กลยุทธ์ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของ ซีเล็คทูน่า พัฒนากระป๋องให้บางลง รีไซเคิลได้ 100%

กลยุทธ์ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของ ซีเล็คทูน่า พัฒนากระป๋องให้บางลง รีไซเคิลได้ 100%

17 มี.ค. 2024
กลยุทธ์ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของ ซีเล็คทูน่า พัฒนากระป๋องให้บางลง รีไซเคิลได้ 100% | BrandCase
รู้ไหมว่า ในปีปีหนึ่งนั้น โลกของเราสร้างขยะพลาสติกปีละกว่า 400 ล้านตัน
ส่วนหนึ่งเป็นขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์ถึง 36%
หรือคิดเป็นจำนวนราว 144 ล้านตัน
ที่น่าสนใจคือ มีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล
นั่นหมายความว่า รวม ๆ แล้วโลกของเรามีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นนับร้อยล้านตันในทุก ๆ ปี
แล้ววิธีแก้ปัญหาคืออะไร ?
เรื่องนี้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของบริษัทไทย คือ Thai Union Group หรือ ไทยยูเนี่ยน
ที่กำลังพยายามลดการใช้พลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังมีการปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น
แล้วไทยยูเนี่ยนทำอย่างไร
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ทาง Thai Union Group หรือ ไทยยูเนี่ยน หนึ่งในผู้ผลิตแบรนด์อาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่ของโลก
และเป็นเจ้าของแบรนด์ปลากระป๋องที่คนไทยหลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกัน
เช่น ปลากระป๋อง ซีเล็คทูน่า, ปลาเส้น ฟิชโช, ทูน่ากระป๋อง John West และอีกหลากหลายแบรนด์
ไทยยูเนี่ยน มีพันธกิจของบริษัทตอนนี้ ชื่อว่า Seachange 2030
โดยอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ คือ ตั้งเป้าพัฒนาในทุกมิติ ทั้งเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน ก็ถูกรวมอยู่ในพันธกิจนี้
ซึ่งเรื่องบรรจุภัณฑ์ บริษัทบอกว่ามีเป้าหมาย 3 อย่าง
บรรจุภัณฑ์ของทุกแบรนด์ในเครือนั้น จะต้องเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิล, ใช้ซ้ำ และสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ (Reusable, Recyclable or Compostable) ได้ทั้งหมด 100% โดยตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2568ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่รับจ้างผลิตนั้น ทางผู้ผลิตจะต้องผลิตตามแนวทางบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน อย่างน้อย 60% ภายในปี 2573ตั้งเป้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไม่ต่ำกว่า 30% ภายในปี 2568
โดยระหว่างทางนี้ ทางไทยยูเนี่ยน ก็มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ไป อย่างเช่น
ค้นคว้าวิจัยวัสดุใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับการนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์
โดยตอนนี้ก็มีการลงทุนด้านการวิจัยในการทำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเดียวกันทั้งหมด หรือที่เรียกว่า mono PE แทนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุหลากหลาย
ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะช่วยให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนการแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ
เริ่มทดลองใช้บรรจุภัณฑ์แบบ mono PE แล้ว ในบางแบรนด์
เช่น OMG Meat แบรนด์ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแบบแช่แข็ง โดยโครงการนำร่องนี้ได้มีการทำควบคู่ไปกับโครงการอื่น ๆ รวมถึงในบรรจุภัณฑ์ที่รับจ้างผลิตด้วย
ซึ่งจากผลสำรวจที่ผ่านมานั้น พบว่า โครงการนี้ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ในสินค้าแช่แข็งกว่า 500 รายการ
โดยคาดว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในปี 2567
ลดความหนาของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากกระป๋องเหล็กและอะลูมิเนียม
ซึ่งความหนาที่ลดลงนั้น จะช่วยเรื่องของการลดใช้ทรัพยากรได้
โดยในช่วงที่ผ่านมา ทางไทยยูเนี่ยนก็ได้มีการลดความหนาของตัวกระป๋องมาตั้งแต่ปี 2561
ตัวอย่างเช่น กระป๋องเหล็กแบบ 307
ในปี 2561 มีความหนาอยู่ที่ 0.17 มิลลิเมตร
ปัจจุบันปี 2566 ถูกลดความหนาลงมาอยู่ที่ 0.14 มิลลิเมตร
เริ่มศึกษาเรื่องการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์แล้ว
โดยมีแบรนด์นำร่องอย่าง John West ซึ่งจะเน้นที่ตัวพลาสติกแบบถ้วยเป็นหลัก และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้จริงได้ ภายในปี 2568
เอาจริง ๆ ไทยยูเนี่ยน ถือว่าเป็นบริษัทไทยที่ต้องปรับตัวเรื่อง ESG เยอะมาก ๆ เพราะเป็นบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากการขายในต่างประเทศเยอะมาก
คือเกือบ 90% ของรายได้บริษัท มาจากต่างประเทศ
และต้องทำการค้าขายกับหลายประเทศเยอะมาก ที่ต้องการมาตรฐานในด้านนี้สูง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป
ซึ่งสุดท้าย ก็สะท้อนมาที่ตัวมาตรฐานสินค้า
รวมถึงความรับผิดชอบในการทำธุรกิจ ที่ต้องพัฒนาให้สูงขึ้น และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ไปในตัว..
References
-รายงานเพื่อความยั่งยืน 2565 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
-BIODIVERSITY: ANNUAL PROGRESS UPDATE 2566 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
-https://www.thaiunion.com/th/products-and-brands/our-brands
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.