สรุปไอเดีย 5 กลยุทธ์การตลาด สำหรับคนขี้เบื่อ จากงาน Turn Bore To Beat

สรุปไอเดีย 5 กลยุทธ์การตลาด สำหรับคนขี้เบื่อ จากงาน Turn Bore To Beat

13 พ.ค. 2024
ไม่กี่วันที่ผ่านมา วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาที่ชื่อว่า การตลาดของคนขี้เบื่อ Turn Bore To Beat 
ภายในงานได้แชร์ผลสำรวจที่ได้จากการเจาะลึกอินไซต์ของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนขี้เบื่อ 
พร้อมแนะนำกลยุทธ์และเทคนิคการตลาดที่แบรนด์สามารถนำไปใช้เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้
5 ไอเดีย กลยุทธ์การตลาด สำหรับคนขี้เบื่อ จากงาน Turn Bore To Beat มีอะไรบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. Adjustable ให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนการใช้งานสินค้าได้ ตามบุคลิกและไลฟ์สไตล์ในแต่ละวัน 
ตัวอย่างเช่น 
- แบรนด์รองเท้า Crocs ที่ให้ลูกค้าเลือกเปลี่ยน Jibbitz น่ารัก ๆ ได้ตามใจชอบ ทำให้ได้รองเท้าที่มีเฉพาะของเราคนเดียว 
- แบรนด์กำไลข้อมือ Pandora ที่สามารถเลือก Charm มาตกแต่งได้ตามสไตล์ที่ต้องการ 
- แบรนด์นาฬิกา Apple Watch ที่เปลี่ยนสายได้ เพื่อให้ลูกค้าหยิบมา Mix and Match ปรับลุคได้ไม่ซ้ำตามแต่ละโอกาส
2. Personalized ปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับ บุคลิกของลูกค้าแต่ละคน 
ตัวอย่างเช่น 
- แบรนด์เครื่องสำอางมีการให้คำแนะนำเฉดสี Personal Color ที่เหมาะกับบุคลิกของคนคนนั้น 
- แบรนด์น้ำหอม Jo Malone ที่สามารถผสมกลิ่นขึ้นมาเป็นกลิ่นใหม่ เพื่อให้ลูกค้ามีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
3. Socializing สร้างสถานที่และบรรยากาศ ให้ลูกค้าพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันได้ 
ตัวอย่างเช่น 
- ร้านอาหาร คาเฟ่ ที่มีหนังหรือรายการกีฬาให้ดู มีบอร์ดเกมให้เล่น มีเสียงเพลงหรือดนตรีสดให้ฟัง
- แบรนด์ H&M ที่เปิดห้องคาราโอเกะที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ลูกค้ามาซื้อเสื้อผ้าและสังสรรค์ได้ด้วย
- แบรนด์ Pocky จากไทยกูลิโกะ เปิด Pocky Cafe เพื่อเพิ่มยอดขายและใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น
4. Renting Model สร้างแพลตฟอร์มธุรกิจเช่าใช้ชั่วคราว และปรับเปลี่ยนสินค้าได้เรื่อย ๆ 
ตัวอย่างเช่น 
- ร้านเช่าชุดเพื่อออกงานหรือไปเที่ยวที่ถ่ายลงโซเชียลมีเดียได้ไม่ซ้ำ 
- แพลตฟอร์ม VIENN ที่ส่งต่อสินค้าแฟชั่นมือสอง 
- ธุรกิจ Kinto ของโตโยต้า ที่เปิดบริการให้เช่ารถยนต์รายเดือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนรถได้หลาย ๆ รุ่น โดยไม่ต้องซื้อ
5. Marketainment ใช้ความสนุกสนาน ความบันเทิง มาเชื่อมกับการตลาด 
เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ชอบถูกยัดเยียด แต่ต้องดึงดูดความสนใจ สร้างความเพลิดเพลิน หรือสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้ก่อน แล้วจึงจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อได้ 
ตัวอย่างเช่น 
- Shopertainment โดยการไลฟ์สดขายของ และมีกิจกรรมให้ร่วมสนุก  
- Edutainment กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่สอดแทรกความสนุกสนาน
นอกจากนี้ ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ยังได้แชร์มุมมองทางการตลาดทิ้งท้ายไว้ว่า 
การที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจเร็ว ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใด ๆ เป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส 
โดยจะเป็นความเสี่ยงในแง่ที่ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันสูง ต้องปรับตัวและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หมดยุคการเป็นเสือนอนกิน 
โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง ยิ่งต้องปรับตัวทั้งเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ 
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสแจ้งเกิดของแบรนด์ใหม่ ๆ หรือ SMEs ที่สามารถทำสินค้าให้มีคุณภาพทัดเทียมกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้ 
เพราะคนขี้เบื่อไม่ยึดติดแบรนด์ ถ้าคุณภาพดี มีจุดขายที่โดนใจ ราคาไม่แพงเกินไปก็พร้อมจะลองซื้อมาใช้ได้ไม่ยาก
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าของสินค้าและบริการต้องตระหนักไว้เสมอ คือ ไม่ว่าลูกค้าจะขี้เบื่อแค่ไหน
ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าต้องการแค่ความแปลกใหม่หรือแตกต่างเท่านั้น 
เนื่องจากความต้องการที่แท้จริงของการมองหาอะไรใหม่ ๆ ในลูกค้ากลุ่มนี้ มักจะควบคู่ไปกับความคาดหวังที่จะได้สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีและถูกใจยิ่งกว่าเดิม และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนใจเมื่อเจอสิ่งที่ใช่มากกว่า 
ดังนั้นแม้ว่าลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ใหม่สักกี่ครั้ง 
แต่หากแบรนด์นั้นมีสินค้าหรือบริการไม่ดีพอ ผู้บริโภคก็พร้อมจะกลับมาใช้แบรนด์เดิม 
สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถครองใจและมัดใจลูกค้าได้อย่างยั่งยืน 
คือการรักษาและควบคุมคุณภาพสินค้า และบริการให้ดีอยู่เสมอด้วย นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.