ถ้าเจ้าของ ไวไว อยู่ในตลาดหุ้น จะมีมูลค่ากิจการ 2,500 ล้าน

ถ้าเจ้าของ ไวไว อยู่ในตลาดหุ้น จะมีมูลค่ากิจการ 2,500 ล้าน

8 ม.ค. 2024
ถ้าเจ้าของ ไวไว อยู่ในตลาดหุ้น จะมีมูลค่ากิจการ 2,500 ล้าน | BrandCase
ถ้าถามว่า แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หลายคนคุ้นเคย มีชื่ออะไรบ้าง ?
เชื่อว่านอกจาก มาม่า แล้ว อีกชื่อที่นึกถึงตามมา ต้องมีชื่อของ “ไวไว”
โดยเจ้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว คือบริษัทชื่อว่า โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย
ถ้าลองคิดเล่น ๆ ว่าเจ้าของ ไวไว อยู่ในตลาดหุ้นไทย จะมีมูลค่าเท่าไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นหนึ่งในอาหารที่อยู่ติดตู้กับข้าวของคนไทย มานานหลายทศวรรษ
โดยเริ่มเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในปี 2515 หลังจากที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวันมาก่อน
และเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว
คือ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2515 หรือเมื่อ 52 ปีที่แล้วเช่นเดียวกัน
ช่วงแรกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายแบรนด์ รวมทั้งไวไว ยังถือเป็นของใหม่สำหรับคนไทย
เพราะคนไทยสมัยนั้นยังคุ้นเคยกับ บะหมี่ในร้านบะหมี่ทั่วไป หรือบะหมี่รถเข็นมากกว่า
ประกอบกับราคาที่สูงกว่า ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
แต่ในปี 2516 เกิดภาวะเหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจข้าวของมีราคาแพง
สินค้าบางอย่างขาดแคลน ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น
รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด มีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเส้นหมี่อบแห้ง
ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไวไว” และ “ควิก”
โดยเฉพาะ ไวไว รสหมูสับต้มยำ และบะหมี่ ควิก รสต้มโคล้ง
ซึ่งบริษัทถือเป็นผู้นำบะหมี่ 2 รสชาตินี้ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตบะหมี่รสชาติดังกล่าวออกสู่ตลาดเป็นเจ้าแรก
ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยแล้ว
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว ยังได้รับความนิยมในประเทศเนปาลด้วย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 51%
โดยที่ ไวไว ได้รับความนิยมในเนปาล
เกิดจากการที่คุณ Binod Chaudhary นักธุรกิจชาวเนปาล สังเกตเห็นชาวเนปาลจำนวนมากที่เดินทางกลับจากประเทศไทย มักนิยมหิ้วบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวกลับมาด้วย
จนเขาสนใจและขอเข้ามาเจรจากับผู้บริหารของ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด เพื่อนำไวไวเข้ามาขายในเนปาล
และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว เติบโตและเป็นที่นิยมในเนปาล นั่นเอง
ผลประกอบการของ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด
เจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว และ ควิก
ปี 2564 รายได้ 6,797 ล้านบาท กำไร 306 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 7,734 ล้านบาท กำไร 125 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
แต่ถ้าให้เราลองจินตนาการว่า
ถ้าเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะมีมูลค่ากิจการเท่าไร ?
วิธีคือ ดูเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายกัน
คือ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TFMAMA ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า
โดย ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มี P/E Ratio หรืออัตราส่วน มูลค่าหลักทรัพย์ เทียบกับ กำไรสุทธิ ของบริษัท
อยู่ที่ประมาณ 20 เท่า
นั่นก็หมายความว่า จากกำไรปีล่าสุดของ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด
ถ้าเจ้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว อยู่ในตลาดหุ้น
จะมีมูลค่ากิจการ ประมาณ 2,500 ล้านบาท นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ในปี 2565 ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก ระบุว่า
ทั่วโลกมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สูงถึง 121,000 ล้านซอง ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยที่คนไทยมีสถิติบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง 3,870 ล้านซองต่อปี สูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เลยทีเดียว..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.