สรุป ข้อมูลผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ 

สรุป ข้อมูลผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ 

3 ต.ค. 2023
สรุป ข้อมูลผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ
ภายในงานนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ กล่าวว่า “ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไทยเบฟมุ่งมั่นดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังที่ได้เห็นจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของเรา
ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟยังดำเนินมาตรการบริหารอัตรากำไรอย่างรอบคอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรักษาผลกำไรสุทธิและส่วนแบ่งตลาดของเรา 
นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์”
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 
และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี
การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มไทยเบฟเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน
โดยมีประเด็นสำคัญของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจสุรา
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เป็น 93,673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปริมาณขายรวมจะลดลงที่ร้อยละ 3.5 จากปีก่อนก็ตาม 
โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจากร้อยละ 24.7 เป็นร้อยละ 25.4 
โดยการขยายตัวของอัตรากำไรมาจากการขึ้นราคาสินค้าและการเปลี่ยนแปลงส่วนประสมของผลิตภัณฑ์จากการบริโภคสุราสีที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย 
สำหรับธุรกิจสุราในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงธุรกิจในเมียนมามีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี โดยในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด โดยคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
สำหรับตลาดต่างประเทศ ได้เดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราของบริษัท
2. ธุรกิจเบียร์
ธุรกิจเบียร์ภายในประเทศไทยมีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนามยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว 
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 5.2 
ทั้งนี้การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 19.8 เป็น 10,783 ล้านบาท”
- สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย
โดยการขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership, Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness
เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างมีการนำเสนอผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership” โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ และการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย 
นอกจากนี้ ไทยเบฟยังเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักของบริษัท
โดยในปี 2562 กลุ่มได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรูว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2565 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นน่าพอใจจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์” ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองด้านคุณภาพต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์, การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน, การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น
- สายธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออกและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สร้างทีมขายมืออาชีพ และเสริมความแข็งแรงของกลุ่มตราสินค้า Winning Brand Portfolio 
โดยได้ดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับ Bia Saigon ในฐานะความภาคภูมิใจของเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโดยรวม ซึ่งบริษัทไซ่ง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (ซาเบโก้) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จะมุ่งเน้นการขยายธุรกิจ พัฒนากลุ่มตราสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ซาเบโก้ได้มีการใช้มาตรการบริหารต้นทุนที่เข้มงวดเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท อีกทั้งยังมุ่งมั่นเดินหน้าผนวกเครือข่ายโรงเบียร์ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหารต้นทุน
3. ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เป็น 14,822 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการดำเนินแผนงานเพื่อบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้บางส่วนจากการลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น 
ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้ขยายการเติบโต ภายใต้ 3 แนวทางสำคัญ คือ การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management), การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ (Speed for the Growth) และการเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)
กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มุ่งมั่นที่จะสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยแนวทาง “การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management)” เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาสและทุกกลุ่มเป้าหมาย 
รวมถึงรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับตราสินค้าหลักของกลุ่มบริษัท เช่น
- โออิชิ กรีนที สร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานผู้บริโภค และเพิ่มปริมาณการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการรับรู้ในเรื่องคุณประโยชน์ของชาเขียวที่มีทาเคชิน สารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ ผ่านแคมเปญ “OISHI Goodness of Tea” ภายใต้แนวคิด “โออิชิ กรีนที สิ่งดีๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยน” 
พร้อมผลักดันการกระจายผลิตภัณฑ์ชาเขียวพร้อมดื่มอัดลม “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า” ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและการเติบโต ภายใต้แคมเปญ “โออิชิ ชาคูลล์ซ่า ชาเขียว ซ่ามีดีย์”
- น้ำดื่ม คริสตัล มีการการเปิดตัวแคมเปญ “พัก…ให้คุณได้เคลียร์ความคิด (Think Clear, Drink Crystal)” เพื่อสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค (Brand Emotional Connection) ด้วยการสื่อสารถึงประโยชน์ของน้ำดื่มที่นอกจากจะดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังดีต่อสุขภาพใจและอารมณ์ด้วย
- เครื่องดื่มอัดลม เอส มีการเปิดตัวตราสินค้าใหม่และปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิด “Born to be Awesome เกิดมาซ่า..กล้าเป็นตัวเอง” นอกจากนี้ ยังได้คนดังในเอเชียจากหลากหลายวงการมาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อเพิ่มความสดใหม่ให้ตราสินค้า
นอกจากนี้เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน กลุ่มไทยเบฟได้ดำเนินตามแนวทาง “การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ (Speed for the Growth)” เพื่อขยายฐานผู้บริโภค เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ 
โดยการวางรากฐานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการกระจายสินค้า นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มมุ่งมั่นผลักดันตราสินค้าหลักของกลุ่มสู่ตลาดในภูมิภาคผ่านการดำเนินตามแนวทาง “การเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)
4. ธุรกิจอาหาร
จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภายในร้านอาหาร ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 
อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 8.4 เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่
เนื่องจากการบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงกันอีกครั้ง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ในขณะนี้การบริโภคภายในร้านเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโรคระบาดแล้ว 
ดังนั้นไทยเบฟจึงผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม
โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ 
ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 
ซึ่งไทยเบฟตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิมด้วยการสร้างเมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น 
5. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น 
ในปี 2565 กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ประกาศกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2583 พร้อมทั้งกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 
โดยไทยเบฟได้ดำเนินโครงการในประเทศไทยหลากหลายโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งในปี 2565 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้
- บรรลุเฟสที่ 1 และ 2 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงงานในไทยรวมทั้งสิ้น 23 แห่ง
- ติดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 แห่ง สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
- เพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็นร้อยละ 42.8
- ลดอัตราส่วนการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้มาก (water-stressed area)
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562
- นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 67.6 กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
- นำบรรจุภัณฑ์สินค้าจำนวนร้อยละ 84 กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle)
- เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นร้อยละ 70
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.