สรุปนิยาม “ทำเลที่ดี” ของ ต๊อบ เถ้าแก่น้อย สมัยทำร้านเกาลัด

สรุปนิยาม “ทำเลที่ดี” ของ ต๊อบ เถ้าแก่น้อย สมัยทำร้านเกาลัด

30 พ.ย. 2022
สรุปนิยาม “ทำเลที่ดี” ของ ต๊อบ เถ้าแก่น้อย สมัยทำร้านเกาลัด | BrandCase
หลายคนคงรู้จัก คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย ในฐานะเจ้าของ
อาณาจักรสาหร่าย 10,000 ล้านบาท แต่รู้หรือไม่ว่า
ก่อนที่จะขายสาหร่าย คุณต๊อบ เคยขายเกาลัดมาก่อน โดยทำร้านที่มีชื่อว่า เกาลัดเถ้าแก่น้อย
และตอนนั้น ก็ทำให้เขาเข้าใจว่า การเลือกทำเลที่ดี มันทำให้ธุรกิจมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
แล้วนิยามคำว่า “ทำเลที่ดี” ของคุณต๊อบ สมัยทำร้านเกาลัด มันเป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องเล่าก่อนว่าในช่วงแรก คุณต๊อบขายเกาลัดขาดทุนทุกวัน และผ่านไป 2 เดือน เงินเก็บที่เคยมีก็เริ่มหมดลง จนเกือบต้องเลิกกิจการ
แต่เมื่อเริ่มจับจุดได้ และเข้าใจความหมาย ของคำว่า ทำเลที่ดี
เพียง 2 ปีต่อจากนั้น เกาลัดเถ้าแก่น้อย กลับขยายกิจการ
ได้กว่า 30 สาขา และมียอดขายเดือนละกว่า 3 ล้านบาท
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น การขายเกาลัด ของคุณต๊อบ
เกิดจาก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของคุณพ่อมีปัญหา จนที่บ้าน เป็นหนี้กว่า 40 ล้านบาท
ทำให้คุณต๊อบ ต้องพยายามหาเงินด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้
เป็นภาระของคุณพ่อและคุณแม่
จนวันหนึ่งขณะเดินเล่นในงาน World Food Exhibition
ที่เมืองทองธานี คุณต๊อบก็ได้พบกับ เครื่องคั่วเกาลัด
และจุดประกายให้เกิดคำถามว่า
ทำไม “เกาลัดต้องขายแค่ที่เยาวราช”
ถ้ามีเจ้าเครื่องคั่วนี้ ก็สามารถขายเกาลัดได้ทุกที่
โดยที่เราไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรด้วย เพียงแค่กดปุ่ม และคอยป้อนวัตถุดิบก็พอ
คุณต๊อบจึงตัดสินใจ เช่าเครื่องคั่วเกาลัด มาในราคา
50,000 บาทต่อเดือน จากนั้นจึงเริ่มศึกษาเทคนิค และวิธีการจากร้านขายเกาลัดที่เยาวราช
หลังจากนั้นก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติ โดยคุณต๊อบเริ่มจาก
การไปขายในห้างเดอะมอลล์รามคำแหง
ซึ่งในเดือนแรก
คุณต๊อบขายเกาลัดได้วันหนึ่งไม่ถึง 1 กิโลกรัม เฉพาะค่าเช่าเครื่องคั่วเกาลัดที่ต้องจ่าย 50,000 บาท
ทุกเดือนก็ไม่คุ้มแล้ว แต่เพราะติดสัญญา จึงยกเลิกการขายในพื้นที่เดิมไม่ได้
ในเดือนที่สอง คุณต๊อบจึงตัดสินใจขยายกิจการต่ออีกสาขา
ที่ห้าง Big C บางใหญ่ ซึ่งแม้จะได้ทำเลใหม่
แต่ผลลัพธ์กลับขาดทุนเหมือนเดิม
ทำให้เงินเก็บที่คุณต๊อบเคยมีเริ่มหมดลง จนเริ่มรู้สึกท้อแท้ และคิดที่จะเลิกขายเกาลัดแล้ว
แต่เพราะมีห้าง Lotus แจ้งวัฒนะ โทรชวนให้คุณต๊อบ นำร้านเกาลัดมาออกงาน​ Event ทำให้คุณต๊อบ
นำเครื่องคั่วเกาลัดจากทั้ง 2 สาขาย้ายมาลองขายดู
ซึ่งผลปรากฏว่า ขายดีเกินคาด ปกติ 2 สาขารวมกัน
ขายได้แค่วันละ 1,000 บาท แต่ยอดขายจากสาขา Lotus เพียงแห่งเดียว ก็วันละ 8,000 บาทแล้ว
นั่นทำให้คุณต๊อบเกิดคำถามว่า ทำไมทำเลเก่า
ที่คนผ่านไปมาเยอะแยะ แต่กลับไม่มีคนซื้อ ?
และนี่คือสิ่งที่คุณต๊อบได้ จากการคิดทบทวน
-ทำเลสาขาแรก ตั้งอยู่หน้า Food Court ซึ่งคนมีเป้าหมายเพื่อมากินข้าวจานละ 25-30 บาท เมื่อเจอเกาลัดกิโลกรัมละ 280 บาท คนจึงไม่ซื้อ
-ทำเลสาขาสอง ตั้งอยู่หน้าประตูห้างก็จริง แต่เป็นประตู ซึ่งเชื่อมกับที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคนที่เดินผ่านส่วนใหญ่ มักมีกำลังซื้อที่น้อย ร้านลูกชิ้นไม้ละ 5-10 บาทแถวนั้นจึงขายดี
-ทำเลงาน Event ตั้งอยู่ใกล้แคชเชียร์ซูเปอร์มาเก็ต
แต่ที่สำคัญกว่าคือ คนที่มาเดินห้างส่วนใหญ่ เป็นคนไทย

เชื้อสายจีน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเกาลัดอยู่แล้ว แถมมีกำลังซื้อสูง จึงขายเกาลัดได้ไม่ยาก
สรุปก็คือ ทำเลที่ดี ไม่ใช่ทำเลที่มีคนเดินผ่านไปมาเยอะเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องเป็นทำเล ที่มีกลุ่มเป้าหมายของเราเดินด้วย
ซึ่งหลังจากรู้ข้อนี้แล้ว ก็ทำให้ร้านเกาลัดเถ้าแก่น้อย
เติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายในระยะเวลา 2 ปี สามารถขยายกิจการได้กว่า 30 สาขา
และมียอดขายเดือนละกว่า 3 ล้านบาทเลยทีเดียว..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หลังจากนั้นไม่นาน เกาลัดเถ้าแก่น้อย ก็ประสบปัญหา
เรื่องควันดำจากเครื่องคั่ว เลยต้องเปลี่ยนไปใช้ครัวกลาง แล้วค่อยกระจายเกาลัด ไปแต่ละสาขาแทน
ทำให้เอกลักษณ์ทั้งความแปลกใหม่ กลิ่นหอม ๆ และอุณหภูมิเสิร์ฟอุ่น ๆ หายไป
จนยอดขายตกลง เหลือเพียงครึ่งเดียว แต่สุดท้ายแล้ว
เกาลัดเถ้าแก่น้อย ก็สามารถพลิกกลับมาโตได้ด้วย
New S-Curveใหม่ที่เปลี่ยนชีวิตของคุณต๊อบ
ไปตลอดกาล นั่นคือ สาหร่ายเถ้าแก่น้อยนั่นเอง..
References
-หนังสือเรื่อง เถ้าแก่น้อย “ต๊อบ” Story โดย สรกล อดุลยานนท์, เชตวัน เตือประโคน
-https://www.youtube.com/watch?v=0rMdVC3nBl0
-https://www.youtube.com/watch?v=qYc_lz8Tdds
-https://www.youtube.com/watch?v=OaJhQiCDdZA
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.