อธิบายเรื่อง วงจรเงินสด ทำไมยิ่งน้อย ยิ่งดี แล้วทำไม CPALL ถึงมี “กระแสเงินสดติดลบ”

อธิบายเรื่อง วงจรเงินสด ทำไมยิ่งน้อย ยิ่งดี แล้วทำไม CPALL ถึงมี “กระแสเงินสดติดลบ”

7 มี.ค. 2024
อธิบายเรื่อง วงจรเงินสด ทำไมยิ่งน้อย ยิ่งดี แล้วทำไม CPALL ถึงมี “กระแสเงินสดติดลบ” | BrandCase
เวลาเราซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แน่นอนว่าทางร้าน จะรับเงินสดจากเราไปเลยทันที
หรือไม่ก็ตัดเงินผ่านแอป 7-Eleven โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 วัน
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าสำหรับคู่ค้า ที่นำของมาวางขายใน 7-Eleven คู่ค้าเหล่านั้นจะยังไม่ได้รับเงินทันที
โดยเฉลี่ยแล้ว คู่ค้าที่นำของมาขายใน 7-Eleven
จะต้องรอถึง 53 วัน หรือเกือบ 2 เดือน
เพื่อรับเงินจากบริษัท CPALL ที่เป็นเจ้าของ 7-Eleven
แล้วทำไม ผู้ผลิตสินค้า ถึงยอมที่จะให้ 7-Eleven ติดหนี้
โดยการส่งของไปวางขายก่อน แล้วค่อยรับเงินค่าสินค้าทีหลัง
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “วงจรเงินสด”
ซึ่งก็คือ ตัวชี้วัดสภาพคล่องของเงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle อธิบายสั้น ๆ ก็คือ
รอบระยะเวลาที่ธุรกิจใช้ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้า ไปจนถึงวันที่ได้รับเงินเข้ามาในกิจการ โดยคิดจาก
ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาชำระหนี้
ยกตัวอย่างวงจรเงินสดของ CPALL เจ้าของ 7-Eleven
มีระยะเวลาขายสินค้า หรือระยะเวลาที่สินค้าค้างสต็อก 29 วันมีระยะเวลาเก็บหนี้จากลูกค้า 1 วันมีระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้า 53 วัน
ดังนั้น วงจรเงินสดของ CPALL ก็คือ
29 วัน + 1 วัน - 53 วัน เท่ากับ -23 วัน
ตีความง่าย ๆ คือ บริษัทรับเงินจากลูกค้า และสามารถนำเงินก้อนนี้
ไปใช้จ่ายหมุนเวียนได้มากถึง 23 วัน ก่อนที่จะนำไปจ่ายให้กับคู่ค้าที่เป็นแบรนด์สินค้าต่าง ๆ
สำหรับตัวอย่างของ CPALL ก็จะเห็นได้ว่า..
ถ้าวงจรเงินสดมีค่าน้อย หรือยิ่งติดลบมาก ๆ แปลว่าบริษัทนั้นมีสภาพคล่องสูง
เพราะบริษัทขายของได้ไว และสามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ก่อนที่จะเอาเงินนั้น ไปจ่ายให้กับคู่ค้าอีกที
ในทางกลับกัน ถ้าวงจรเงินสดมีค่ามาก หรือเป็นบวกมากเท่าไร แปลว่าบริษัทยิ่งขาดสภาพคล่อง
เพราะบริษัทต้องเอาเงินไปจมกับต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ
ก่อนที่จะนำสินค้าไปวางขาย และรอรับเงินจากลูกค้า
เมื่อเป็นอย่างนี้ หลาย ๆ บริษัท จึงต้องพยายามทำให้ธุรกิจของตัวเองมีสภาพคล่องสูง หรือทำให้วงจรเงินสดมีค่าน้อย ๆ
ซึ่งท่าประจำของหลาย ๆ บริษัท ที่นิยมทำก็คือ
การยืดระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้าให้ยาวนานมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “การขอ Credit Term”
ซึ่งบริษัทจะเจรจาต่อรองกับคู่ค้า เช่น ร้านขายวัตถุดิบ หรือซัปพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า
เพื่อขอ Credit Term
หรือขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ส่วนใหญ่จะใช้เป็นจำนวนวัน เช่น 15 วัน, 30 วัน หรือ 60 วัน
โดยบริษัทจะนำสินค้าไปใช้ก่อน แล้วค่อยนำเงินมาจ่ายให้กับคู่ค้าตาม Credit Term หรือจำนวนวัน ที่ได้ตกลงกันไว้กับคู่ค้านั่นเอง
ซึ่งการขอ Credit Term ของแต่ละบริษัท จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอำนาจในการเจรจาต่อรอง ของบริษัทกับคู่ค้าของเรา
อย่างที่ได้บอกไปว่า CPALL เจ้าของ 7-Eleven สามารถยืดระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้า ได้นานมากถึง 53 วัน
นั่นหมายความว่า 7-Eleven มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าที่สูงมาก ๆ โดยมี Credit Term เพื่อยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้กับคู่ค้า ได้นานเป็นเดือน ๆ
ซึ่งในมุมของคู่ค้าเองก็ต้องยอม..
เพราะ 7-Eleven มีสาขามากกว่า 14,000 สาขา สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลายล้านคนทั่วประเทศไทย
ดังนั้น แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่ส่งของไปขายใน 7-Eleven ต่างก็ให้ Credit Term กับ 7-Eleven คือยอมเก็บหนี้ช้า ๆ หน่อย
เพื่อแลกกับการที่จะได้นำสินค้าแบรนด์ตัวเอง เข้าไปวางขายบนเชลฟ์ของ 7-Eleven ทั้ง 14,000 สาขา
เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
เช่นเดียวกับห้างค้าปลีกอื่น ๆ ในประเทศไทย
ก็มีอำนาจต่อรองสูง เพราะมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากเช่นเดียวกัน อย่าง
CPAXT เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต Lotus’s และห้างค้าส่ง Makro
สามารถยืดระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้า ได้นานถึง 55 วันCRC เจ้าของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน รวมถึงร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง
เช่น Tops, B2S, Power Buy และ ไทวัสดุ
สามารถยืดระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้า ได้นานถึง 79 วัน
ซึ่งถ้าให้ยกตัวอย่างคู่ค้าขาประจำ ที่เอาสินค้าของตัวเองไปฝากขายในห้าง และร้านสะดวกซื้อเหล่านี้
ก็คงเป็นแบรนด์ที่เราคุ้นหูกันดี เช่น อิชิตัน, เถ้าแก่น้อย, ขนมเบนโตะ หรือมาม่า
แล้วเมื่อห้างและร้านสะดวกซื้อ มีระยะเวลาชำระหนี้กับคู่ค้านาน
ในทางกลับกัน คู่ค้าก็มีระยะเวลารอเก็บหนี้ จากห้างและร้านสะดวกซื้อมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น
อิชิตันกรุ๊ป หรือ ICHI เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มอย่าง
ชาเขียวอิชิตัน, เย็นเย็น และตันซันซู มีระยะเวลาเก็บหนี้ 65 วันศรีนานาพร หรือ SNNP เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มเจเล่ไลท์
และปลาหมึกอบปรุงรสเบนโตะ มีระยะเวลาเก็บหนี้ 93 วันNSL Foods หรือ NSL ผู้ผลิตเบเกอรี และแซนด์วิช ส่งให้ 7-Eleven มีระยะเวลาเก็บหนี้ 49 วันเถ้าแก่น้อย หรือ TKN เจ้าของแบรนด์สาหร่ายทอดกรอบชื่อดัง มีระยะเวลาเก็บหนี้ 49 วันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TFMAMA เจ้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า มีระยะเวลาเก็บหนี้ 54 วัน
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ระยะเวลาเก็บหนี้ของบริษัทเหล่านี้ เป็นระยะเวลาเก็บหนี้โดยเฉลี่ยเท่านั้น
โดยบริษัท ไม่ได้ผลิตสินค้าขายส่ง ให้กับห้างและร้านสะดวกซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย
แต่ถ้ามองโดยภาพรวมแล้ว เราก็จะเห็นว่า คู่ค้าที่ผลิตสินค้าส่งไปขายตามห้าง
และร้านสะดวกซื้อ มักจะมีระยะเวลาเก็บหนี้มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ คู่ค้าหลายราย จึงต้องแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ด้วยการเจรจาต่อรองกับซัปพลายเออร์ ที่เป็นผู้ขายวัตถุดิบให้กับแบรนด์สินค้านั้น ๆ อีกทีหนึ่ง
เพื่อขอ Credit Term หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ที่เป็นต้นทุนค่าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าออกไป
ไม่ต่างจาก 7-Eleven ที่ยืดระยะเวลาในการชำระเงิน กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่นำมาวางขายนั่นเอง
ซึ่งถ้าเราไปดู Credit Term หรือระยะเวลาการชำระหนี้ของแบรนด์สินค้าเจ้าดัง เราก็จะเห็นว่า
อิชิตัน กรุ๊ป มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 41 วันศรีนานาพร เจ้าของขนม เบนโตะ มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 96 วันNSL Food เจ้าของแซนด์วิชอบร้อน มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 56 วันเถ้าแก่น้อย มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 68 วันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เจ้าของ มาม่า มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า 44 วัน
ซึ่งการยืดระยะเวลาดังกล่าว ก็จะทำให้บริษัทมีวงจรเงินสดน้อยลง
หรือมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นได้ โดยเราจะเห็นได้จาก วงจรเงินสดของบริษัทอย่าง
อิชิตัน กรุ๊ป หรือ ICHI
มีระยะเวลาขายสินค้า 30 วันมีระยะเวลาเก็บหนี้ 65 วันมีระยะเวลาชำระหนี้ 41 วัน
วงจรเงินสดของอิชิตัน กรุ๊ป คือ 30 วัน + 65 วัน - 41 วัน เท่ากับ 54 วัน
เถ้าแก่น้อย หรือ TKN
มีระยะเวลาขายสินค้า 80 วันมีระยะเวลาเก็บหนี้ 49 วันมีระยะเวลาชำระหนี้ 68 วัน
วงจรเงินสดของเถ้าแก่น้อย คือ 80 วัน + 49 วัน - 68 วัน เท่ากับ 61 วัน
ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นอีกเคส ที่เล่าเรื่องราวของธุรกิจ
เกี่ยวกับการบริหารสภาพคล่อง ของเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
ซึ่งบริษัทไหนที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่า อย่าง 7-Eleven
ก็ย่อมมีความได้เปรียบ ในแง่ของการนำเงินจากลูกค้ามาจ่ายหมุนเวียน ก่อนที่จะนำไปจ่ายหนี้ให้กับคู่ค้าทีหลัง
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีวงจรเงินสดมาก ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นบริษัทที่ไม่ดี
เพราะถ้าบริษัทสามารถบริหารสต็อก ระยะเวลาในการผลิต รวมถึงบริหารเงินหมุนเวียนได้ดี
ธุรกิจก็จะราบรื่น ไม่มีปัญหาเลย..
References
-https://www.set.or.th/
-https://www.ofm.co.th/blog/online-credit-term-officemate/
-รายงาน 56-1 ปี 2022 บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป
-รายงาน 56-1 ปี 2022 บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง
-รายงาน 56-1 ปี 2022 บมจ.ซีพี ออลล์
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.