำรองหนี้สูญไว้เยอะมาก จนทำให้กำไรเหลือน้อยกว่าปี 2562
ดังนั้น เรื่องตัวเลขทางบัญชี ที่ปรากฏอยู่ในหน้างบการเงิน จึงเป็นเรื่องที่สบายใจได้สำหรับนักลงทุน
และอย่างที่บอกว่า คุณระเฑียร เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ของ KTC ตั้งแต่ปี 2555 นับจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 12 ปี
และปีนี้คุณระเฑียร ก็จะวางมือแล้ว
-แล้วบทบาทต่อไปในชีวิตคุณระเฑียร คิดว่าจะทำอะไรต่อ แล้ววางรากฐานอนาคตของ KTC ไว้อย่างไรบ้างไหม ?
คุณระเฑียรบอกว่า สำหรับ KTC เองไม่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่าบุคลากรของ KTC โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร มีคุณภาพมากพออยู่แล้ว
ซึ่งคุณระเฑียรพูดเสมอว่า สำหรับพนักงานของ KTC นั้น “Be Radically Open-Minded”
หรือก็คือ การเปิดใจเรียนรู้ และไม่ปิดกั้นตัวเอง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับการเป็นพนักงานของ KTC
ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนมือวางอันดับ 1 ของโลก ได้พูดไว้เสมอ
เพราะเมื่อไรที่คนคิดว่า ฉันเก่งที่สุด ฉันรู้ทุกอย่าง ฉันไม่ผิดเลย นั่นเป็นระบบความคิดหรือ Mindset ที่ไม่ถูกต้อง
แม้แต่ตัวผู้บริหารเอง ก็ต้องตระหนักในเรื่องความผิดพลาด และฝึกแก้ไขบ่อย ๆ
ถ้าทำแบบนี้ ก็จะเพิ่มโอกาสในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ทั้งพนักงาน และองค์กร ได้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนตัวธุรกิจ คุณระเฑียรบอกว่า รากฐานของธุรกิจ KTC ดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
อนาคตต่อจากนี้ของคุณระเฑียร ก็ได้เป็นกรรมการในหลายบริษัทข้างนอก และเวลาที่เหลือก็คงจะให้เวลากับการศึกษาเรื่องที่สนใจ
ซึ่งสิ่งที่สนใจก็มีอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ เรื่องการลงทุน และเรื่องสุขภาพ
ชีวิตหลังจากนี้ คงจะใช้เวลาที่ว่างจากการทำงาน หันมาดูแลสุขภาพของตัวเอง ควบคู่กับการศึกษาเรื่องการลงทุน
และอาจจะอ่านหนังสืออื่น ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มภูมิความรู้ให้กับตัวเองมากขึ้น
และสุดท้าย คุณระเฑียร ศรีมงคล ก็ได้ทิ้งท้ายด้วยข้อคิด 2 ข้อ ให้กับคนวัยทำงาน นั่นคือ
1.There is no shortcut - ไม่มีทางลัด
ทุกอย่างเป็นเรื่องของการลงทุน จะทำอะไรก็ตามย่อมมีต้นทุนเสมอ และต้องยอมรับว่า ทุกอย่างมีข้อผิดพลาดให้ต้องเรียนรู้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ
2.อะไรที่ได้มาง่าย ๆ ต้องระวัง
เพราะการจะได้อะไรมา มักต้องผ่านการฝึกฝนและพัฒนาอยู่เสมอ
เมื่อเราเพียรพยายามมากพอแล้ว ถึงเวลานั้น เราจะได้รับสิ่งที่ต้องการและคู่ควร “You deserve it!”
References
-สัมภาษณ์พิเศษ กับคุณระเฑียร ศรีมงคล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC
-รายงาน 56-1 บมจ.บัตรกรุงไทย ปี 2555 และปี 2565
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.