สรุปเรื่อง AOT จะรับเอา สนามบินอุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ มาบริหาร

สรุปเรื่อง AOT จะรับเอา สนามบินอุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ มาบริหาร

14 ต.ค. 2023
สรุปเรื่อง AOT จะรับเอา สนามบินอุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ มาบริหาร | BrandCase
บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เป็นบริษัทบริหารสนามบิน ที่ใหญ่สุดในโลกตอนนี้
มีสนามบินภายใต้การบริหาร ทั้งหมด 6 แห่ง ซึ่งเป็นสนามบินตัวท็อปของประเทศไทยทั้งนั้น คือ
-สนามบินดอนเมือง
-สนามบินสุวรรณภูมิ
-สนามบินเชียงใหม่
-สนามบินเชียงราย
-สนามบินภูเก็ต
-สนามบินหาดใหญ่
และรู้หรือไม่ว่า เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
หลาย ๆ ฝ่ายกำลังมีแผนให้ AOT รับเอาสนามบินมาบริหารเพิ่ม คือ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์
ซึ่งถ้าดีลนี้สำเร็จ ก็เท่ากับว่า AOT จะมีสนามบิน อยู่ภายใต้การบริหาร เพิ่มจาก 6 แห่ง เป็น 9 แห่ง
ประเด็นคือ ทำไม 3 สนามบินนี้ ถึงน่าสนใจ แล้วตอนนี้เป็นของใครอยู่ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่าปัจจุบัน มีองค์กรของรัฐที่บริหารสนามบินในประเทศไทย สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์ หลัก ๆ 2 องค์กร นั่นคือ
1.บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT
เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ถือหุ้นโดยรัฐบาลผ่านกระทรวงการคลัง 70%
เมื่อ AOT เป็นบริษัทมหาชน ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลมากกว่าครึ่งหนึ่ง จึงถือได้ว่า AOT เป็นบริษัทมหาชน ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
เพราะอำนาจการบริหารเป็นของรัฐบาล
ซึ่งบริษัท ที่มีลักษณะเดียวกันกับ AOT ก็เช่น
-ธนาคารกรุงไทย (KTB)
-กลุ่ม ปตท. หรือ PTT
ปัจจุบัน AOT เป็นผู้บริหารสนามบินหลักในประเทศไทย 6 แห่ง นั่นคือ
-สนามบินดอนเมือง
-สนามบินสุวรรณภูมิ
-สนามบินเชียงใหม่
-สนามบินเชียงราย
-สนามบินภูเก็ต
-สนามบินหาดใหญ่
2.กรมท่าอากาศยาน
เป็นหน่วยงานราชการ สังกัดกระทรวงคมนาคม ดูแลสนามบินในภูมิภาคทั้งหมด 29 แห่งทั่วประเทศไทย
ซึ่งสนามบินภูมิภาค ก็เช่น สนามบินกระบี่, สนามบินอุดรธานี, สนามบินขอนแก่น, สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินสุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ ก็ยังมีสนามบินอู่ตะเภา ที่กองทัพเรือเป็นผู้ดูแลด้วย
เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ AOT ผ่านกระทรวงการคลัง
ได้พยายามผลักดัน ให้โอนสิทธิ์การบริหาร
สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ มาอยู่ภายใต้การดูแลของ AOT
ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม ที่เป็นผู้ดูแลนโยบายนี้โดยตรง ได้ให้เหตุผลว่า
ต้องการลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ที่จัดสรรให้กรมท่าอากาศยานเป็นผู้พัฒนาสนามบิน
แล้วทำไมถึงต้องเป็น 3 สนามบินนี้ ? BrandCase ขอไล่วิเคราะห์ทีละสนามบิน
-สนามบินกระบี่
เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน สนามบินกระบี่ค่อนข้างเงียบ มีเที่ยวบินมาลงน้อย
แต่ในภายหลัง จังหวัดกระบี่ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวโตขึ้นมาก
ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินของสนามบินกระบี่ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบัน สนามบินกระบี่เป็นฮับการบินแห่งที่ 2 ของภาคใต้ฝั่งอันดามัน รองจากสนามบินภูเก็ต
ซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นอกจากนี้ จังหวัดกระบี่เองก็ยังเป็นจุดหมายปลายทาง ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโรคระบาด มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมายังจังหวัดกระบี่กว่า 6,800,000 คน
โดยในปี 2566 หรือปัจจุบัน สนามบินกระบี่ มีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 39 เที่ยวบินต่อวัน
มากเป็นอันดับ 7 ของประเทศ
-สนามบินอุดรธานี
จุดเด่นของสนามบินอุดรธานี คือเป็นสนามบิน ที่มีเที่ยวบินตรงไปยังกรุงเทพมหานครเยอะ
ซึ่งสนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินที่นอกจากจะรองรับผู้โดยสารจากอุดรธานีแล้ว ยังเป็นสนามบินที่รองรับผู้โดยสาร จากจังหวัดใกล้เคียงด้วย
อย่างเช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดหนองคาย จังหวัดสกลนคร
หรือแม้กระทั่ง ผู้โดยสารจากนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ถึงแม้ว่า ที่นครหลวงเวียงจันทน์ จะมีสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว
แต่ราคาตั๋วเครื่องบิน ที่บินตรงจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปยังกรุงเทพมหานครนั้น ค่อนข้างสูง
ดังนั้น คนลาวจำนวนไม่น้อย จึงเลือกนั่งรถข้ามชายแดนไปเพียง 100 กิโลเมตร
เพื่อขึ้นเครื่องบินจากสนามบินอุดรธานี ไปยังกรุงเทพมหานครแทน
ทำให้ในปัจจุบัน สนามบินอุดรธานี กลายเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินต่อวัน มากที่สุดในภาคอีสาน
โดยล่าสุดปี 2566 มีเที่ยวบินประมาณ 35 เที่ยวบินต่อวัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ผลักดันให้สนามบินอุดรธานี เป็นฮับการบินหลักของภาคอีสานตอนบน
พร้อมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากต่างประเทศ อย่างเช่น เวียดนาม
รวมถึงเป็นสนามบินหลัก ของเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ในอนาคต
-สนามบินบุรีรัมย์
ถึงแม้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่บุรีรัมย์ มีจุดเด่นเรื่องหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ คือ เป็นเมืองกีฬา
ที่บุรีรัมย์ มีสนามฟุตบอลของ สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
และสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
ซึ่งเป็นสนามแข่งที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ
ว่าเป็นสนามแข่งรถสูตร 1 หรือ Formula 1 หนึ่งเดียวในประเทศไทย
ทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก
และทำให้สนามบินมีจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่เติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ ในอนาคต รัฐบาลมีแผนจะผลักดันสนามบินบุรีรัมย์ ให้เป็นฮับการบินหลักของภาคอีสานตอนล่าง 
และจากการที่รัฐบาล ผลักดันสนามบินทั้ง 3 แห่งให้เป็นฮับในระดับภูมิภาคในอนาคต
ก็จะทำให้เที่ยวบินหลาย ๆ เที่ยวที่มาจากต่างประเทศ สามารถบินตรงเข้ามาที่สนามบินภูมิภาคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสนามบินหลักในกรุงเทพมหานคร
อย่างเช่น จังหวัดอุดรธานี ก็สามารถรับเที่ยวบินจากยุโรป บินตรงมายังสนามบินอุดรธานีได้ทันที ไม่ต้องผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ
ประกอบกับทาง AOT เอง ก็มีประสบการณ์ และความพร้อมในการบริหารสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้า AOT รับเอาสนามบินทั้ง 3 แห่งเข้าไปบริหาร ทำให้ AOT สามารถบริหารจัดการเที่ยวบิน ที่บินเข้ามาจากต่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทีนี้เรามาดูสถิติจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารในช่วงที่ผ่านมา
-สนามบินกระบี่
ปี 2546 มีจำนวนเที่ยวบิน 3,643 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 290,000 คน
ปี 2556 มีจำนวนเที่ยวบิน 7,531 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 1,140,000 คน
ปี 2566 (จนถึงเดือนตุลาคม) มีจำนวนเที่ยวบิน 12,157 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 1,700,000 คน
-สนามบินอุดรธานี
ปี 2546 มีจำนวนเที่ยวบิน 2,641 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 350,000 คน
ปี 2556 มีจำนวนเที่ยวบิน 9,669 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 1,150,000 คน
ปี 2566 (จนถึงเดือนตุลาคม) มีจำนวนเที่ยวบิน 9,896 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 1,450,000 คน
-สนามบินบุรีรัมย์
ปี 2546 มีจำนวนเที่ยวบิน 883 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 23,000 คน
ปี 2556 มีจำนวนเที่ยวบิน 268 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 3,100 คน
ปี 2566 (จนถึงเดือนตุลาคม) มีจำนวนเที่ยวบิน 1,459 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 180,000 คน
จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 สนามบิน มีเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นอย่างมาก
ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 สนามบิน ก็ยังคงอยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2566
สนามบินกระบี่ เป็นสนามบินที่มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร มากที่สุดในสนามบินทั้งหมด ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกรมท่าอากาศยาน
ส่วนสนามบินอุดรธานี เป็นสนามบินที่มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร มากเป็นอันดับ 2
ในสนามบินทั้งหมดของกรมท่าอากาศยาน
ถ้าเราไปดูในรายงานของสนามบินกรมท่าอากาศยาน ในปี 2562
ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโรคระบาด เราก็จะเห็นการแจกแจงรายสนามบินว่า
-สนามบินกระบี่ มีกำไร 185 ล้านบาท
-สนามบินอุดรธานี มีกำไร 6 ล้านบาท
-สนามบินบุรีรัมย์ ขาดทุน 5 ล้านบาท
แต่ก็ต้องบอกว่าปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ว่าถ้าหากโอนสิทธิ์การบริหารของทั้ง 3 สนามบินไปให้ AOT บริหาร
ก็จะทำให้ กรมท่าอากาศยาน ที่บริหารสนามบินภูมิภาคนั้น ขาดรายได้หลักไปจากสนามบินกระบี่ และสนามบินอุดรธานี
สำหรับประเด็นนี้ ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
-ฝั่งคนที่เห็นด้วย เพราะอาจมองว่า ทั้ง 3 สนามบินนี้ เป็นสนามบินทำเงิน
ควรให้บริษัทมหาชน ที่มีความคล่องตัวในการบริหารงานมากกว่า อย่าง AOT เข้ามาบริหาร
เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ และนำกำไรส่งเข้ารัฐได้มากขึ้น
-ฝั่งคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะอาจมองว่า การโอน 3 สนามบินหลักไปให้ AOT บริหารนั้น
จะทำให้กรมท่าอากาศยาน เสียรายได้หลักไปให้กับภาคเอกชน
แต่สุดท้าย ไม่ว่าใครจะบริหารสนามบิน จะเป็น AOT หรือ กรมท่าอากาศยานก็ตาม
ก็ขอให้สนามบินต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้ดูดี ทันสมัย สะดวก และปลอดภัย
เพื่อให้สมกับเป็นสนามบินของเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย ที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก
References
-https://www.airports.go.th/home
-https://www.aerothai.co.th/th/home
-รายงานประจำปี บมจ.ท่าอากาศยานไทย ปี 2565
-รายงานประจำปี กรมการบินพลเรือน ปี 2550, ปี 2556 และปี 2562
-สถิตินักท่องเที่ยวปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
-https://thaipublica.org/2022/09/ministry-finance-opposes-transfer-3-airports-to-aot-manage/
-https://www.thansettakij.com/blogs/economy/transport/539661
-https://news1005.mcot.net/view/5fc99ce8e3f8e4072bf9d938
-https://www.longtunman.com/16059
-https://www.prachachat.net/politics/news-1398149
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.