กลยุทธ์ “หมดแล้วหมดเลย” สูตรสำเร็จการตลาด ที่หลายแบรนด์ชอบใช้

กลยุทธ์ “หมดแล้วหมดเลย” สูตรสำเร็จการตลาด ที่หลายแบรนด์ชอบใช้

18 ก.ค. 2022
กลยุทธ์ “หมดแล้วหมดเลย” สูตรสำเร็จการตลาด ที่หลายแบรนด์ชอบใช้ | BrandCase
ของที่หายาก มีจำนวนจำกัด มักเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ และยิ่งหายากเท่าไร ของสิ่งนั้นก็มักจะยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น
เรื่องนี้จึงทำให้หลายธุรกิจมีการนำจุดนี้ มากำหนดเป็นกลยุทธ์การขายสินค้าที่เรียกว่า กลยุทธ์การทำการตลาดด้วย Limited Edition
หรือก็คือ การผลิตสินค้าบางรุ่น ให้มีจำนวนจำกัด ขายหมดแล้วก็หมดเลย ไม่ทำเพิ่มอีก
ทำไม กลยุทธ์นี้ เราถึงเห็นหลายแบรนด์ชอบนำมาใช้ทำการตลาด ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง
ในด้านการตลาด กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่บริษัทจำนวนมากมายมักนำมาใช้ เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มกำไร
ถ้าจะนำมาจับกลุ่ม จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ
1. กลยุทธ์แบบผลัก (Push Strategy)
ธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ จะพยายามผลักดันให้ลูกค้ามาซื้อของ หรือใช้บริการของตนเอง ผ่านวิธีทางการตลาดต่าง ๆ
เช่น ใช้วิธีกระจายสินค้าให้ครอบคลุมพื้นที่ขายให้ได้มากที่สุด, ส่งตัวแทนขายเข้าไปถึงพื้นที่ของลูกค้า, สื่อสารสินค้าและบริการ ผ่านสื่อโฆษณาต่าง ๆ
2. กลยุทธ์แบบดึง (Pull Strategy)
เป็นกลยุทธ์ที่ต้องการ “สร้างแรงจูงใจ” ให้ลูกค้าเกิดความต้องการ อยากมาซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจ ผ่านวิธีทางการตลาดต่าง ๆ
เช่น การพยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ จนลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์
รวมไปถึงการผลิตสินค้าในจำนวนจำกัด เพื่อให้สินค้านั้น ๆ กลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ยาก หรือ “Limited Edition” ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์แบบดึง เช่นกัน
โดยกลยุทธ์แบบ Limited Edition นั้น นอกจากจะผลิตสินค้าในจำนวนจำกัด และจำหน่ายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แล้ว ก็ยังช่วยไปถึงในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ด้วย
เพราะด้วยปริมาณการผลิตที่จำกัด ทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มราคาที่แตกต่างไปจากราคาสินค้าปกติ
อีกทั้งยังช่วยสร้างคุณค่าทางจิตใจของลูกค้า ให้รู้สึกพิเศษกับสินค้าชิ้นนั้น ๆ ที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ
อย่างเช่น Louis Vuitton บริษัทที่ทำธุรกิจแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็มักจะนำกลยุทธ์นี้ไปใช้ในระหว่างการเปิดตัวผลิตภัณฑ์
โดยการเสนอคอลเลกชันสินค้าบางอย่าง ในจำนวนจำกัด เพื่อกระตุ้นความรู้สึกให้ลูกค้าอยากมาซื้อสินค้าของบริษัท
เพราะสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าแบรนด์หรู อย่าง Louis Vuitton นั้น การจำกัดจำนวนในการผลิต ทำให้สินค้ากลายเป็นแรร์ไอเทม หายาก จะทำให้แบรนด์ดูมีคุณค่าในสายตาของลูกค้า
Starbucks เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของโลก ก็เป็นอีกบริษัทที่ชอบนำกลยุทธ์ Limited Edition มาใช้
เพราะ Starbucks มักจะมีแก้วกาแฟ กระเป๋า ตุ๊กตา ที่จะมีเฉพาะช่วงเทศกาล หรือฤดูกาลต่าง ๆ มาขายให้แก่ลูกค้าที่เป็นสาวก และชอบสะสมสินค้าของ Starbucks
กลยุทธ์นี้ ยังพยายามใช้ประโยชน์จากหลักจิตวิทยาของลูกค้าที่เกี่ยวกับ “FOMO” หรือ Fear Of Missing Out ซึ่งเป็นความรู้สึกกลัวที่จะพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไป
อย่างเช่น หลายคนน่าจะได้ยินเพื่อน ๆ พูดกันว่า
“ถ้าเราไม่ซื้อนาฬิการุ่นนี้ในตอนนี้ ต่อไปมันจะไม่มีขายแล้ว และหากต้องการ ก็จะต้องไปซื้อจากตลาดรอง ที่ต้องจ่ายในราคาแพงขึ้น”
ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้สินค้า Limited Edition หลาย ๆ ครั้ง ถูกซื้อไปหมดอย่างรวดเร็ว..
สรุปแล้ว เราคงบอกได้ว่า กลยุทธ์ “หมดแล้วหมดเลย” หรือการขายของแบบ Limited Edition ก็ถือเป็นหนึ่งสูตรสำเร็จด้านการตลาด ที่หลาย ๆ แบรนด์ชอบนำมาใช้กันตลอด
แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ตาม ที่ตัดสินใจจะนำเอากลยุทธ์ Limited Edition มาใช้ ก็ต้องพยายามนำเสนอสินค้าที่ดี และมีคุณภาพให้แก่ลูกค้าด้วย
เพราะถ้าสินค้าของเราไม่ดีอย่างที่ลูกค้าต้องการ ต่อให้สินค้าของเราจะหายาก หรือมีจำนวนจำกัด
สินค้านั้น ก็คงไม่มีใครต้องการอยู่ดี..
References:
-https://www.mbaknol.com/marketing-management/limited-editions-as-a-marketing-strategy/
-https://squeezegrowth.com/louis-vuitton-marketing-and-business-strategies/
-https://www.facebook.com/StarbucksLimitedLover/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.