กรณีศึกษา สามแม่ครัว ขายปลากระป๋อง รายได้ 4,000 ล้าน

กรณีศึกษา สามแม่ครัว ขายปลากระป๋อง รายได้ 4,000 ล้าน

10 พ.ย. 2022
กรณีศึกษา สามแม่ครัว ขายปลากระป๋อง รายได้ 4,000 ล้าน | BrandCase
ถ้าพูดถึงเรื่องปลากระป๋อง แน่นอนว่าทั้งคนที่เคย และไม่เคยทาน
ต้องเคยได้ยินชื่อของ “ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว” ผ่านหูกันมาอย่างแน่นอน
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะหากเราลองมาดู ส่วนแบ่งตลาดปลากระป๋องในไทยล่าสุด
จะพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของปลากระป๋องตราสามแม่ครัว คือ 35% มากเป็น อันดับ 1 เลยทีเดียว
แล้ว ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว ใช้กลยุทธ์อะไร ทำให้สามารถครองตลาดได้มากขนาดนี้ ?
BrandCase จะสรุป เรื่องนี้ให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ
ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว มีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณสุวัฒน์ อุดมบัณฑิตกุล
ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณสุวัฒน์ ก็เป็นพนักงานเงินเดือนทั่ว ๆ ไป
แต่หลังจากทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง เขาก็เริ่มคิดว่า ถ้าทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนไปเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งเกิดตกงานขึ้นมา ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ในปี พ.ศ. 2516 หรือเมื่อประมาณ 49 ปีก่อน คุณสุวัฒน์ จึงตัดสินใจ เริ่มหันมาทำธุรกิจของตัวเอง ร่วมกับกลุ่มเพื่อนอีก 5 คน โดยธุรกิจที่เขาเลือก คือธุรกิจปลากระป๋อง
ในปีต่อมา หลังจากธุรกิจปลากระป๋องของคุณสุวัฒน์ และเพื่อน ๆ เริ่มไปได้สวย
จึงมีการก่อตั้งบริษัทขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว โดยใช้ชื่อว่า บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด
จนปัจจุบัน บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด
เติบโตจนกลายเป็นบริษัท ที่มีรายได้ระดับ 4,000 ล้านบาท
พร้อมกับส่วนแบ่งตลาดปลากระป๋องในไทย ที่มากถึง 35% คิดเป็นอันดับ 1 ในไทย
เราลองมาดูกันว่า อะไรคือสิ่งที่ช่วยให้ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว
ประสบความสำเร็จ และเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
1.ใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้แบรนด์เป็นที่จดจำ
-ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง
ในช่วงแรก ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว จะเน้นขายให้แก่ลูกค้าต่างจังหวัดเป็นหลัก
โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ด้านการกระจายสินค้าของคุณสุวัฒน์ และเพื่อน ๆ
-ใช้แคมเปญการตลาดต่าง ๆ เช่น ซื้อ 1 แถม 1
หรือการให้ลูกค้าสะสมสลากปลากระป๋อง เพื่อนำมาแลกรางวัล
-ใช้กลยุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับแบรนด์ ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ทีวี, หนังสือพิมพ์, วิทยุ ซึ่งเป็นการช่วยให้ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จากกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านี้ ทำให้แบรนด์สามแม่ครัว เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นที่จดจำของลูกค้าไปในที่สุด
2.แตกไลน์สินค้า ให้มีความหลากหลาย
หลังจากที่เริ่มประสบความสำเร็จในธุรกิจปลากระป๋อง คุณสุวัฒน์ก็ได้เริ่มแตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
จนปัจจุบัน บริษัทมีแบรนด์สินค้าในเครือมากมาย เช่น ฉู่ฉี่ปลาซาร์ดีน, น้ำพริกปลาแมกเคอเรล, คั่วกลิ้งปลาแมกเคอเรล, ห่อหมกปลาแมกเคอเรล, ซีอิ๊วขาว, ซอสหอยนางรม, น้ำปลาไส้ตันแท้, ซอสปรุงรส, มัสมั่นปลาซาบะ
นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์สามแม่ครัว จะมุ่งเน้นผลิตสินค้าใหม่ในกลุ่มพร้อมทาน หรือ Ready to Eat มากขึ้น
เพื่อตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งไม่สะดวกในการทำอาหาร รวมถึงกลุ่มที่ไม่มีเวลาในการทำอาหารทานเอง
ปัจจุบัน รายได้ของแบรนด์สามแม่ครัว มาจากตลาดในประเทศ 90% และตลาดต่างประเทศ 10% โดยในต่างประเทศนั้น มีการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศถึง 20 ประเทศ
ผลประกอบการ 3 ปีล่าสุดของ บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด
ปี 2562 รายได้ 3,687 ล้านบาท กำไร 271 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 4,228 ล้านบาท กำไร 517 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 4,579 ล้านบาท กำไร 460 ล้านบาท
จะเห็นว่าในปี 2563 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกเกิดวิกฤติโควิด 19 แต่รายได้และกำไรของบริษัทนั้นเติบโตอย่างมากจากปีก่อนหน้า
โดยสาเหตุมาจาก ในช่วงที่ประเทศมีการล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้าน และมีการกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ซึ่งรวมถึงแบรนด์สามแม่ครัวด้วย
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หลายคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมต้องใช้ชื่อ ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว
ทั้งที่คนก่อตั้งก็ไม่ใช่แม่ครัว 3 คน
เหตุผลก็เพราะว่าเดิมที คุณสุวัฒน์ และเพื่อน ๆ ตั้งใจจะใช้ชื่อว่า ปลากระป๋องตราแม่ครัว
แต่คิดไปคิดมา พวกเขามองว่า ถ้ามีแม่ครัวหลายคน น่าจะอร่อยกว่ามีแม่ครัวคนเดียว
จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว” นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.