สรุปวิธีคิด “ระยะเวลาคืนทุน” ใช้หาว่าทำธุรกิจ นานแค่ไหน ถึงจะคุ้มทุน

สรุปวิธีคิด “ระยะเวลาคืนทุน” ใช้หาว่าทำธุรกิจ นานแค่ไหน ถึงจะคุ้มทุน

2 ธ.ค. 2023
สรุปวิธีคิด “ระยะเวลาคืนทุน” ใช้หาว่าทำธุรกิจ นานแค่ไหน ถึงจะคุ้มทุน | BrandCase
ในการทำธุรกิจนั้น นอกจากจะต้องหา Break Even Point หรือจุดที่ต้องขายสินค้าปริมาณขั้นต่ำ เพื่อให้ไม่ขาดทุนแล้ว
อีกตัวเลขหนึ่งที่ต้องรู้ว่าธุรกิจที่เราจะทำนั้น จะคุ้มหรือไม่ ก็คือเรื่องของ “ระยะเวลาคืนทุน” หรือที่เรียกว่า Payback Period
ระยะเวลาคืนทุน คิดอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ระยะเวลาคืนทุน หรือ Payback Period อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ระยะเวลาตั้งแต่เราเริ่มลงทุน จนถึงวันที่เราได้กำไร เท่ากับเงินลงทุนที่เราลงไป
สูตรในการคำนวณและการตีความระยะเวลาคืนทุน ก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน นั่นคือ
ระยะเวลาคืนทุน (ปี) = เงินลงทุนทั้งหมด / เงินสดรับสุทธิต่อปี
โดยเงินลงทุนทั้งหมดนี้ หมายถึง เงินที่คาดการณ์ว่าจะจ่าย สำหรับการลงทุนในธุรกิจนี้ทั้งหมด
ในขณะที่เงินสดรับสุทธิต่อปี หมายถึง เงินสดที่เหลือหลังจากหักเงินสดจ่าย ในแต่ละปีออก
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ กำไร นั่นเอง
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่าง
เช่น ถ้าเราจะลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซัก โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย สำหรับการลงทุนในครั้งนี้ทั้งหมด 5,000,000 บาท
ขณะที่มีเงินสดรับสุทธิต่อเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว อยู่ที่ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท
ดังนั้นจากสูตร เมื่อแทนค่าเข้าไปจะได้ว่า 5,000,000 หารด้วย 600,000 ซึ่งจะมีค่าเท่ากับ 8.3
ซึ่งความหมายของตัวเลข 8.3 ก็คือ
ธุรกิจร้านสะดวกซักนี้ ใช้เวลาประมาณ 8.3 ปี ถึงจะทำให้เราได้กำไรคืน เท่ากับเงินที่ลงทุนไปนั่นเอง
หลังจากนั้น เราก็สามารถนำตัวเลขนี้ ไปเทียบเคียงกับโครงการอื่นที่เรากำลังพิจารณาอยู่ได้
ซึ่งปกติแล้วถ้าโครงการมีลักษณะคล้าย ๆ กัน แล้วอันไหนมีระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่า ก็จะเป็นโครงการที่น่าสนใจกว่า
โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระยะเวลาคืนทุน จะมี 3 ตัวคือ เงินลงทุนเริ่มแรก เงินสดรับ และเงินสดจ่าย
ถ้าเราใช้เงินลงทุนเริ่มแรกน้อย และเราได้รับเงินสดสุทธิต่อปีมาก ก็จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนยิ่งสั้น
ในทางตรงข้าม ถ้าเราใช้เงินลงทุนเริ่มแรกมาก และเราได้รับเงินสดสุทธิต่อปีน้อย ระยะเวลาคืนทุนก็จะยิ่งยาว นั่นเอง..
© 2025 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.