The Coffee Club ร้านกาแฟชื่อดังจากแดนจิงโจ้ ตอนนี้เป็นของ MINOR

The Coffee Club ร้านกาแฟชื่อดังจากแดนจิงโจ้ ตอนนี้เป็นของ MINOR

9 พ.ย. 2022
The Coffee Club ร้านกาแฟชื่อดังจากแดนจิงโจ้ ตอนนี้เป็นของ MINOR | BrandCase
หากพูดถึงกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ของประเทศไทย
ในหลาย ๆ บริษัท ต่างก็มี ธุรกิจร้านกาแฟเป็นของตนเองอย่าง
กลุ่ม TCC มี Starbucks
กลุ่ม CP มี TrueCoffee
กลุ่ม ปตท. มี Café Amazon
กลุ่ม บางจาก มี อินทนิล คอฟฟี่
ส่วนกลุ่ม MINOR หรือ “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่เป็นเจ้าของ The Pizza Company, Swensens
ก็มีร้านกาแฟชื่อ “The Coffee Club” คาเฟชื่อดังในออสเตรเลีย
จุดเริ่มต้นของ “The Coffee Club” เป็นอย่างไร ?
แล้ว จากธุรกิจคาเฟ ที่ปลุกปั้นโดยชาวออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ภายใต้ กลุ่ม MINOR ได้อย่างไร ?
BrandCase จะเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 33 ปีก่อน คุณ Emmanuel Kokoris และคุณ Emmanuel Drivas
ได้เดินทางเข้าไปในเมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ เพื่อไปหากาแฟดื่ม
แต่กลับพบว่า ใจกลางย่านธุรกิจเมืองบริสเบน กลับไม่มีร้านกาแฟที่ให้บริการในตอนกลางคืนเลย
พวกเขาจึงได้ไอเดียในการเปิดร้านกาแฟที่ดี มีคุณภาพ พร้อมด้วยการบริการที่เป็นมิตร
จากนั้นจึงเปิดร้านกาแฟ โดยใช้ชื่อที่สามารถจดจำได้ง่าย ๆ ว่า “The Coffee Club”
โดยได้เปิดเป็นสาขาแรก ที่ท่าเรือ Eagle Street Pier ใจกลางเมืองบริสเบน ในปี 1989
ร้าน The Coffee Club ได้วางคอนเซปต์ของร้านกาแฟเป็นแบบ All Day Dining
คือร้านกาแฟที่มีอาหารขายทั้งวัน ไม่ได้ขายแค่กาแฟ และเบเกอรีอย่างเดียว
นอกจากนี้ ร้านกาแฟ The Coffee Club แห่งนี้
ยังถูกออกแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวออสเตรเลีย
คือการเป็นร้านกาแฟที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนของแต่ละพื้นที่
โดยตั้งใจให้ร้านกาแฟ เป็นเหมือนจุดนัดพบของผู้คนในชุมชน ให้เข้ามาดื่มกาแฟ และพบปะพูดคุยกัน
และในอีก 1 ปีต่อมา คุณ John Lazarou ผู้บริหารคนใหม่ของ The Coffee Club ที่มีอายุเพียง 28 ปี
ก็ได้วางแผนที่จะขยายธุรกิจของร้าน The Coffee Club และทำให้แบรนด์ร้านกาแฟนี้ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จนกระทั่งในปี 1993 The Coffee Club ก็ได้ขยายสาขาจนมี 7 แห่ง
และหลังจากนั้น ก็ได้เริ่มขายแฟรนไชส์ในปี 1994
แน่นอนว่าในขณะที่ The Coffee Club กำลังขยายแฟรนไชส์ จนเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ก็ต้องเจอกับคู่แข่ง ซึ่งก็คือร้านกาแฟระดับโลกอย่าง Starbucks ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในออสเตรเลีย ราวปี 2000
อย่างไรก็ตาม Starbucks ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับชาวออสเตรเลียมากนัก
นั่นก็เพราะว่า Starbucks ไม่ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการดื่มกาแฟ ของชาวออสเตรเลียให้มากพอ
โดยมองว่าออสเตรเลีย ก็เป็นเหมือนชาติตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่สามารถนำ Starbucks เข้าไปตีตลาดได้ง่าย
แถม Starbucks ยังนำเสนอเพียงเมนูกาแฟ คู่กับ อาหารที่มีแค่เบเกอรีเท่านั้น
ซึ่งต่างจาก The Coffee Club ที่มีเมนูอาหาร สำหรับทุกมื้อ และสามารถนั่งทานได้ทั้งวัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้ในปี 2008 ร้านกาแฟ Starbucks ต้องปิดตัวลงไปถึง 61 สาขา
คิดเป็นจำนวนมากกว่า 70% ของสาขาทั้งหมดในออสเตรเลีย
ในขณะที่ The Coffee Club ที่ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย ซึ่งเข้าใจถึงวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวออสเตรเลีย ได้ดีกว่า กลับประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนมีร้านกาแฟ 214 สาขา ทั้งในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ในปี 2008
และในปีเดียวกัน ก็ได้ขึ้นมาเป็นเชนร้านกาแฟ ที่ทำรายได้มากที่สุดในออสเตรเลีย
แล้ว The Coffee Club เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร ?
ความสำเร็จของ The Coffee Club นี้เอง เป็นที่จับตามองของ กลุ่มธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ของไทยอย่าง เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป บริษัทลูกของกลุ่ม MINOR
จนสุดท้ายทางบริษัทก็ได้ลงทุนซื้อหุ้นใน Coffee Club Holding (Australia) หรือ TCC ในสัดส่วน 50%
และได้เปลี่ยน TCC ให้เป็นบริษัท ไมเนอร์ ดีเคแอล เพื่อบริหารร้านอาหารที่อยู่ในออสเตรเลียเป็นหลัก
ซึ่งการซื้อกิจการครั้งนี้ ก็ทำให้กลุ่ม MINOR ได้มีร้านกาแฟของตัวเองเป็นร้านแรก
และ MINOR ก็ได้ขยายธุรกิจร้าน The Coffee Club ไปอีกหลาย ๆ ประเทศ ในทวีปเอเชีย
หลังจากที่ได้เป็นเจ้าของ The Coffee Club ครึ่งหนึ่งแล้ว ทาง MINOR ก็ยังได้เพิ่มงบลงทุนเพื่อซื้อกิจการเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น
ปี 2011 ได้เข้าซื้อธุรกิจอาหารในแบรนด์อื่น ๆ อย่าง Ribs and Rumps
ซึ่งเป็นร้านสเต๊กเฮาส์ในออสเตรเลีย
ปี 2014 ได้ขยายธุรกิจแบรนด์ร้านอาหารที่อยู่ในเมืองเมลเบิร์น อย่าง
ร้าน Groove Train, ร้าน Coffee Hit และธุรกิจคั่วกาแฟอย่าง Veneziano Coffee Roasters
ปี 2015 ได้ทุ่มเงินลงทุน เพื่อเข้าถือหุ้นในไมเนอร์ ดีเคแอล เพิ่มอีก 20%
ทำให้ในปัจจุบันกลุ่ม MINOR เป็นเจ้าของ The Coffee Club 70%
ทีนี้ เราลองมาดูการรุกตลาดร้านกาแฟในประเทศไทย ของ The Coffee Club กันบ้าง..
The Coffee Club จะเน้นเปิดสาขาในต่างจังหวัด ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว
เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติก่อน
โดยได้เปิดสาขาแรกที่ภูเก็ต ในปี 2009 และตามด้วยพัทยา ในปี 2010
หลังจากนั้นจึงได้ขยายสาขา ไปที่กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มเปิดสาขาแรกที่ “เอกมัย”
เพราะเห็นว่า ตลาดร้านกาแฟสำหรับคนไทย เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น
โดยจะเน้นเปิดตามโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ และห้างสรรพสินค้า ที่อยู่ในย่านธุรกิจเป็นหลัก
ปัจจุบัน The Coffee Club มีร้านเปิดให้บริการกว่า 415 สาขาทั่วโลก
มีสาขาในประเทศไทย 41 สาขา โดยกลุ่ม MINOR เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
ซึ่ง The Coffee Club ในประเทศไทย ก็มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19
สัดส่วนรายได้ของ The Coffee Club เป็นชาวต่างชาติ 80% และชาวไทย 20%
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หายไปเกือบทั้งหมด
ทำให้ The Coffee Club มีผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างหนัก
จนทำให้ร้านกาแฟในบางพื้นที่ ต้องปิดกิจการลงไป
ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่า ร้าน The Coffee Club ในประเทศไทย ได้ปิดสาขาลงไปกว่า 10 สาขา
ถึงตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่กลุ่ม MINOR ต้องปรับกลยุทธ์ และสร้างภาพลักษณ์ของร้านใหม่
แล้วกลยุทธ์ของ The Coffee Club เปลี่ยนไปเป็นอย่างไร ?
กลุ่ม MINOR เลือกปรับแบรนด์ The Coffee Club ให้เจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น เริ่มตั้งแต่
การลดราคาอาหารลง 15-20% โดยไม่คิดค่าเซอร์วิซชาร์จ และ Vat 7%
การปรับลดจำนวนอาหารฝรั่ง และเพิ่มอาหารไทย เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น
การปรับเมนูอาหาร ที่ส่วนใหญ่เป็นอาหารนานาชาติ ให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น
เช่น การเริ่มทำแคมเปญ “The Egg Club” ที่สามย่านมิตรทาวน์
ซึ่งมีเมนูหลัก คือ ไข่ ที่คนไทยชอบทานกัน โดยนำมาสร้างเป็นเมนูอาหารง่าย ๆ ที่สามารถทานได้ทุกมื้อ
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ร้านกาแฟ ที่มาจากดินแดนจิงโจ้ อย่าง The Coffee Club ที่ปัจจุบันเป็นของกลุ่ม MINOR
หากต้องการจะตีตลาดร้านกาแฟเพื่อครองใจคนไทย
แน่นอนว่า เจ้าตลาดร้านกาแฟรายใหญ่ ก็เดินหน้าครองส่วนแบ่งตลาด และเจาะกลุ่มลูกค้ากันไปไม่น้อยแล้ว
Café Amazon เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป ด้วยกาแฟในราคาที่เข้าถึงได้
Starbucks เน้นเจาะกลุ่มคนทำงานในเมือง และนักธุรกิจ รวมถึงการทำให้ร้านกาแฟเป็นบ้านหลังที่ 3 ของใครหลายคน
ส่วน The Coffee Club เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มคนที่มานั่งดื่มกาแฟ หรือทานอาหาร เพื่อพักผ่อน และเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยกัน
ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่า The Coffee Club ที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้ 10 กว่าปีแล้ว จะเติบโตจากฐานลูกค้าคนไทย ได้มากแค่ไหน..
References
-56-1 แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปี 2551
-56-1 แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปี 2554
-รายงานประจำปี บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ปี 2564
-https://thecoffeeclub.com.vn/pages/history
-https://leaders.slq.qld.gov.au/inductees/coffee-club
-https://www.longtunman.com/9629
-https://franchisebusiness.com.au/the-meeting-place/
-https://en.wikipedia.org/wiki/The_Coffee_Club#cite_note-8
-https://www.scrapehero.com/location-reports/The%20Coffee%20Club-Australia/
-https://positioningmag.com/1367127
-https://positioningmag.com/1295955
-https://www.sentangsedtee.com/food-recipes-for-job/article_156086
-https://workpointtoday.com/the-coffee-club-12-year-in-thailand-but-not-known/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.