กรณีศึกษา บางนา-ตราด จากถนนกลางนา สู่ถนนเส้นหลัก อุตสาหกรรมไทย

กรณีศึกษา บางนา-ตราด จากถนนกลางนา สู่ถนนเส้นหลัก อุตสาหกรรมไทย

16 พ.ย. 2023
กรณีศึกษา บางนา-ตราด จากถนนกลางนา สู่ถนนเส้นหลัก อุตสาหกรรมไทย | BrandCase
ถนนบางนา-ตราด ทุกวันนี้ กลายเป็นถนนสายที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงศูนย์การค้าขนาดใหญ่
-ศูนย์การค้า อย่างเช่น เมกาบางนา เซ็นทรัลบางนา
-โรงงานขนาดใหญ่ อย่างเช่น โรงงานประกอบรถยนต์ NISSAN และโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ YAMAHA
ถนนบางนา-ตราด ยังเป็นเส้นทางหลัก ที่ทุกคนต้องใช้เดินทาง ไปยังจังหวัดทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดชลบุรี
แต่รู้หรือไม่ ? ว่าเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ถนนบางนา-ตราด ไม่ได้มีภาพจำแบบนี้
เพราะเป็นเพียงถนน 2 เลน รอบ ๆ พื้นที่เป็นทุ่งนา
แล้วถนนบางนา-ตราด กลายมาเป็นถนนสายทำเลทองอย่างวันนี้ ได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ถนนบางนา-ตราด อีกชื่อหนึ่งคือ ถนนเทพรัตน
ถนนสายนี้เริ่มต้นสร้างช่วงประมาณปี 2510 เพื่อใช้เป็นทางลัด สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทาง ไปจังหวัดทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดชลบุรี
โดยสามารถใช้เป็นเส้นทาง เพื่อเลี่ยงถนนสุขุมวิทสายเก่า ที่จะต้องผ่านตัวจังหวัดสมุทรปราการก่อน
โดยถนนบางนา-ตราด มีเส้นทางตั้งแต่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ตัดเป็นทางตรง ผ่านอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ
และยาวไปถึงอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา สิ้นสุดบริเวณแยกต่างระดับหนองไม้แดง หรือบริเวณตลาดนินจาอมตะ ในจังหวัดชลบุรี
ถนนบางนา-ตราด เริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี 2512
ซึ่งตอนนั้น ยังเป็นถนน 2 เลน รอบ ๆ ล้อมด้วยทุ่งนา ใกล้เมืองหน่อยก็จะมีแค่ตึกแถว หรืออาคารพาณิชย์เท่านั้น
จนกระทั่งในเวลาต่อมา พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มมีโรงงานและคลังสินค้า ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
โดยเฉพาะในอำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง
เพราะเริ่มมีกลุ่มทุนต่างประเทศ มาจับจองทำเล ตั้งโรงงานริมถนนบางนา-ตราด
โดยโรงงานส่วนใหญ่ ก็เป็นอุตสาหกรรมหนัก อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น
-บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด
ฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ Yamaha ในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2507 บนถนนบางนา-ตราด กม. 21
-บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ฐานการผลิตรถยนต์แบรนด์ Nissan ในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2516 บนถนนบางนา-ตราด กม. 21
หรือแม้แต่กลุ่มทุนไทยเอง อย่างเช่น
-กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท
โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2520 บนถนนบางนา-ตราด กม. 16
นอกจากนี้ พื้นที่ใกล้ถนนบางนา-ตราด อย่างถนนสุขุมวิทสายเก่า ก็ยังมีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์หลายแห่ง
ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ TOYOTA, ISUZU และ HINO
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะในเวลาต่อมา ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจาก Plaza Accord ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2528
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นจากข้อตกลง Plaza Accord คือ ทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อที่สหรัฐอเมริกา จะได้ลดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นในตอนนั้น
ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้สินค้าญี่ปุ่นอย่างรถยนต์ ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ดูแพงขึ้นมากในสายตาชาวโลก
ญี่ปุ่น จึงแก้เกมด้วยการเลือกย้ายฐานการผลิต มายังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ
อย่างประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีค่าแรงถูก และตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ง่ายต่อการส่งออก
ซึ่งหนึ่งในทำเลที่ญี่ปุ่นชอบเลือกมาตั้งฐานการผลิต
ก็คือบริเวณใกล้ ๆ ถนนบางนา-ตราด ที่มีพื้นที่กว้างขวาง เหมาะจะตั้งโรงงานใหญ่ ๆ ได้ นั่นเอง..
จึงทำให้ถนนสายบางนา-ตราด กลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มากมาย
-นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นเมื่อปี 2531
-นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นเมื่อปี 2532
-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี 2532
โดยโรงงานส่วนใหญ่ที่มาตั้งในนิคมอุตสาหกรรม ก็ล้วนเป็นอุตสาหกรรมหนัก
เช่น โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ในบ้าน
ไปจนถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อป้อนให้กับลูกค้า
ที่เป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วน อย่างโรงงาน TOYOTA, YAMAHA หรือ ISUZU
เมื่อมีโรงงาน คลังสินค้า และนิคมอุตสาหกรรม ใกล้ถนนบางนา-ตราดเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับถนนสายนี้ ถูกใช้เป็นเส้นทางหลัก จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออก
จึงทำให้ถนนบางนา-ตราด ถูกขยายจนกลายเป็นถนนขนาดใหญ่ 8-12 เลน ในปี 2538
เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลในสมัยนั้น ก็ได้ผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์
เกี่ยวกับคมนาคม บริเวณถนนบางนา-ตราด หลายโครงการ
ยกตัวอย่างเช่น
-โครงการทางด่วนบูรพาวิถี คร่อมถนนบางนาตราด
ยาวไปจนถึงจังหวัดชลบุรี บริเวณใกล้ ๆ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
-โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ตรงพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ด้วยความที่รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับโครงการต่าง ๆ บริเวณถนนบางนา-ตราด
จึงทำให้ย่านบางนา ถูกคาดการณ์ว่า จะกลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ ต่อจากถนนสุขุมวิท
ทำให้ในช่วงเวลานั้น เจ้าสัวรายใหญ่ของไทย ก็เริ่มไปจับจองพื้นที่
สร้างศูนย์การค้า และศูนย์จัดแสดงสินค้า เพื่อรอความเจริญก่อนแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น
-ศูนย์การค้าเซ็นทรัลบางนา เปิดให้บริการในปี 2536
-ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เปิดให้บริการในปี 2540
ในเวลาต่อมา เมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ของรัฐบาล ก็ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น
-ทางด่วนบูรพาวิถี ได้เปิดใช้งานเมื่อปี 2541
-สนามบินสุวรรณภูมิ ได้เปิดใช้งานเมื่อปี 2549
นอกจากนี้ ก็ยังมีรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท หรือสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
ได้เปิดให้บริการ โดยวิ่งผ่านถนนบางนา-ตราด บริเวณแยกบางนา เมื่อปี 2554
จากการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้บริเวณถนนบางนา-ตราด
เริ่มมีศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ เข้าไปเปิดตัวมากขึ้น
อย่างเช่น
-คอนโดมิเนียม ลุมพินี เมกะซิตี้ บางนา สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2554
-ห้างอิเกีย บางนา อิเกียสาขาแรกในประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อปี 2554
-ศูนย์การค้าเมกาบางนา ศูนย์การค้าแนวราบ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อปี 2555
นอกจากนี้ ก็ยังมีโครงการอื่น ๆ ทยอยเปิด บริเวณถนนบางนา-ตราด เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ สุวรรณภูมิ, Chic Republic, The Little Walk บางนา และ Central Village
หรือโครงการล่าสุดอย่าง “ซามาเนีย พลาซ่า” ศูนย์ค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่
ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน มาขายให้กับคนไทยโดยตรง
และนอกจากย่านถนนบางนา-ตราด จะเป็นแหล่งโรงงาน เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้า และโครงการที่พักอาศัยขนาดใหญ่แล้ว
ปัจจุบัน ถนนบางนา-ตราด ก็ยังกลายเป็นถนนที่รับความเจริญเข้ามา ต่อจากย่านถนนสุขุมวิท โดยเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานหลายแห่ง
เช่น ตึก Bhiraj Tower at Bitec, ตึก AIA East Gateway, ตึก WHA Tower
อีกทั้งในส่วนของภาครัฐเอง ก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง รอบ ๆ ถนนบางนา-ตราด
ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลือง วิ่งคร่อมถนนศรีนครินทร์
ผ่านถนนบางนา-ตราด ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 ที่ผ่านมา
และโครงการในอนาคตอื่น ๆ ที่รอพัฒนา อย่างเช่น
-โครงการรถไฟฟ้า LRT หรือรถไฟฟ้ารางเบา สายสีเงิน จากแยกบางนา ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
-โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ฝั่งใต้ ติดถนนบางนา-ตราด
นอกจากนี้ ถนนบางนา-ตราด ยังเป็นเส้นทางที่เป็นประตูสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออก อย่างจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
จากโครงการต่าง ๆ รวมถึงการเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ศูนย์การค้า
และแหล่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะเติบโต
ทำให้ราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์ รอบบัญชีปี 2566-2569
ถนนบางนา-ตราด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
มีราคาประเมินอยู่ที่ 140,000-200,000 บาท ต่อตารางวา หรือตกไร่ละ 56-80 ล้านบาท
ถนนบางนา-ตราด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
มีราคาประเมินอยู่ที่ 45,000-100,000 บาท ต่อตารางวา หรือไร่ละ 18-40 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า พื้นที่ย่านถนนบางนา-ตราด กลายเป็นถนนทองคำไปแล้ว
และในอนาคต ก็จะมีโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมายอีก ไม่ว่าจะเป็น
The Forestias เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ มูลค่า 125,000 ล้านบาทของ MQDC
นับว่าเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่ 398 ไร่
Mega City Bangna เป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ รอบ ๆ ศูนย์การค้าเมกาบางนา
ซึ่งภายในโครงการก็จะมีทั้งศูนย์การค้า โรงเรียนนานาชาติ
ออฟฟิศ โรงแรม ศูนย์การประชุม ไปจนถึงคอนโดมิเนียม
Bangkok Mall ศูนย์การค้าใหม่ของเครือ The Mall Group บนถนนบางนา-ตราด
ตรงข้ามกับไบเทค บางนา ภายในก็จะมีอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย
และ Arena ไว้สำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต อยู่ในนั้นด้วย
โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม TRA Land บนพื้นที่กว่า 4,700 ไร่
บนถนนบางนา-ตราด กม. 32 หรือย่านบางพลี
ซึ่งโครงการนี้มีหัวเรือใหญ่คือ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด
หรือ FPIT ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาคลังสินค้า และนิคมอุตสาหกรรม ในเครือของเสี่ยเจริญ..
มาถึงตรงนี้ เราก็พอจะเห็นการเติบโต ของถนนบางนา-ตราด
โดยเริ่มต้นจาก 50 ปีก่อน ตอนที่ยังเป็นถนน 2 เลน
มาสู่การเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และฐานการผลิตขนาดใหญ่
พร้อมด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ของรัฐบาล อย่างทางด่วนและสนามบิน
ที่ช่วยให้พื้นที่รอบ ๆ ถนนบางนา-ตราด นั้นเติบโต จนกลายเป็นย่านธุรกิจ สำคัญย่านหนึ่ง
ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
และนักธุรกิจหลายราย ต่างก็มาจับจองพื้นที่ เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ
อย่างศูนย์การค้าเมกาบางนา ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว
ถ้าหากเมื่อ 30-40 ปีก่อน บรรพบุรุษของเรา มีที่ดินบนถนนบางนา-ตราด ติดมือสักแปลง
ในวันนี้มูลค่าของมัน ก็น่าจะเพิ่มขึ้นมามหาศาล เลยทีเดียว..
References
-Youtube : รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ LRT สายแรกของไทยเข้าสนามบิน | TECH LIFE
-https://www.ddproperty.com/areainsider/
-https://mqdc.com/irnews/654/the-forestias-mega-project
-https://www.prachachat.net/economy/news-1353074
-https://www.brandbuffet.in.th/2017/01/megacity-mixed-use-development/
-https://ieat-bangplee.jigsawgroups.work/th/history
-https://www.eeco.or.th/th/high-speed-rail-connecting-3-airports
-https://tb.co.th/article/home-knowledge/land-appraisal-value
-https://www.eeco.or.th/th/government-initiative/why-eec
-ราคาประเมินที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ โดยกรมธนารักษ์
-https://www.facebook.com/RetroCityStoryTelling/photos/a.109868233956678/162556325354535/?type=3
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.