อธิบายโมเดล ธุรกิจโรงแรม 5 แบบ จากเคส เครือ Minor

อธิบายโมเดล ธุรกิจโรงแรม 5 แบบ จากเคส เครือ Minor

17 พ.ค. 2024
เครือ Minor หรือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 
นอกจากจะเป็นเจ้าของเชนร้านอาหาร อย่างเช่น The Pizza Company, Sizzler, Swensen's, Dairy Queen แล้ว
เครือ Minor ยังบริหารโรงแรมมากกว่า 500 แห่งทั่วโลก
โดยโรงแรมในเครือทั้ง 500 แห่งทั่วโลกนี้ Minor ไม่ได้เป็นเจ้าของเองทั้งหมด
และแบ่งเป็นโมเดลโรงแรมได้ 5 แบบ
แล้วโมเดลโรงแรม 5 แบบของเครือ Minor เป็นอย่างไรบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ 
โมเดลการบริหารโรงแรมของเครือ Minor ทั้ง 5 รูปแบบ สรุปคือ
1. เป็นเจ้าของและบริหารเอง 
2. เช่าบริหาร
3. ร่วมลงทุน 
4. รับจ้างบริหาร 
5. สิทธิในการบริหารจัดการห้องชุด 
ทีนี้เรามาดูไปทีละโมเดล
1. เป็นเจ้าของและบริหารเอง (Owned & Operated Hotels)
รูปแบบนี้ Minor จะลงทุนเอง สร้างโรงแรมเอง เป็นเจ้าของเอง และบริหารเอง
ซึ่งเจ้าของโรงแรม อย่างเครือ Minor จะต้องรับผิดชอบ และแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด ทั้งในเรื่องเงินทุนในการก่อสร้างโรงแรม 
และค่าใช้จ่ายในการบริหารโรงแรม อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน ค่าระบบโรงแรม และค่าบริการต่าง ๆ ภายในโรงแรม
โดยเครือ Minor จะรับรายได้ และกำไรจากค่าที่พักและบริการต่าง ๆ ในโรงแรมทั้งหมด 100%
ซึ่งโรงแรมในโมเดลนี้ที่เครือ Minor เป็นเจ้าของเอง ก็อย่างเช่น
โรงแรม Anantara, Avani, Tivoli, nhow, NH และ NH Collection
แต่ต้องหมายเหตุว่า เชนโรงแรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เครือ Minor เป็นเจ้าของโรงแรมเพียงบางแห่งเท่านั้น 
เพราะบางแห่งใช้ชื่อแบรนด์เหล่านี้เช่นกัน แต่ไปเข้าข่ายโมเดลแบบอื่น ซึ่งเราจะอธิบายต่อในข้อถัด ๆ ไป
2. เช่าบริหาร
โมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ เครือ Minor จะเข้าไปเช่าตึกระยะยาวจากเจ้าของตึก 
แล้วนำมาเปิดโรงแรมบริหารเอง โดยจ่ายค่าเช่าตึกโรงแรมให้กับเจ้าของตึก ตามสัญญาที่กำหนด
โมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ เครือ Minor จะไม่ต้องลงทุนสร้างตึกเอง
แต่ยังคงต้องรับความเสี่ยง ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารโรงแรม เช่นเดียวกันกับแบบที่ 1 
ซึ่งต้องบอกว่า การเช่าบริหาร ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นท่าประจำของเครือ Minor 
เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
โดยหลักการก็คือ เครือ Minor จะขายโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองให้กับคนอื่น และเช่ากลับมาบริหาร 
ตัวอย่างเช่น
- ปี 2562 เครือ Minor ขายโรงแรม Tivoli ทั้งหมด 2 แห่งในประเทศโปรตุเกส และได้รับเงินสด 5,700 ล้านบาท 
หลังจากขายแล้ว เครือ Minor ก็ได้ทำสัญญาเช่าบริหารโรงแรมดังกล่าว ในระยะเวลา 20-30 ปี
- ปี 2564 เครือ Minor ขายโรงแรม NH Collection Barcelona Gran Hotel Calderón ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และได้รับเงินสด 4,800 ล้านบาท
หลังจากขายแล้ว เครือ Minor ก็ได้ทำสัญญาเช่าบริหารโรงแรมดังกล่าว ในระยะเวลา 20 ปี
และสามารถขยายสัญญาได้สูงสุดถึง 60 ปี
ซึ่งการทำแบบนี้ ทำให้เครือ Minor ได้ทั้งเงินสดก้อนใหญ่ไว้ขยายธุรกิจ 
แถมยังมีรายได้และกำไร จากการเข้าไปเช่าบริหารโรงแรม แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 
แต่ก็แลกกับ การไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ ซึ่งก็คือตัวที่ดินและโรงแรม
3. ร่วมทุนแล้วบริหารโรงแรม (Joint Venture)
โมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ เครือ Minor จะร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์เจ้าอื่น เพื่อเข้าไปเป็นหุ้นส่วนและบริหารโรงแรม ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้
ซึ่งโมเดลร่วมทุนแล้วบริหารโรงแรมแบบนี้ จะช่วยให้เครือ Minor แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนน้อยลง ตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ
แต่ก็แลกกับ เมื่อโรงแรมที่เครือ Minor ไปร่วมทุนด้วยนั้นมีกำไรขึ้นมา 
เครือ Minor จะต้องแบ่งกำไรกับบริษัทพาร์ตเนอร์ ตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของโรงแรม
4. รับจ้างบริหารโรงแรม (Hotel Management Agreement)
โมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ เครือ Minor จะเข้าไปทำข้อตกลงกับเจ้าของโรงแรมอื่น ๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร หรือไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ได้
โดยเครือ Minor จะส่งคนเข้าไปบริหาร และเข้าไปทำการตลาดให้กับโรงแรมนั้น โดยใช้ชื่อแบรนด์โรงแรมของตัวเอง
อย่างเช่น Anantara, Avani, Tivoli, nhow, NH และ NH Collection
แล้วเครือ Minor จะรับรายได้ เป็นค่าจ้างบริหารคงที่ทุกเดือน 
และค่าตอบแทนอื่น ๆ ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
ซึ่งโมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ มีข้อดีตรงที่ เครือ Minor แทบไม่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบริหารโรงแรม
แถมยังสามารถนำแบรนด์โรงแรมของตัวเอง ไปขยายให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เพื่อสร้าง Brand Awareness ไปทั่วโลก โดยไม่ต้องลงทุนเอง
ส่วนเจ้าของโรงแรม จะรับรายได้เป็นค่าที่พักและบริการต่าง ๆ ทั้งหมด
แต่จะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่าย ในการบริหารโรงแรมเป็นส่วนใหญ่
และมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างบริหาร ให้กับทางเครือ Minor ตามตกลง 
ซึ่งโมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ ก็จะเหมือนกับเชนโรงแรมดังระดับโลก 
อย่างเช่น Marriott และ Hilton ที่เน้นให้โรงแรมอื่นนำแบรนด์ไปใช้ แล้วส่งคนไปรับจ้างบริหารเช่นเดียวกัน
5. โรงแรมภายใต้สิทธิบริหารและจัดการห้องชุด (Management Letting Rights)
โมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ จะคล้าย ๆ กับโมเดลรับจ้างบริหารโรงแรมในข้อ 4
แต่จะต่างกันตรงที่ Minor จะเข้าไปบริหารตึกคอนโดมิเนียม หรือเรซิเดนซ์ ที่มีเจ้าของร่วมหลายราย แล้วรับจ้างบริหารกับเจ้าของกลุ่มนั้น
แล้วเครือ Minor ก็รับรายได้เป็นค่าจ้างบริหารเหมือนกับข้อ 4 
แต่การรับจ้างบริหารประเภทนี้ เครือ Minor จะแบกรับต้นทุนในการบริหารโรงแรมบางส่วนด้วย 
อย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารล็อบบีโรงแรม
โดยโมเดลบริหารโรงแรมแบบนี้ จะมีเฉพาะแค่เชนโรงแรม และเซอร์วิซอะพาร์ตเมนต์ 
Oaks Hotels, Resorts & Suites ในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เท่านั้น
นอกจาก โมเดลโรงแรม 5 แบบที่ว่ามานี้ 
จริง ๆ แล้วยังมีโมเดลธุรกิจโรงแรมอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ โมเดลแฟรนไชส์
ซึ่งโมเดลนี้ เจ้าของแบรนด์โรงแรม จะขายแฟรนไชส์ หรือขายสิทธิในการใช้ชื่อโรงแรมกับเจ้าของรายอื่น แล้วให้ไปบริหารเอาเอง
อย่างเช่น เครือโรงแรม Accor ที่ขายแฟรนไชส์ Ibis, Novotel และ Mercure ให้กับ The Erawan Group 
โดย The Erawan Group จะเอาชื่อโรงแรม Ibis, Novotel และ Mercure ไปใช้ พร้อมกับบริหารเองด้วย
ซึ่ง The Erawan Group จะต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์ ให้กับเครือ Accor เจ้าของแบรนด์โรงแรมดังกล่าวนั่นเอง
ส่วนเครือ Minor เอง ยังไม่เคยขายแฟรนไชส์ หรือให้สิทธิเจ้าอื่นมาใช้ชื่อแบรนด์โรงแรมของตัวเอง
โดยสิ้นปี 2566 Minor บริหารโรงแรมทั้งหมด 532 แห่ง ใน 65 ประเทศทั่วโลก โดยมีจำนวนห้องพักทั้งหมดกว่า 78,253 ห้อง
โดยรูปแบบการบริหารโรงแรม จะแบ่งออกเป็น
- ลงทุนเอง 117 แห่ง
- เช่าบริหาร 222 แห่ง
- ร่วมลงทุน 26 แห่ง
- รับจ้างบริหาร 104 แห่ง
- สิทธิในการบริหารจัดการห้องชุด 63 แห่ง
ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2566 เครือ Minor มีรายได้ จากส่วนของธุรกิจโรงแรมทั้งหมด 120,276 ล้านบาท
คิดเป็น 77% ของรายได้เครือ Minor ทั้งหมด
โดยรายได้ทุก ๆ 100 บาท มาจากโมเดลบริหารโรงแรมต่าง ๆ ดังนี้
- โมเดลลงทุนเอง ร่วมทุน และเช่าบริหารโรงแรม 84 บาท
- โมเดลบริหารจัดการห้องชุด 9 บาท
- โมเดลรับจ้างบริหาร 2 บาท
- ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม อย่าง อนันตรา เวเคชั่น คลับ และธุรกิจที่อยู่อาศัยอีก 5 บาท
จะเห็นได้ว่า รายได้จากธุรกิจโรงแรมเครือ Minor ส่วนใหญ่มาจากที่ลงทุนเอง และเช่าพื้นที่บริหารโรงแรมเอง 
จึงทำให้เครือ Minor มีรายได้จากค่าที่พักแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็แลกกับเงินที่ลงทุน และต้นทุนในการบริหารโรงแรมที่สูง
ต่างจากโมเดลรับจ้างบริหาร ที่ถึงแม้ว่าจะทำรายได้เพียง 2% ของรายได้จากโรงแรมทั้งหมด
แต่เครือ Minor ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง 
และแทบไม่ต้องแบกรับต้นทุน ในการบริหารโรงแรมเลย นั่นเอง..
References
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 
- รายงานประจำปี 2566 บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.