กรณีศึกษา TACC ทำเงิน 1,400 ล้าน จากการผลิต ผงเครื่องดื่ม-ตู้กดน้ำ ให้ 7-Eleven

กรณีศึกษา TACC ทำเงิน 1,400 ล้าน จากการผลิต ผงเครื่องดื่ม-ตู้กดน้ำ ให้ 7-Eleven

26 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา TACC ทำเงิน 1,400 ล้าน จากการผลิต ผงเครื่องดื่ม-ตู้กดน้ำ ให้ 7-Eleven | BrandCase
ถ้าพูดชื่อบริษัท TACC หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเป็นใคร
แต่หลายคนจะเป็นลูกค้าของบริษัทนี้ โดยที่ไม่รู้ตัว
เพราะว่านี่คือ บริษัทที่ผลิต ผงเครื่องดื่มสำเร็จรูปให้ All Café และตู้กดเครื่องดื่มที่อยู่ใน 7-Eleven
และรู้ไหมว่า รายได้ทุก ๆ 100 บาทของ TACC มาจากร้าน 7-Eleven ถึง 92 บาท เลยทีเดียว
แล้วธุรกิจของ TACC เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง
TACC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่า บริษัท ที.เอ.ซี.เบฟเวอร์เรจ จำกัด
โดยเริ่มต้นจากการขายเครื่องดื่มเย็นในโถกด ให้กับทาง 7-Eleven
ซึ่งเครื่องดื่มเย็นในโถกดที่ว่านี้ จะอยู่ในรูปแบบผงปรุงสำเร็จ
แล้วขายให้ 7-Eleven นำไปชงใส่โถกดเองอีกที ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์นี้ก็ยังถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน
โดยหลังจากที่ทำผงเครื่องดื่มให้กับทาง 7-Eleven ทาง TACC ก็มีการขยายไปทำธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น
โดยมีแบรนด์ที่หลาย ๆ คนอาจจะรู้จัก เช่น
ชาเขียว Zenya (ตอนนี้เลิกผลิตไปแล้ว), กาแฟเพื่อสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก Vslim, เครื่องดื่มผงชง ตราสวัสดี
ต่อมาบริษัทก็อยากจะกลับมาโฟกัสที่ธุรกิจเครื่องดื่มมากขึ้น จึงได้ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกมาขายเพิ่มเติมใน 7-Eleven อีก 2 อย่าง นั่นก็คือ
-เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง และเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงตามฤดูกาล
ขายให้กับ All Café รวมทั้งหมดกว่า 13,000 สาขา ซึ่งมี 4 รสชาติหลัก ๆ ด้วยกัน คือ ชานม ชาเขียวนม
มัทฉะ ชามะนาว และชานมบุก
-เครื่องกดเครื่องดื่มร้อน หรือตู้ชงเครื่องดื่มร้อนแบบอัตโนมัติ ที่มีใน 7-Eleven บางสาขา
ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีของ TACC
ปี 2564 รายได้ 1,346 ล้านบาท กำไร 214 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 1,533 ล้านบาท กำไร 235 ล้านบาท
โดยทั้งเครื่องดื่มเย็นในโถกด, เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่ขายให้ All Café และเครื่องกดเครื่องดื่มร้อน หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Business to Business (B2B) นั้นคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 92% ของรายได้ทั้งหมด
คือหมายความว่า บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าให้ All Café และ 7-Eleven มากกว่า 1,400 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
คำถามต่อมาคือ แล้วสัดส่วนรายได้ ที่เหลืออีกราว 8% นั้น มาจากอะไร ?
TACC มีรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าที่บริษัทสร้างขึ้นมาเอง เช่น
-เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงตรา “ณ อรุณ”
-ไซรัปผลไม้ ตรา "ทรีว่า"
และขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ให้กับธุรกิจคาเฟต่าง ๆ รวมทั้งหมดกว่า 1,000 สาขา ไม่ว่าจะเป็น
-Jungle Café
-Arabitia
-Black Canyon
-กาแฟพันธุ์ไทย
นอกจากนี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า TACC นั้นยังเป็นตัวแทนอนุญาตให้ใช้สิทธิ์แครักเตอร์ ตัวการ์ตูนของบริษัทที่ชื่อว่า San-X
ซึ่งก็มีตัวละครชื่อดังต่าง ๆ เช่น รีลัคคุมะ, ซูมิกโกะกูราชิ, มาเมะโกมะ, Afro Ken
โดย TACC จะเป็นตัวแทนดูแลผู้ถือไลเซนส์ ครอบคลุม 7 ประเทศ นั่นก็คือ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา, เมียนมา, ลาว และเวียดนาม รวมระยะเวลาของสัญญาทั้งหมด 5 ปี
รวมถึงเป็นตัวแทนอนุญาตให้ใช้สิทธิ์สติกเกอร์ของคนไทย เช่น หมาจ๋า, Jay The Rabbit, Warbie Yamaในไลน์ด้วย
ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้เอง จะสามารถลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจของบริษัทได้มากขึ้น
และช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับทาง 7-Eleven เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนการพึ่งพารายได้จากกลุ่ม 7-Eleven นั้น
ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ 7-Eleven ยังมีแผนที่จะเปิดสาขาต่อไป ปีละประมาณ 700 สาขา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ซึ่งนี่คือโอกาสในการเติบโตให้แก่ TACC ที่จะขยายธุรกิจควบคู่ไปกับจำนวนสาขาของร้าน 7-Eleven ที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของ TACC
ที่มีรายได้กว่า 1,400 ล้านบาท จากการผลิต ผงเครื่องดื่ม-ตู้กดน้ำ ให้ All Café และ 7-Eleven ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.