สรุป 5 เทรนด์โฆษณาและช็อปปิง จาก Nielsen ประเทศไทยพูดถึง ลาบูบู้ กับ Pop Mart มากสุดในโลก

สรุป 5 เทรนด์โฆษณาและช็อปปิง จาก Nielsen ประเทศไทยพูดถึง ลาบูบู้ กับ Pop Mart มากสุดในโลก

17 พ.ค. 2024
สรุป 5 เทรนด์โฆษณาและช็อปปิง จาก Nielsen ประเทศไทยพูดถึง ลาบูบู้ กับ Pop Mart มากสุดในโลก | BrandCase
วันนี้นีลเส็นประเทศไทย (Nielsen) เปิดเผยข้อมูลเทรนด์ผู้บริโภคคนไทย ผ่านงานสัมมนา Unlock the secrets behind Thailand marketing trend 2024 โดยคุณรัญชิตา ศรีวรวิไล Thailand Vertical Lead - Advertiser and Agency 
ประเด็นสำคัญภายในงานนี้ พูดถึง 3 เทรนด์หลัก ๆ ได้แก่ 
-เทรนด์เม็ดเงินโฆษณาในไทย และเอเชียแปซิฟิก
-เทรนด์การช็อปปิงของคนไทย และเทรนด์การตลาดสำหรับแบรนด์
รายละเอียดเทรนด์เหล่านี้ มีอะไรที่นักการตลาดเอาไปใช้ได้บ้าง ?BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. แนวโน้มเม็ดเงินด้านโฆษณาในประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิก
จากการสำรวจของ Nielsen Global Annual Marketer Survey ในปี 2024 พบว่า ถึงแม้เศรษฐกิจโลกไม่ดี และมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 
แต่นักการตลาดในเอเชียแปซิฟิก​ (APAC) กว่า 82% มีแพลนที่จะอัดเงินเพิ่มค่าโฆษณาให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะมีการเพิ่มเงินค่าโฆษณาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ 
โดยช่องทางดิจิทัลยอดนิยม 5 อันดับแรก ที่นักการตลาดวางแผนจะทุ่มงบโฆษณาให้ ได้แก่ 
- โซเชียลมีเดีย (Social media) 80% 
- การค้นหา (Search) 76%
- วิดีโอ (Video:Online/Mobile) 76% 
- ป้ายโฆษณาที่แสดงในแบบออนไลน์ (Display:Online/Mobile) 75%   
- สื่อหรือทีวีที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (OTT-TV/CTV) 74% 
โดยประเภทของสื่อที่นักการตลาดวางแผนจะเพิ่มงบโฆษณา แบ่งเป็น
- สื่อดิจิทัล Digital Media (DigitalMedia) 64% 
- สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) 36% 
นอกจากนี้ Nielsen ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงบโฆษณาที่ใช้กับสื่อดิจิทัลที่มีมากถึง 64% กลับพบว่า การทำโฆษณาบนสื่อดิจิทัลที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก​ เกิด Wasted ทางการโฆษณา มากถึง 33% และเฉพาะในประเทศไทยเกิดความสูญเปล่าในการทำโฆษณามากถึง 44%
Waste ในที่นี้หมายความว่า โฆษณาที่ทำไป เข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการ 
เช่น แคมเปญโฆษณาผลิตภัณฑ์เฉพาะผู้หญิง แทนที่โฆษณานี้จะโชว์ให้ลูกค้าผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์
แต่กลับไปโชว์ในกลุ่มลูกค้าผู้ชายมากกว่า
ทำให้ต้นทุนโฆษณาที่แบรนด์เสียไป ไม่สามารถเทิร์นกลับมาเป็นยอดขายได้ตามที่มันควรจะเป็น  
ในส่วนของประเทศไทยพบว่า 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ มีการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณา เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 
โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 37,919 ล้านบาท และสื่อที่มีการลงทุนเงินโฆษณามากที่สุดยังคงเป็น ทีวี ส่วนสื่อที่มีการเติบโตสูงสุดคือ โรงภาพยนตร์
2. ไฮไลต์ที่น่าสนใจของการใช้เม็ดเงินโฆษณาในไทยที่เพิ่มขึ้น ได้แก่
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุดในปีนี้ คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม +21% 
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด คือ กลุ่มรถยนต์ +45% โดยเฉพาะโฆษณารถในเซกเมนต์ HEV, รถกระบะ และรถ EV 
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มสินค้า Luxury +300% โดยกลุ่มนี้ใช้เงิน 77% ไปกับสื่อนอกบ้าน (Out of home) 
- กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือ +112% ซึ่งแบรนด์ที่มีการใช้เงินในกลุ่มนี้มากที่สุดคือ แบรนด์ Samsung 
- ส่วนกลุ่มที่มีการใช้เงินโฆษณาลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ กลุ่ม Online Marketplace -64% 
3. เทรนด์การโฆษณาที่น่าสนใจในช่วงต้นปี 2024 
Nielsen บอกว่าเทรนด์การตลาดที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งสื่อที่กำลังมาแรงในเอเชียแปซิฟิก คือ Retail Media Network หรือการลงโฆษณาผ่านเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน ของบริษัทค่าปลีก ห้างร้านต่าง ๆ 
เช่น เซ็นทรัลกรุ๊ป ทำแอปพลิเคชัน CENTRAL สำหรับช็อปปิงออนไลน์
เนื่องจากปัจจุบันคนเอเชียซื้อของออนไลน์มากขึ้น ยอดการเข้าถึงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันออนไลน์จึงโตขึ้นด้วย 
ซึ่งนักการตลาดในเอเชียแปซิฟิก (APAC) กว่า 79% มีแผนที่จะลงเงินโฆษณาในกลุ่มนี้มากขึ้น
นอกจากนี้อีกเทรนด์การตลาดที่ถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมาคือ ซูปเปอร์แอปพลิเคชันต่าง ๆ เริ่มมีกิมมิกในการโฆษณาภายในแอป 
เช่น GrabAds ที่มีการพ่วงแบรนด์เนอร์โฆษณาของ Lancôme ห้อยท้ายรถ ตอนผู้ใช้งานดูแผนที่บนแอป เพื่อเพิ่มการรับรู้-จดจำแบรนด์สินค้า
4. คนไทยชอบเขียน และเชื่อรีวิวบนอินเทอร์เน็ต
จากผลสำรวจของ Nielsen พบว่า 37 % ของ Gen Z และ Gen Y ชอบเขียนรีวิวบนอินเทอร์เน็ต และกว่า 50% ของคนกลุ่มนี้เชื่อในรีวิว และไปซื้อสินค้าตามรีวิวในอินเทอร์เน็ต 
ซึ่งหมายความว่าความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
เช่น เทรนด์ลาบูบู้ในเมืองไทย เกิดขึ้นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่การพูดถึงเป็นจำนวนมาก 
โดยจากข้อมูลผ่าน Nielsen Social Listening พบว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพูดถึง ลาบูบู้มากที่สุดในโลก เกือบ 4 แสนครั้ง
โดยกลุ่มคนที่พูดถึงลาบูบู้มากที่สุด 63.5% เป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปี และแพลตฟอร์มที่พูดถึงเรื่องนี้มากที่สุดคือ TikTok 
5. เป้าหมายทางการตลาด ปี 2024 ในมุมมองนักการตลาด
จากการสำรวจ Nielsen Global Annual Marketer Survey ปี 2024 พบว่า 
31% ของนักการตลาดทั่วเอเชียแปซิฟิก (APAC) โหวตให้ Brand Awareness หรือก็คือการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำการตลาด 
รองลงมาเป็น อัตราการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) 26% และ การรักษาลูกค้าเก่า (Customer retention) 19%
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาใช้เงินจริง นักการตลาดกว่า 80% จะโฟกัสที่ Brand Performance มากกว่า 
เช่น การทำโปรโมชันหรือการทำให้รายได้โตขึ้นในระยะสั้น และลดการสร้างแบรนด์ลง (Brand building)
ซึ่งจากการศึกษาของ Nielsen พบว่า หากไม่มีการลงทุนในเรื่องของการสร้างแบรนด์ ฐานการซื้อจะค่อย ๆ ลดลง 
ในทางกลับกันถ้ามีการลงทุนสร้างแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้ฐานการซื้อเพิ่มขึ้นได้มากถึง 2-3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการขายในระยะสั้น..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.