อธิบายคำว่า Economies of Scale ยิ่งผลิตเยอะ ยิ่งประหยัดต้นทุน

อธิบายคำว่า Economies of Scale ยิ่งผลิตเยอะ ยิ่งประหยัดต้นทุน

26 ก.ย. 2022
อธิบายคำว่า Economies of Scale ยิ่งผลิตเยอะ ยิ่งประหยัดต้นทุน | BrandCase
ในมุมของการทำธุรกิจ มันจะมีคำหนึ่งที่สำคัญ และได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ Economies of Scale หรือภาษาไทยเรียกว่า การประหยัดต่อขนาด
จริง ๆ แล้วคำนี้ หมายความว่าอะไร
แล้วนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร ในโลกของการทำธุรกิจ ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
คำว่า Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาด
ตามนิยามคือมันเกิดจาก การที่ธุรกิจมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง เมื่อมีการผลิตสินค้ามากขึ้น
โดยต้นทุนของการทำธุรกิจ แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
-ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) คือ ต้นทุนที่ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อย ก็ยังต้องจ่ายเท่าเดิม
-ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) คือ ต้นทุนที่แปรผันไป ตามจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
มีหลายธุรกิจที่ต้องอาศัย Economies of Scale ในการแข่งขัน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ “ธุรกิจน้ำดื่ม”
เช่น ถ้าเราผลิตน้ำดื่ม 100,000 ขวดต่อวัน มีต้นทุนรวม 300,000 บาท แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 200,000 บาท และเป็นต้นทุนคงที่ 100,000 บาท
หมายความว่า ต้นทุนรวมต่อขวด คือ 3 บาท
ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ต่อขวด เท่ากับ 1 บาท
และต้นทุนผันแปรต่อขวด เท่ากับ 2 บาท
ต่อมาเมื่อเราตัดสินใจผลิตน้ำดื่มเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 200,000 ขวด ต่อวัน ทำให้ต้นทุนผันแปรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเช่นกัน เป็น 400,000 บาท
ขณะที่ต้นทุนคงที่เท่าเดิม ที่ 100,000 บาท
หมายความว่า ตอนนี้ น้ำดื่มที่เราผลิต จะมีต้นทุนรวมเท่ากับ 500,000 บาท
แต่ต้นทุนรวมต่อขวด ลดลงเหลือเท่ากับ 2.5 บาท
ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรต่อขวดที่ 2 บาท
และต้นทุนคงที่ต่อขวดที่ 0.5 บาท
เราจะเห็นว่า ต้นทุนคงที่ต่อขวดนั้น ลดลง เมื่อเราเพิ่มการผลิตน้ำดื่มมากขึ้น
เพราะรายจ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ ถูกกระจายไปยังน้ำดื่มแต่ละขวดได้มากขึ้น
หมายความว่า ธุรกิจน้ำดื่มของเรานั้นมี Economies of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดเกิดขึ้นแล้ว นั่นเอง..
ตัวอย่างของสินค้าที่ต้องอาศัย Economies of Scale มักเป็นสินค้าที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ไม่มีความแตกต่างกันในลักษณะของตัวสินค้ามากนัก อย่างเช่น เคสของน้ำดื่มที่เราอธิบายไป
นอกจากนี้ ยังมีอีกคำที่คล้าย ๆ กันนั่นคือ Economies of Scope ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุนได้ จากการดำเนินธุรกิจหลายอย่าง ในเวลาเดียวกัน
ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ใช้ Economies of Scope ในการแข่งขัน ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ “ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ”
ที่วันนี้หลาย ๆ แบรนด์ มีการให้บริการมากมายหลายอย่าง เช่น
-การให้บริการรับฝาก ถอนเงินแก่ลูกค้า
-การรับชำระค่าบริการต่าง ๆ
-การรับส่งสินค้า พัสดุ
-การรับชำระค่าตั๋วเครื่องบิน ตั๋วคอนเสิร์ต
ซึ่งการเพิ่มสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้าไป ทำให้ธุรกิจก็ยังมีต้นทุนเท่าเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ธุรกิจสามารถให้บริการได้หลากหลายมากขึ้น
เช่น ถ้าลูกค้ามาจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ร้าน
ก็อาจจะซื้อของกิน หรือเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อตามไปด้วย โดยที่ทางร้านก็สามารถให้บริการได้ โดยที่ยังมีต้นทุนค่าเช่าที่ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน ในปริมาณเท่า ๆ เดิม
และนี่ก็คือความหมายและการประยุกต์ใช้ของ 2 คำสำคัญทางธุรกิจอย่าง Economies of Scale และ Economies of Scope
ที่สำคัญมากในโลกของการทำธุรกิจ
เพราะการหาวิธีผลิตเยอะ ๆ ให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และการหาวิธีให้บริการได้หลากหลาย โดยต้นทุนเท่า ๆ เดิม
มันคือวิธีที่จะช่วยให้ธุรกิจของเราแข่งขันได้ดีขึ้น และทำกำไรได้สูงสุด นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.