โมเดลธุรกิจ AirJapan มีเครื่องบิน 1 ลำ ทำเงินจาก 3 ประเทศ

โมเดลธุรกิจ AirJapan มีเครื่องบิน 1 ลำ ทำเงินจาก 3 ประเทศ

29 ก.พ. 2024
โมเดลธุรกิจ AirJapan มีเครื่องบิน 1 ลำ ทำเงินจาก 3 ประเทศ | BrandCase
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในวงการสายการบิน
คือสายการบิน AirJapan ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์จากญี่ปุ่น
ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน ตอน 00.15 น. เส้นทางบินจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่าเครื่องบินขัดข้อง ไม่พร้อมบิน
และทำให้เที่ยวบินที่เหลือของสายการบิน AirJapan อีก 3 เที่ยวบิน ที่จะต้องบินในวันถัดไป ได้รับผลกระทบไปด้วย
เพราะ AirJapan แจ้งว่า เครื่องบินที่ใช้บิน “มีเพียงแค่ลำเดียวเท่านั้น” และไม่มีเครื่องบินสำรองคอยให้บริการ
แล้ว AirJapan สามารถบินให้บริการ โดยใช้เครื่องบินเพียงแค่ลำเดียวได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
สายการบิน AirJapan เป็นสายการบินโลว์คอสต์น้องใหม่
ของเครือ ANA Holdings ซึ่งเป็นเครือสายการบินชั้นนำของญี่ปุ่น
ซึ่ง ANA Holdings ได้ปลุกปั้นสายการบินนี้ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมานี้เอง
โดยแรกเริ่มเดิมทีก็ต้องบอกว่า ANA Holdings
มีสายการบินโลว์คอสต์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือสายการบิน Peach Aviation
โดยสายการบิน AirJapan ที่ ANA Holdings เป็นผู้ปลุกปั้นนั้น จะแตกต่างจากสายการบิน Peach Aviation
ตรงที่สายการบิน Peach Aviation จะเน้นเส้นทางบินแบบโลว์คอลต์
คือเน้นบินเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศใกล้เคียงอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน
ส่วนสายการบิน AirJapan จะเป็นสายการบินที่ ANA Holdings ตั้งใจปั้นขึ้นมา
เพื่อให้เป็นสายการบินโลว์คอสต์ ที่เน้นบินเส้นทางบินในต่างประเทศไกล ๆ และสามารถบินได้ในราคาประหยัด
ซึ่งสายการบินนี้ เหมาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
อย่างประเทศไทย และประเทศเกาหลีใต้ ที่ชอบเดินทางไปญี่ปุ่นบ่อย ๆ
และนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศไกล ๆ ในราคาที่ถูกลง
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 หรือเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบิน AirJapan ได้เปิดตัวเที่ยวบินแรก
คือเที่ยวบินจากกรุงเทพมหานคร (สนามบินสุวรรณภูมิ) ไปกรุงโตเกียว (สนามบินนาริตะ)
โดย AirJapan มีแผนจะสั่งซื้อเครื่องบิน จากสายการบิน ANA
ซึ่งเป็นสายการบินหลักของ ANA Holdings มาทั้งหมด 6 ลำ
และนำเครื่องบินทั้ง 6 ลำ มาขออนุญาตบิน
กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
แต่พอบินจริง ๆ กลับพบว่า
สายการบิน AirJapan มีเครื่องบิน สำหรับบินเพียงแค่ลำเดียวเท่านั้น
โดยเครื่องบิน 1 ลำของสายการบิน AirJapan นั้น เป็นเครื่องบิน Boeing 787-8 จำนวน 324 ที่นั่ง
ซึ่งจะมีเฉพาะชั้นประหยัด หรือ Economy Class ด้วยราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 4,350 บาท
ซึ่งจะมีเส้นทางบินไป - กลับทั้งหมด 2 เส้นทางใน 3 ประเทศ นั่นคือ
เที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ)-โตเกียว (สนามบินนาริตะ)เที่ยวบินไป-กลับ โตเกียว (สนามบินนาริตะ)-โซล (สนามบินอินชอน)
โดย AirJapan จะใช้เวลาเพียง 1 วัน
บินวนไป - กลับทั้ง 2 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินเพียงลำเดียวเท่านั้น
แล้ว AirJapan ใช้เครื่องบินเพียงลำเดียวบินไป-กลับทั้ง 2 เส้นทางบินได้อย่างไร ?
ถ้าเราไปดูเวลาบิน เราก็จะเห็นว่าเครื่องบินสามารถบินวนครบทั้ง 4 เที่ยว
ภายในเวลา 24 ชั่วโมงพอดี โดยที่
เวลา 00:15 - 08:10 น. เที่ยวบิน NQ002 บินจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปสนามบินนาริตะเวลา 10:55 - 13:30 น. เที่ยวบิน NQ021 บินจากสนามบินนาริตะ ไปสนามบินอินชอนเวลา 14:40 - 16:45 น. เที่ยวบิน NQ022 บินจากสนามบินอินชอน ไปสนามบินนาริตะเวลา 17:55 - 23:15 น. เที่ยวบิน NQ001 บินจากสนามบินนาริตะ มายังสนามบินสุวรรณภูมิ
จะเห็นได้ว่าเครื่องบินลำเดียว จะบินวนลูปอย่างนี้ในทุก ๆ วัน
และจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อลงจอดตามหลุมจอดเครื่องบินของสนามบินต่าง ๆ
โดยเครื่องบิน จะหยุดบินที่สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น
เพื่อเช็กระบบเครื่องบินในทุก ๆ วันอังคาร ก่อนจะเริ่มบินจากสนามบินนาริตะ มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในวันพุธ
ซึ่งถ้าให้ลองวิเคราะห์
โมเดลสายการบินที่มีเครื่องบินลำเดียว แต่บินคุ้มครบ 3 ประเทศ BrandCase ก็พอจะวิเคราะห์ได้ดังนี้
การที่เครื่องบินบินขึ้น 1 ครั้ง ก็จะต้องมีต้นทุนต่าง ๆ เกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าเงินเดือนกัปตันและแอร์โฮสเตส
ซึ่งต้นทุนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็ถือเป็นต้นทุนคงที่ เพราะไม่ว่าเครื่องบิน จะบรรจุผู้โดยสารมากหรือน้อย ก็จำเป็นต้องมีต้นทุนเหล่านี้เกิดขึ้น
ดังนั้นสายการบิน AirJapan จึงต้องการให้เครื่องบินนั้น บรรจุผู้โดยสารให้เต็มลำมากที่สุด
เพื่อขายตั๋วโดยสารให้ได้เยอะ ๆ จนยอดขายตั๋วเกินจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ซึ่งจะทำให้รายได้ จากการขายตั๋วผู้โดยสาร ไหลลงไปเป็นกำไรให้บริษัท
สายการบิน สามารถใช้เครื่องบินเพียงลำเดียว บินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยกลางวัน จะบินจากญี่ปุ่นไปเกาหลีใต้ และกลางคืน จะบินจากญี่ปุ่นมาที่ประเทศไทย
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้เครื่องบินไม่จำเป็นต้องจอดค้าง ในสนามบินใดสนามบินหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้เครื่องบินไม่ต้องจอดค้างหลุมจอดนานจนเกินไป
เพราะเครื่องบิน จะจอดรอที่หลุมจอด เพียงเพื่อเติมน้ำมัน ขนย้ายสัมภาระ และขนถ่ายผู้โดยสารเท่านั้น
จึงทำให้ต้นทุน ที่เป็นค่าใช้จ่ายหลุมจอดสนามบินนั้นน้อยลงนั่นเอง
เนื่องจากสายการบิน AirJapan เป็นสายการบินโลว์คอสต์
ดังนั้น สายการบินจึงไม่มีบริการด้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือบริการอื่น ๆ
ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ต้นทุนค่าอาหาร และบริการบนเครื่องบินนั้นถูกตัดออกไป
และสายการบิน ก็สามารถจำหน่ายตั๋วโดยสารได้ถูกลงนั่นเอง
อีกเหตุผลหนึ่งคือ การที่ AirJapan เป็นสายการบินโลว์คอสต์น้องใหม่ของ ANA Holdings
AirJapan อาจจะนำเครื่องบินมาทดลองตลาดผู้โดยสารใหม่ ๆ ก่อน
โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เน้นเที่ยวในราคาประหยัด
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า การทดลองนำเครื่องบินจากสายการบิน ANA มาบินเพียงลำเดียวนั้น
ก็เป็นไปได้ด้วยดี
เพราะตอนนี้ตั๋วโดยสารของสายการบิน AirJapan ได้ขายหมดไปจนถึงวันที่ 10 มีนาคมแล้ว
ซึ่งทาง AirJapan ก็ได้แจ้งว่า เครื่องบินลำที่ 2 จะมาอยู่ในฝูงบินภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
และภายในสิ้นปีนี้ สายการบิน AirJapan จะมีเครื่องบินครบทั้ง 6 ลำ
พร้อมกับ จะเพิ่มเส้นทางบินในอนาคต
คือจากสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ไปยังสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับข่าวดังเมื่อ 6 วันก่อน
ก็ต้องบอกว่าสายการบิน AirJapan ที่มีเครื่องบินเพียงแค่ 1 ลำคอยให้บริการในตอนนี้
และไม่มีเครื่องบินสำรองเวลาฉุกเฉินเลย
ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ AirJapan จะต้องเผชิญเช่นเดียวกัน
อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น ที่เครื่องบินเพียงลำเดียวของ AirJapan เกิดการขัดข้อง
จนไม่สามารถขึ้นบินได้ และต้องเทผู้โดยสารทั้งหมด 3 เที่ยวบิน ที่กำลังจะบินในวันถัดไป
ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากการลอยแพผู้โดยสาร เนื่องจากเครื่องบินต้องซ่อมบำรุงอย่างเร่งด่วนนี้
ก็จะส่งผลกระทบ ทั้งในเรื่องของรายได้จากค่าโดยสารที่จะต้อง Refund คืนให้แก่ลูกค้า
ไปจนถึงเรื่องของความน่าเชื่อถือของลูกค้า
ที่มีต่อสายการบิน AirJapan และสายการบิน ANA ในอนาคต
ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ ก็ถือเป็นอุทาหรณ์หนึ่งของสายการบินโลว์คอสต์
ลูกรักคนใหม่ของ ANA Holdings ที่สายการบิน AirJapan ต้องเผชิญ..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในอดีตสายการบิน AirJapan เคยเป็นสายการบิน
ของบริษัท World Air Network โดยเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2544
ต่อมาสายการบิน AirJapan ก็ได้ควบรวมกิจการเข้ากับสายการบินเครือ ANA ในปี 2553
โดยทั้งคู่อยู่ภายใต้ ANA Holdings
ซึ่งในเวลาต่อมา ANA Holdings ก็ตัดสินใจรีแบรนด์ AirJapan
โดยปรับโมเดลสายการบินใหม่ ให้เป็นรูปแบบ Premium Lowcost
ที่ให้บริการบินในต่างประเทศ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคอื่นด้วย
โดยคู่แข่งหลักของ AirJapan ก็คือสายการบิน ZIPAIR ซึ่งเป็นสายการบินโลว์คอสต์
ของ Japan Airline นั่นเอง
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.