โมเดลธุรกิจ “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” ขายไก่ ขายหมู รายได้ 50,000 ล้าน

โมเดลธุรกิจ “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” ขายไก่ ขายหมู รายได้ 50,000 ล้าน

9 ก.ค. 2023
โมเดลธุรกิจ “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” ขายไก่ ขายหมู รายได้ 50,000 ล้าน | BrandCase
ถ้าพูดถึงธุรกิจอาหารแบบครบวงจร หลายคนอาจจะนึกถึง CPF หรือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกบริษัทหนึ่งในไทย ที่มีโมเดลคล้าย ๆ กัน
คือมีฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูเอง มีธุรกิจอาหารสัตว์ อาหารแปรรูป รวมถึงมีช่องทางขายเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นของตัวเอง
เรากำลังพูดถึง “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” หรือ TFG บริษัทที่ขายไก่ ขายหมู จนมีรายได้ 50,000 ล้านบาท
โมเดลธุรกิจของ TFG เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป เกิดขึ้นเมื่อปี 2530 โดยคุณวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ที่เริ่มจากการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ ในจังหวัดลพบุรี โดยมีกำลังการผลิตวันละ 20,000 ตัว
คุณวินัย ขยายธุรกิจฟาร์มมาเรื่อย ๆ จากแค่ฟาร์มไก่ ก็ทำฟาร์มหมูเพิ่มด้วย
ปัจจุบันธุรกิจนี้ กลายมาเป็น บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มีฟาร์มหมูและฟาร์มไก่อยู่ทั่วประเทศไทย รวมถึงมีธุรกิจเลี้ยงหมูในเวียดนามด้วย
และบริษัทก็ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจฟาร์มเท่านั้น แต่ต่อยอดไปทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ประกอบด้วย
-ธุรกิจไก่
ได้แก่ เพาะพันธุ์ไก่, ผลิตและขายเนื้อไก่ ลูกไก่ ไก่พันธ์ุเนื้อ รวมถึงสินค้าแปรรูปจากเนื้อไก่ เช่น ไส้กรอก
-ธุรกิจหมู
ได้แก่ เพาะพันธ์ุหมู, ขายหมูมีชีวิต และชิ้นส่วนหมู
-ธุรกิจอาหารสัตว์
ได้แก่ ผลิตและขายอาหารสัตว์ โดยเน้นไปที่อาหารสำหรับไก่และหมู
-มีร้านขายเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปเป็นของตัวเอง ชื่อว่า ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต
โดยเพิ่งเริ่มทำเมื่อปี 2563 ตอนนี้มีประมาณ 287 สาขา กระจายอยู่ทั่วไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่น ๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับธุรกิจอาหารอีก
เช่น ให้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์, ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสัตว์, ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล
แล้ว TFG มีกลยุทธ์อะไรน่าสนใจบ้าง ? ลองมาดูตัวอย่างกัน
1.มีโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบ Feed Farm Food and Food Distribution คือทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ซึ่งการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ ทำให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น
เช่น
-เกิดความต่อเนื่องของธุรกิจ เพราะไม่มีคนอื่นในซัปพลายเชน ทำให้สายการผลิตไม่หยุดชะงัก
-ง่ายต่อการควบคุมคุณภาพของสินค้า
-เมื่อผลิตในปริมาณที่มาก ก็ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ตามหลักการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale)
2.กระจายความเสี่ยง ทั้งตัวไลน์การผลิต และที่ตั้งของแหล่งวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น
-การผลิตแตกเป็น 3 ไลน์หลักคือ ธุรกิจเกี่ยวกับไก่ ธุรกิจเกี่ยวกับหมู และธุรกิจอาหารสัตว์
การทำแบบนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง เช่น ไม่ว่าช่วงเวลานั้น ราคาสินค้าใดตกต่ำ ก็จะมีโอกาสให้สินค้าอีกตัว มาช่วยพยุงรายได้ของบริษัทได้
-มีการกระจายฟาร์มเลี้ยงหมูและไก่ ไปในหลายจังหวัดที่มีประวัติน้ำท่วมไม่ถึง เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี นครสวรรค์ เพื่อป้องกันปัญหาอย่างอุทกภัย และโรคระบาดในสัตว์
-ขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย ซึ่งช่วยให้กระจายสินค้าได้ดี และทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการวิ่งหาตลาดที่มีมูลค่าสูงได้
3.ผสมโมเดลธุรกิจแบบ “Asset-Light” คือ การลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรให้น้อยลง แต่ไปพึ่งพิงผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรรายอื่น ๆ มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น นอกจากมีฟาร์มของตัวเอง TFG มีการทำฟาร์มภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา หรือที่เรียกกันว่า Contract Farming เป็นจำนวนกว่า 850 สัญญา
แล้ว Contract Farming คืออะไร ?
อธิบายเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ TFG จะไปทำสัญญารับซื้อหมูและไก่ในปริมาณและราคาที่แน่นอนกับเกษตรกรรายย่อย
โดย TFG จะช่วยสนับสนุนการจัดหาลูกไก่ ลูกหมู อาหารสัตว์ วัคซีน และความรู้ในการทำฟาร์มสัตว์ ให้กับเกษตรกร
ซึ่งการทำสัญญาในรูปแบบนี้ ทำให้ Win - Win ทั้งสองฝ่าย คือเกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ส่วน TFG ก็ไม่ต้องลงทุนทำฟาร์มเอง
โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 52,692 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,722 ล้านบาท
ซึ่งสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจาก
-ธุรกิจไก่ 44%
-ธุรกิจหมู 24%
-ธุรกิจอาหารสัตว์ 16%
-ธุรกิจค้าปลีก 15%
-รายได้อื่น 1%
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
จากการจัดอันดับเศรษฐีไทย Top 50 ของ Forbes Thailand ประจำปี 2565
คุณวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท TFG ติดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในไทยอันดับที่ 35 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดรวมกว่า 31,700 ล้านบาท..
References
-รายงานประจำปี 2565 บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
-https://www.tfg.co.th/th/about_us/company_history
-https://www.forbesthailand.com/forbes-lists/thailand-richest
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.