สรุปหลักบริหาร ของ คิมบอมซู เจ้าของ Kakao มหาเศรษฐีแถวหน้า ของเกาหลีใต้

สรุปหลักบริหาร ของ คิมบอมซู เจ้าของ Kakao มหาเศรษฐีแถวหน้า ของเกาหลีใต้

25 ต.ค. 2021
สรุปหลักบริหาร ของ คิมบอมซู เจ้าของ Kakao มหาเศรษฐีแถวหน้า ของเกาหลีใต้ | THE BRIEFCASE
“คิมบอมซู” คือ บุคคลที่รวยสุดในเกาหลีใต้ ที่ร่ำรวยแซงหน้าหลายคนในกลุ่มแชโบล กลุ่มทุนใหญ่ของเกาหลีใต้ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เขาเป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่งที่ชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์ และสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยตนเอง
ด้วยการทำธุรกิจที่มีชื่อว่า Kakao บริษัทที่มีบริการหลากหลาย เรียกว่าแทบจะอยู่ในทุกลมหายใจของคนเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันแช็ต, กระเป๋าเงินดิจิทัล, ธนาคารดิจิทัล, บริการแผนที่ 3 มิติ เจ้าแรกของเกาหลีใต้
แล้ว คิมบอมซู มีวิธีในการบริหารอย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ คือ วิสัยทัศน์ที่เฉียบขาด และการลงมือในเวลาที่ถูกต้อง
คิมบอมซู ถือว่าเป็นคนที่มีความเฉียบแหลมทางธุรกิจคนหนึ่ง เพราะเขารู้ดีว่าเมื่อใดคือเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำธุรกิจ
หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ อย่าง Seoul National University คุณคิมก็ได้เข้าไปร่วมงานกับ Samsung SDS ในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์
อย่างไรก็ตาม คุณคิมได้คาดการณ์ไปล่วงหน้าว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตและเกมออนไลน์จะเติบโตขึ้น
เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ Samsung SDS ในปี 1997 เพื่อมาเปิดร้านอินเทอร์เน็ตชื่อ Mission No. 1 ในกรุงโซล ในขณะเดียวกัน คุณคิมก็พัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตคาเฟขาย
แต่ด้วยความรอบรู้ในธุรกิจอินเทอร์เน็ต
เขาจึงได้ก่อตั้ง Hangame Communications ธุรกิจเกมออนไลน์
ที่มีจุดเด่นเป็นเกมแนวกาสิโนที่เล่นง่าย และมีภาพกราฟิกคุณภาพสูง ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
โดยเจาะตลาดที่กลุ่มวัยรุ่น และคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตคาเฟบ่อย ๆ
จากนั้นคุณคิมก็ได้ควบรวม Hangame กับ Naver เว็บพอร์ทัลที่มีเซิร์ชเอนจิน คล้ายกับ Yahoo! และ Google ในปี 2000 และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “NHN”
โดย Naver ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อมาแข่งกับเว็บพอร์ทัลอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ในขณะนั้น ที่ชื่อว่า Daum ซึ่งเปิดตัวก่อน 2 ปี
จนในปี 2005 คุณคิมเดินทางไปที่ซิลิคอนแวลลีย์ เพื่อเตรียมนำบริษัทเกมขยายไปสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา
แต่กลายเป็นว่าไม่ประสบความสำเร็จ
โดยความล้มเหลวในครั้งนี้ ทำให้คุณคิมตัดสินใจลาออกจาก NHN ในปี 2007
แต่นี่กลับเป็นจุดเริ่มต้นทางธุรกิจครั้งใหม่ ที่ทำให้เขากลายมาเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันแช็ตที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้
เพราะการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ทำให้คุณคิมรู้จักกับ iPhone เป็นครั้งแรก
และเขาก็รู้เลยว่า สิ่งนี้จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
หลังจากที่คุณคิมได้รู้จักกับ iPhone เขาและพนักงานของบริษัท IWILAB ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่เขาก่อตั้งขึ้นในระหว่างที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหลังจากที่ iPhone เครื่องแรกของ Apple ปล่อยออกมา
โดย คิมบอมซู ได้ถามกับทีมงานของตัวเองว่า “เราจะต้องสร้างแอปพลิเคชันแบบไหน”
ซึ่งบทสรุปก็คือ “แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร”
หลังจากที่ตกลงกันได้ คิมบอมซู ก็ได้แบ่งพนักงานออกเป็น 3 ทีม
โดยที่แต่ละทีมต้องสร้างบริการส่งข้อความของตนเองขึ้นมา คือ
- KakaoTalk ซึ่งเน้นไปที่การแช็ตผ่านมือถือแบบตัวต่อตัว
- KakaoAgit บริการสนทนากลุ่ม
- KakaoSuda แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
จากนั้นคุณคิมปล่อยให้ทั้ง 3 แอปพลิเคชันแข่งขันกันเองว่าคนเกาหลีชอบแอปพลิเคชันไหนที่สุด
และ KakaoTalk ก็ได้รับชัยชนะไป
หลังจากนั้น KakaoTalk ก็ได้กลายเป็นโปรแกรมส่งข้อความมือถือที่คนเกาหลีใช้มากที่สุด
และได้รุกเข้าสู่ธุรกิจอื่น ๆ อีก เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล, แผนที่ 3 มิติ, บริการเรียกแท็กซี่
โดย เอริค คิม ผู้ร่วมก่อตั้ง Goodwater Capital ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“คิมบอมซู มองขาดตั้งแต่วันแรกว่า แอปพลิเคชันแช็ตสามารถเติบโตไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกหลายธุรกิจ เช่น เกม, อีคอมเมิร์ซ, สื่อ หรือธุรกิจทางการเงิน”
2. สยายปีกความมั่งคั่ง ด้วยการควบรวมกิจการ
จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ Kakao เติบโตอย่างก้าวกระโดดในเกาหลีใต้ก็คือ
การตัดสินใจควบรวมกิจการกับ Daum คู่แข่งของ Naver
โดยใช้ชื่อบริษัทว่า Daum Kakao ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Kakao
และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ Kakao กับ Naver กลายมาเป็นคู่แข่งกันในทุกประเภทผลิตภัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งส่วนใหญ่ Kakao ก็มักจะเป็นผู้ริเริ่มในหลายบริการ จนมีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ ยกตัวอย่างเช่น
- KakaoPay กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ผูกกับบัญชีใน KakaoTalk
- KakaoTaxi แอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น KakaoT
- KakaoMap ผู้ให้บริการแผนที่ 3 มิติ เจ้าแรกของประเทศ
- KakaoBank ธนาคารดิจิทัล ซึ่งสามารถทำกำไรได้ภายใน 2 ปี
นอกจากนี้ Kakao ยังได้ขยายธุรกิจให้หลากหลาย เช่น การเจาะตลาดธุรกิจบันเทิง
ผ่านการเข้าซื้อ Loen Entertainment และเปลี่ยนชื่อเป็น Kakao M
โดยปัจจุบัน Kakao M เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลอย่างมากในวงการบันเทิงเกาหลี
เพราะมีบริษัทในเครือมากมาย อย่างเช่น เป็นเจ้าของ Melon แพลตฟอร์มสตรีมเพลงออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศ หรือค่ายเพลง เช่น EDAM ที่เป็นต้นสังกัดของศิลปินหญิงเดี่ยว IU
และบริษัทต้นสังกัดนักแสดงชื่อดังอีกมากมาย เช่น Management SOOP ต้นสังกัดของพระเอกกงยู
นอกจากนี้ Kakao ก็ยังขยายบริการไปในกลุ่มสื่อบันเทิงอื่น ๆ อีก เช่น Kakao Games และ KakaoPage
ที่มีเว็บตูน ซึ่งก็ได้ควบรวมกับ Kakao M และเปลี่ยนชื่อเป็น Kakao Entertainment
จะเห็นได้ว่า บริการทั้งหมดในเครือ Kakao จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีใต้แทบจะทุกลมหายใจ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร เราก็ต้องเกี่ยวข้องกับ Kakao ทั้งสิ้น
3. เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ทันสมัย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่
เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบชนชั้นมาก
ถ้าเราเคยดูซีรีส์เกาหลี เราจะเห็นว่า พนักงานในบริษัทมักจะเรียกชื่อผู้อื่นด้วยตำแหน่ง
เช่น เรียกว่า ท่านประธาน หรือคุณนักสืบ
แต่ที่ Kakao คิมบอมซู ให้พนักงานเรียกเขาว่า ไบรอัน ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของเขา
และให้พนักงานเรียกชื่อของเพื่อนร่วมงาน แทนการเรียกด้วยตำแหน่ง
นั่นก็เป็นเพราะว่า คิมบอมซู ต้องการรื้อถอนวัฒนธรรมองค์กรแบบมีลำดับชั้นของประเทศออกไป
เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ เข้ามาร่วมงานแทน
ทั้งหมดนี้ก็คือตัวอย่างหลักการทำธุรกิจของ คิมบอมซู
ที่ทำให้บริษัทของเขาเติบโต จนเข้าไปอยู่ในทุกลมหายใจของคนเกาหลีใต้
และส่งผลให้เด็กชายคนหนึ่ง ที่ชีวิตยากจน อาศัยในห้องเช่าแคบ ๆ
ได้กลายมาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยแถวหน้า และมีทรัพย์สินกว่าสามแสนล้านบาท ในทุกวันนี้..
References
-https://news.mt.co.kr/mtview.php?no=2011101714343203791
-http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20160905000937
-https://www.forbes.com/sites/ryanmac/2015/03/02/kakaotalk-billionaire-brian-kim-mobile-messaging-global-competition/?sh=4d0cf464fdd3
-https://www.reuters.com/article/us-kakao-m-a-loen-ent-idUSKCN0UP01620160112
-https://www.ft.com/content/1c3fbdb6-9f1d-11e5-85ae-8fa46274f224
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.