กรุงเทพกรีฑา จากโซนบ้านพักนักกีฬา สู่ทำเลบ้านหรู ระดับ 100 ล้าน

กรุงเทพกรีฑา จากโซนบ้านพักนักกีฬา สู่ทำเลบ้านหรู ระดับ 100 ล้าน

22 ต.ค. 2023
กรุงเทพกรีฑา จากโซนบ้านพักนักกีฬา สู่ทำเลบ้านหรู ระดับ 100 ล้าน | BrandCase
กรุงเทพกรีฑา คือชื่อถนนอีกสายหนึ่งในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ชื่อว่า “กรุงเทพกรีฑา”
ย่านนี้ อดีตเคยเป็นที่ตั้งของบ้านพักนักกีฬาซีเกมส์
และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้า เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อทำบ้านหรู
ตัวอย่างเช่น
โครงการ VIVE กรุงเทพกรีฑา ของ LAND & HOUSES ราคาเริ่มต้น 36.8 ล้านบาท
โครงการ นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา ของแสนสิริ ราคา 50 ล้านบาท ไปจนถึง 95 ล้านบาท
โครงการ แซงค์ รอยัล กรุงเทพกรีฑา ของแอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป ราคา 50 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 100 ล้านบาท
จะเห็นว่าถนนสายนี้ เต็มไปด้วยโครงการบ้านหรู ที่ราคาตั้งแต่ หลายสิบล้าน ไปจนถึงระดับ 100 ล้านบาท
เรื่องราวของย่าน กรุงเทพกรีฑา กลายมาเป็นย่านทำเลทอง ของบ้านหรู ได้อย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
“กรุงเทพกรีฑา” คือชื่อถนนในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
เชื่อมระหว่างซอยรามคำแหง 24 หรือถนนหัวหมากกับถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ ที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี
ปัจจุบันกรุงเทพกรีฑาเป็นพื้นที่ที่มีหมู่บ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการบ้านหรู
แต่รู้หรือไม่ ว่าในอดีตย่านกรุงเทพกรีฑา เริ่มจากเป็นพื้นที่ห่างไกล
โครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชน และสิ่งอำนวยความสะดวก ยังไม่ค่อยจะสมบูรณ์
แต่จุดเปลี่ยนของถนนกรุงเทพกรีฑานั้น
เริ่มมาจาก “สมาคมกรุงเทพกรีฑา” ซึ่งเป็นสมาคมที่บริหารสนามกอล์ฟ ฟิตเนส ระดับไฮคลาส
ได้เปิดสนามกอล์ฟกรุงเทพกรีฑาขึ้น ในปี 2512
ผลจากการเปิดสนามกอล์ฟ ทำให้คนที่มีฐานะ ได้เข้ามาใช้เวลาทำกิจกรรมตีกอล์ฟ เล่นกีฬาร่วมกัน
ผู้คนจึงเริ่มรู้จักย่านกรุงเทพกรีฑากันมากขึ้น
ต่อมา กรุงเทพกรีฑา เริ่มกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย
โดยปี 2518 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาแหลมทอง หรือกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 8
โดยพื้นที่บริเวณกรุงเทพกรีฑา ก็ถูกเลือกให้เป็นสถานที่สร้างที่พักสำหรับนักกีฬา
จนกลายเป็น “หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง”
แล้วเมื่อการแข่งขันกีฬาจบลง บ้านที่สร้างไว้ก็ถูกขายต่อให้กับคนทั่วไป ที่สนใจหาซื้อ มาเป็นเจ้าของ
ซึ่งในเวลาต่อมา พื้นที่บริเวณนี้ก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเจ้า เริ่มซื้อที่ดินย่านนี้มาสะสม เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรร
ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐาน ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมพื้นที่แห่งนี้ ก็เช่น
ถนนศรีนครินทร์ เปิดใช้เมื่อปี 2529
เป็นถนนสายหลักฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่เริ่มจากแยกบางกะปิและไปสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี เปิดใช้เมื่อปี 2541
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ใช้เดินทางไปจังหวัดชลบุรี
ถนนกาญจนาภิเษก หรือถนนวงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร เปิดใช้เมื่อปี 2541
เป็นถนนเลี่ยงเมืองที่ใช้เดินทางไปจังหวัดสมุทรปราการ หรือจังหวัดปทุมธานีได้
สนามบินสุวรรณภูมิ เปิดใช้เมื่อปี 2549
รถไฟฟ้า Airport Rail Link เปิดใช้เมื่อปี 2553
เป็นรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท
ซึ่งการที่ย่านกรุงเทพกรีฑา อยู่ติดทั้งถนนใหญ่ ทางด่วน และใกล้รถไฟฟ้า คือสามารถเดินทางเข้า-ออกทั้งในเมืองและนอกเมืองได้สะดวกขึ้น
ทำให้เริ่มมีหมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นที่ย่านกรุงเทพกรีฑา และมีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น
และสิ่งที่ทำให้ที่ดินบริเวณกรุงเทพกรีฑาบูมขึ้นไปอีก นั่นคือ
การตัดถนนสายใหม่ คือ ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า หรือถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ ที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2562
โดยถนนสายนี้เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนหัวหมาก กับถนนเจ้าคุณทหาร
ถนนสายนี้ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้มากขึ้นไปอีก
คือ สามารถเดินทางจากถนนศรีนครินทร์ไปถนนร่มเกล้าได้ โดยไม่ผ่านแยกสัญญาณไฟจราจร หรือไม่ต้องติดไฟแดงเลยแม้แต่แยกเดียว
ซึ่งจากการตัดถนนสายใหม่นี้ ทำให้ที่ดินบริเวณถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่
จากเดิมหลาย ๆ ที่ เป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางออกสู่ถนนใหญ่ กลายเป็นทำเลทองใหม่ขึ้นมาในทันที
โดยราคาประเมินที่ดิน ก่อนตัดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า
ในช่วงปี 2555-2558 ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตารางวา
หลังจากมีการตัดถนน ราคาประเมินที่ดินก็เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17,000 บาทต่อตารางวา
ถือว่าราคาที่ดินบริเวณนั้น พุ่งขึ้นกว่า 70% เลยทีเดียว
และล่าสุดในปี 2566 นี้ ก็มีการเปิดใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้ ก็ได้ผ่านถนนศรีนครินทร์
และมี “สถานีศรีกรีฑา” ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนศรีนครินทร์ กับถนนกรุงเทพกรีฑา
ก็ยิ่งทำให้การเดินทางในพื้นที่แถบนั้น มีตัวเลือกมากขึ้นไปด้วย
นอกจากจะมีถนนใหญ่หลายสาย แถมมีรถไฟฟ้าแล้ว
ในอนาคต ก็ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับย่านกรุงเทพกรีฑามากขึ้นไปอีก
ตัวอย่างเช่น
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ที่คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2568
ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่อยู่แถบศรีนครินทร์ หรือบางกะปิ เดินทางเข้าเมืองได้สะดวกมากขึ้น
โครงการรถไฟฟ้าเอราวัน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นั่นคือ สนามบินดอนเมือง
สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572
นอกจากนี้ ย่านกรุงเทพกรีฑา ยังมีห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียน อยู่รอบ ๆ เช่น
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ห้างมาร์เก็ตเพลส กรุงเทพกรีฑา และศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางกะปิ
โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตันคอลเลจ
โรงเรียนนานาชาติ ไบรท์ตัน คอลเลจ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง โรงเรียนสาธิตรามคำแหง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
การที่ย่านกรุงเทพกรีฑา มีระบบคมนาคมที่ครบ และสิ่งอำนวยความสะดวกแทบจะทุกอย่าง
ทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ใหญ่หลายเจ้า เริ่มนำที่ดินที่เคยสะสมไว้บริเวณถนนกรุงเทพกรีฑา
มาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ
โดยเฉพาะโครงการบ้านเดี่ยวระดับ Luxury และ Super luxury มากขึ้น เช่น
โครงการ VIVE กรุงเทพกรีฑา ของ LAND & HOUSES ราคาเริ่มต้น 36.8 ล้านบาท
โครงการ แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด พระราม9 - กรุงเทพกรีฑา ราคา 45 - 80 ล้านบาท
โครงการ นาราสิริ กรุงเทพกรีฑา ของแสนสิริ ราคา 50 - 95 ล้านบาท
โครงการ แซงค์ รอยัล กรุงเทพกรีฑา ของแอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป ราคา 50 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 100 ล้านบาท ขึ้นไป
ซึ่งที่บ้านเดี่ยวระดับ Luxuary คือราคาแพงหลายสิบล้านถึงร้อยล้านบาท ตอบโจทย์นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บนถนนกรุงเทพกรีฑา
ก็เพราะว่า พื้นที่ย่านกรุงเทพกรีฑา ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ “ผังเมืองสีเหลือง”
ซึ่งหมายความว่า เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
ด้วยเหตุนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัย จึงถูกจำกัดประเภทอาคารเอาไว้
โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมสูง ๆ จะไม่สามารถก่อสร้างได้ หรือถ้าหากมีก็จะสร้างได้เฉพาะแนวถนนใหญ่เท่านั้น
ดังนั้น ที่ดินย่านกรุงเทพกรีฑา จึงถูกนำไปใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่า
โดยเฉพาะบ้านหรูราคาหลายสิบล้านบาท เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์
ซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีข้อดีอีกคือ
บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมดในคราวเดียว
แต่สามารถทยอยสร้างไปทีละเฟสได้
ไม่เหมือนกับการสร้างคอนโดมิเนียม ที่ต้องสร้างทั้งตึกให้เสร็จทีเดียวทั้งโครงการ
จึงมีส่วนให้การสร้างโครงการแนวราบ สามารถบริหารเงินสดได้คล่องตัวได้ด้วย
ทำให้ กรุงเทพกรีฑา จากที่เคยเป็นย่านบ้านพักนักกีฬา
วันนี้กลายเป็นทำเลทอง ของบ้านหรู ระดับ 100 ล้านบาท ไปแล้วนั่นเอง..
References
-รายงานปี 2565 ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร กองนโยบายและแผนงาน สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
-https://thelist.group/realist/blog/
-http://krungthepkreetha.co.th/th/
-https://th.wikipedia.org/wiki/
-https://webportal.bangkok.go.th/cpud/index
-https://www.lh.co.th/th/singlehome/vive-Krungthep-Kreetha
-https://www.sansiri.com/singlehouse/bugaan-krungthep-kreetha/th/
-https://cinq-royal.com/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.