กลยุทธ์ Lay’s เติบโตด้วยการ ซื้อกิจการคนอื่น

กลยุทธ์ Lay’s เติบโตด้วยการ ซื้อกิจการคนอื่น

20 ต.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า Lay’s มันฝรั่งทอดกรอบ ที่เราคุ้นเคยกันดี มีรสชาติมากกว่า 200 รสชาติ
ซึ่งมีที่มาจากวัตถุดิบ และอาหารชื่อดังต่าง ๆ ทั่วโลก
นอกจากนั้น กลยุทธ์การเติบโตของแบรนด์นี้ ก็น่าสนใจ
เพราะ Lay’s สร้างการเติบโตด้วยการ ไล่ซื้อกิจการบริษัททำมันฝรั่งทอดกรอบทั่วโลก
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเรื่องราวมุมนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน
Lay’s มีจุดเริ่มต้นจาก ผู้ชายที่ชื่อ Herman W. Lay
โดยในตอนแรกได้เปิดเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ ให้กับบริษัท Barrett Food Company ในปี 1932 ในสหรัฐอเมริกา
ทำไปเรื่อย ๆ กิจการของเขาก็ใหญ่โตขึ้น
ใหญ่จนต่อมาในปี 1938 เขาก็สามารถซื้อ Barrett Food Company ที่เขาเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายได้เลย
และได้ขายมันฝรั่งทอดกรอบ Lay’s ซึ่งมีมันฝรั่งทอดกรอบโรยเกลือ เป็นรสชาติแรก ในนามของตัวเอง
จุดสำคัญต่อมา คือในปี 1961 Lay’s ไปควบรวมกับบริษัท Frito ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง
จนกลายเป็นบริษัท “Frito-Lay” ครองตลาดมันฝรั่งทอดกรอบ ในสหรัฐอเมริกา
จุดเปลี่ยนอีกครั้ง ที่ทำให้มันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์นี้ ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
คือในปี 1965 Frito-Lay ไปควบรวมกิจการกับ PepsiCo เจ้าของน้ำอัดลม Pepsi
ขนมชื่อดังอย่าง Lay’s ก็เลยกลายเป็นอยู่ในเครือของ PepsiCo ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ทีนี้หลังจากการควบรวมกิจการกับ PepsiCo มหากาพย์การซื้อกิจการขนมมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์อื่น จึงเริ่มต้นขึ้น
-เริ่มต้นจาก ปี 1966 PepsiCo ซื้อบริษัทขนมในเม็กซิโก ชื่อ Sabritas และใช้บริษัท Sabritas เพื่อตีตลาดแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ในประเทศเม็กซิโก
-ปี 1989 บริษัท PepsiCo ซื้อกิจการของ Walkers ซึ่งเป็นมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ดังของอังกฤษ
Walkers ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1948 ที่เมืองเลสเตอร์ และพัฒนารสชาติของมันฝรั่งทอดกรอบ โดยการประยุกต์จากอาหารประจำชาติตะวันตก เข้าไปเป็นรสชาติของ Walkers
เช่น รสชีสและหัวหอม รสเบคอนรมควัน และรสซอสมะเขือเทศ
และด้วยความที่ Walkers เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากในประเทศอังกฤษ จึงทำให้หลังจากที่ PepsiCo เข้าไปซื้อกิจการของ Walkers แล้ว
ก็ยังคงเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า Walkers ต่อไป
แต่ใช้แบบโลโกของ Lay’s มาใส่คำว่า Walkers เข้าไปแทน เพื่อตีตลาดมันฝรั่งทอดกรอบในประเทศอังกฤษต่อไป
-ต่อมาในปี 1998 PepsiCo ก็ซื้อกิจการขนมมันฝรั่งทอดกรอบในออสเตรเลีย ชื่อ “The Smith’s”
ซึ่งก่อนหน้านั้น The Smith’s เป็นอันดับ 1 ในตลาดขนมขบเคี้ยวของชาวออสเตรเลีย ที่ Lay’s ก็ยังเอาชนะไม่ได้
และหลังจาก PepsiCo เข้าซื้อกิจการมา ก็ยังคงใช้ชื่อแบรนด์ว่า The Smith’s เพื่อตีตลาดในออสเตรเลียตามเดิม
นอกจากดีลสำคัญที่ว่ามา PepsiCo บริษัทแม่ของ Lay’s ก็ยังไล่ควบรวมกิจการ หรือไม่ก็ไปร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ เพื่อทำตลาด โดยใช้ชื่อต่างกันไป เช่น
-ประเทศอียิปต์ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Chipsy”
-ประเทศโคลอมเบีย ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Margarita”
-ประเทศเม็กซิโก ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Sabritas”
-ประเทศอิสราเอล ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Tapuchips”
-ประเทศเวียดนาม ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Poca” จนกระทั่งรีแบรนด์เป็น Lay’s ในปี 2019
แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็เคยเกิดดีลลักษณะนี้
คือ PepsiCo บริษัทแม่ของ Lay’s ก็ได้ซื้อแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบไทย ชื่อ “มั้นมัน” เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
นอกจากการเลือกชื่อแบรนด์ เพื่อทำการตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ของ Lay’s แล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ รสชาติของ Lay’s ในแต่ละประเทศนั้น ก็มีความแตกต่างกัน
ซึ่งทาง PepsiCo เองก็ได้ทำการวิจัย เพื่อศึกษาตลาด และพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ หรือที่เรียกว่า Hyper-Localization
เพื่อให้ Lay’s มีรสชาติใหม่ ๆ ที่ถูกปากคนในพื้นที่
โดย Lay’s จะใช้วิธีการทำ Localization ง่าย ๆ ก็คือการใช้เมนูขึ้นชื่อประจำประเทศนั้น ๆ และเข้ากันได้กับมันฝรั่งของ Lay’s มาเป็นต้นแบบในการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ
ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละประเทศทั่วโลก ก็จะมีรสชาติของ Lay’s ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น
-ในประเทศฝรั่งเศส มี Lay’s รสชีส และหัวหอมใหญ่ โดยได้ต้นแบบจาก Walkers ประเทศอังกฤษ
แต่ปรับให้มีรสชาติเหมือนฝรั่งเศส
-ในประเทศจีน มี Lay’s รสปลาย่าง โดยใช้ปลาจากมณฑลเสฉวน
-ในประเทศอินเดีย มี Lay’s รสมาซาลา ซึ่งมาซาลาก็เป็นเครื่องเทศหลักที่ใช้ในอาหารอินเดีย
ในประเทศไทย ก็มีการนำอาหารไทยชื่อดัง มาพัฒนาเป็นรสชาติของ Lay’s เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างรสชาติแปลก ๆ ที่เคยทำออกมา ก็เช่น
รสไก่ทอดหาดใหญ่, รสลาบแซ่บนัว, รสแกงเขียวหวาน, รสข้าวผัดปู
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราว กลยุทธ์การเติบโตของ Lay’s ที่เลือกเติบโตด้วยการ ไล่ซื้อกิจการของคนอื่น
จนกลายเป็นอาณาจักรขนมมันฝรั่งทอดกรอบ ที่ยิ่งใหญ่มาก ในวันนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Laysaroundtheworld ปัจจุบัน ประเทศไทย ได้คิดค้นรสชาติใหม่ ๆ ของ Lay’s ออกมามากถึง 58 รสชาติ
ซึ่งเป็นจำนวนที่ มากที่สุดในโลก..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.