“เจ้าสัว” ข้าวตัง 1,000 ล้าน เกิดจากคนจีน ที่มาอยู่ โคราช

“เจ้าสัว” ข้าวตัง 1,000 ล้าน เกิดจากคนจีน ที่มาอยู่ โคราช

3 มี.ค. 2023
“เจ้าสัว” ข้าวตัง 1,000 ล้าน เกิดจากคนจีน ที่มาอยู่ โคราช | BrandCase
จังหวัดนครราชสีมา หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “โคราช”
จะมีของฝากขึ้นชื่ออย่างหนึ่ง คือ ข้าวตังเจ้าสัว
ซึ่งแบรนด์นี้ เกิดขึ้นจากชาวจีน ที่อพยพมายังประเทศไทย แล้วย้ายมาอยู่โคราช
วันนี้ เจ้าสัว กลายเป็นธุรกิจ ที่มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท
แล้วเขาสร้างแบรนด์นี้ ขึ้นมาได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในปี 2501
เมื่อคุณเพิ่ม แซ่เตีย ชาวจีนผู้อพยพมาเมืองไทย โดยช่วงแรกที่เข้ามานั้น ประกอบอาชีพขายของชำ ในย่านคลองเตย ในกรุงเทพฯ ด้วยการร่วมหุ้นกับเพื่อน
ในช่วงแรก ๆ ถือว่าไปได้ดี แต่นั่นเริ่มทำให้มีคนมาเปิดร้านขายของชำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ธุรกิจของคุณเพิ่มและเพื่อน ๆ เริ่มเจอการแข่งขันที่สูงขึ้น และเริ่มขาดทุน
พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เพื่อนแต่ละคนทยอยถอนทุนคืน
สุดท้ายเหลือเพียงแค่คุณเพิ่ม ที่ยังเป็นคนดูแลธุรกิจ
จนสุดท้ายด้วยความที่หนี้สินของธุรกิจค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ธุรกิจร้านขายของชำของคุณเพิ่ม จึงต้องปิดตัวลงในที่สุด
หลังจากนั้น เขาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจอื่น และที่นี่เองเขาได้สังเกตเห็นว่ากลุ่มชาวบ้านนิยมเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก
และนั่นทำให้เกิดไอเดียในการทำธุรกิจขาย หมูหย็อง
แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือขาดทุน จนเปลี่ยนมาขายน้ำหวาน แต่ก็ยังขาดทุนเช่นเดิมอีก
สุดท้ายเขากลับมาโฟกัสที่ธุรกิจขายอาหารที่ทำจากเนื้อหมูเช่นเดิม
แต่คราวนี้ เขาเพิ่มสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น
จากเดิมที่มีเพียงแค่หมูหย็อง ก็เพิ่มทั้งหมูแผ่น และกุนเชียง เพื่อทำเป็นของฝาก
แม้ช่วงแรกผลตอบรับจะยังไม่ดีมากนัก แต่ด้วยคุณภาพและรสชาติที่อร่อย ลูกค้าเก่าก็มีการบอกต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สินค้าของคุณเพิ่ม ค่อย ๆ ขายดีขึ้นในเวลาต่อมา
จากธุรกิจที่เติบโตขึ้น จึงทำให้คุณเพิ่ม ก่อตั้ง “ห้างหุ้นส่วน จำกัด เตีย หงี่ เฮียง” (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ในเวลาต่อมา)
แล้วเริ่มกระจายสินค้าออกไปขาย ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ เตีย หงี่ เฮียง เกิดขึ้นในปี 2541 เมื่อบริษัทได้ผลิตสินค้าตัวใหม่
คือข้าวตังหมูหย็อง ที่รู้จักทั่วกันในนาม "ข้าวตังเจ้าสัว"
ซึ่งในตอนนั้น เป็นยุค Gen 2 ของบริษัท ที่ดูแลโดย คุณธนภัทร โมรินทร์
จริง ๆ แล้วในตอนนั้น ธุรกิจจำนวนมากในประเทศไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
แต่เรื่องนี้กลับส่งผลดีต่อ เตีย หงี่ เฮียง เพราะว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก จากการลอยตัวค่าเงิน ดึงดูดให้คนต่างชาติมาเที่ยวไทยมากขึ้น
และวันหนึ่งนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง ที่เดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา ได้แวะซื้อข้าวตังหมูหย็องจากร้านเจ้าสัว เพื่อนำไปเป็นของฝาก
ปรากฏว่า รสชาติของข้าวตังหมูหย็อง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวฮ่องกงอย่างมาก จึงทำให้มีการติดต่อคุณเพิ่ม เพื่อนำข้าวตังหมูหย็อง ส่งออกไปขายที่ฮ่องกง
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สินค้าอื่น ๆ ของคุณเพิ่มอย่างหมูหย็องและหมูแผ่น เริ่มมีการส่งออกไปขายต่างประเทศในเวลาต่อมา
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงอาคารพาณิชย์ขายของฝาก ในจังหวัดนครราชสีมา
เวลาต่อมา ในยุค Gen 3 ซึ่งดูแลโดย คุณณภัทร โมรินทร์ สินค้าของเจ้าสัว ก็มีพัฒนาการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
-ปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งแบบซองและแบบกล่อง ให้ทันสมัยมากขึ้น
-เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้หลากหลาย
เช่น มีการขายแฟรนไชส์ เปิดสาขาตามปั๊มน้ำมัน รวมทั้งการเปิดช่องทางการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์
-ปรับภาพลักษณ์ใหม่ของสินค้า จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นของฝาก ให้มาเป็นสินค้าอาหารที่ทานได้ทุกวันในรูปแบบสแน็ก
ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบัน ตลาดสแน็กหรือของทานเล่นในประเทศไทย มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท และเติบโตได้เรื่อย ๆ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มสแน็ก ประเภทที่ทำจากเนื้อสัตว์ กลับมีมูลค่ารวม เพียงราว ๆ 100 กว่าล้านบาท เท่านั้น
และรวมกับการที่ยังมีคู่แข่งในตลาดน้อย
ผู้บริหารของเจ้าสัว จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจนี้อีกมากเช่นกัน
แล้วตอนนี้ เจ้าสัว รายได้ดีแค่ไหน ?
ลองมาดูผลประกอบการ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เจ้าของสินค้าแบรนด์เจ้าสัว
ปี 2563 รายได้ 934 ล้านบาท กำไร 43 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,035 ล้านบาท กำไร 92 ล้านบาท
จากธุรกิจที่เริ่มต้น ด้วยการเป็นของฝากเล็ก ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา
มาวันนี้ธุรกิจของแบรนด์เจ้าสัว เติบโต และมีชื่อเสียงระดับประเทศแล้ว
และนี่คือเรื่องราวของเจ้าสัว ข้าวตังพันล้าน
ที่เกิดจากชาวจีน ที่มาอยู่โคราช
และสร้างธุรกิจที่มีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท ในวันนี้
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.