สรุปกลยุทธ์ การตลาด 5A ที่ช่วย SMEs สร้างแบรนด์ให้แข็ง

สรุปกลยุทธ์ การตลาด 5A ที่ช่วย SMEs สร้างแบรนด์ให้แข็ง

9 ก.ย. 2023
สรุปกลยุทธ์ การตลาด 5A ที่ช่วย SMEs สร้างแบรนด์ให้แข็ง | BrandCase
-Aware สร้างการรับรู้ความมีตัวตนของแบรนด์
-Appeal ดึงดูดความสนใจ
-Ask นำเสนอข้อมูลรายละเอียด เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ
-Act ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์
-Advocate แนะนำให้เกิดการบอกต่อ
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานชื่อว่า “ปฏิวัติการตลาด SMEs ไทยทะยานไกลด้วย MarTech Tools”
โดยภายในงานได้มีการแชร์ MarTech Tools หรือเครื่องมือเทคโนโลยีที่ช่วยทำการตลาดได้ง่ายขึ้น
ผ่านขั้นตอนของการตัดสินใจซื้อของลูกค้า 5 ขั้นตอน หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์การตลาด 5A
การตลาด 5A ช่วย SMEs สร้างแบรนด์ และสร้างธุรกิจให้แข็งได้อย่างไร
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
กลยุทธ์ การตลาด 5A เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า MarTech ที่มาจากคำว่า Marketing และ Technology
MarTech เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจทำการตลาดง่ายขึ้น
เช่น ช่วยในการเลือกกลุ่มเป้าหมาย การหาลูกค้ารายใหม่ การติดตามข้อมูลของลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลของคู่แข่ง การรักษาฐานลูกค้า ไปจนถึงการปิดการขาย
ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับ กลยุทธ์การตลาด 5A กันก่อน ว่าคืออะไร
กลยุทธ์การตลาด 5A เป็นโมเดลที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มดังอย่าง Marketing 4.0 โดย Philip Kotler นักการตลาดชื่อดังระดับโลก
โดยโมเดลนี้ เป็นโมเดลที่ใช้ในการวางแผนการตลาด เพื่อให้แบรนด์มองเห็นจุดยืนของตัวเอง และสิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนของการสร้างลูกค้า
ตั้งแต่ขั้นตอนของการสร้างการรับรู้แบรนด์กับคนแปลกหน้า และการเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นลูกค้า ไปจนถึงการบอกต่อสินค้าระหว่างลูกค้ากับคนอื่น ๆ
พูดสั้น ๆ ก็คือ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เปลี่ยนคนแปลกหน้า ให้กลายเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะบอกต่อสินค้าของเราให้กับคนอื่น ๆ นั่นเอง
โดยกลยุทธ์การตลาด 5A ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่
1.Aware การสร้างการรับรู้ความมีตัวตนของสินค้าและบริการของแบรนด์
2.Appeal ดึงดูดความสนใจ จนลูกค้าชอบและอยากทำความรู้จักกับแบรนด์มากขึ้น
3.Ask นำเสนอข้อมูลรายละเอียดของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ
4.Act ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์
5.Advocate การแนะนำให้เกิดการบอกต่อสินค้าในหมู่ผู้บริโภค
ทีนี้เรามาเจาะลึกว่าแต่ละขั้นตอนของกลยุทธ์การตลาด 5A ใช้เครื่องมือ MarTech อะไรบ้าง ในการทำการตลาดให้กับแบรนด์
ขั้นตอนที่ 1 : Aware
เป็นขั้นตอนการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ หรือการทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าตอนนี้มีสินค้าและบริการของแบรนด์อยู่
ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ ตามกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์กำหนด
เช่น การทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย การจ้างอินฟลูเอนเซอร์ หรือการทำเว็บไซต์ข้อมูลสินค้า
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือ
-Meta Business Suite – เครื่องมือจัดการกิจกรรมทางการตลาดและโฆษณาทั้งหมดบน Facebook และ Instagram
-Tellscore เครื่องมือในการหาผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย หรืออินฟลูเอนเซอร์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่แบรนด์ตั้งไว้
-Readyplanet แพลตฟอร์มที่รวมการขายและการตลาดไว้ที่เดียวกัน ครอบคลุมทั้งการสร้างและการบริหารจัดการเว็บไซต์ โฆษณาออนไลน์ และบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
ขั้นตอนที่ 2 : Appeal
เมื่อลูกค้ารับรู้ว่ามีสินค้าหรือบริการของแบรนด์แล้ว ขั้นต่อไปคือการทำให้ลูกค้าสนใจสินค้าหรือบริการ จนเกิดความชอบและอยากทำความรู้จักกับแบรนด์มากขึ้น
ซึ่งสิ่งสำคัญของขั้นตอนนี้ คือการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ส่วนวิธีวัดผลว่าลูกค้าสนใจแบรนด์มากน้อยแค่ไหน
โดยสามารถสังเกตได้จาก การกดถูกใจ การกดแชร์ การแสดงความคิดเห็น และการพูดถึงในโซเชียลมีเดีย
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือ
-Chat GPT ระบบ Chatbot ที่ผสมกับเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาช่วยตอบคำถามที่แบรนด์อยากรู้ หรือช่วยเขียนคอนเทนต์ เขียนโปรโมชัน หรือช่วยวางกลยุทธ์ให้กับแบรนด์
-Canva แพลตฟอร์มออกแบบกราฟิก ใช้ในการออกแบบรูปประกอบการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย สามารถใช้ออกแบบได้ทั้งรูปและวิดีโอ ใช้งานง่าย และมีเทมเพลตให้เลือกใช้งานเป็นจำนวนมาก
-Mandala AI. เป็นเครื่องมือ Social Listening ที่สามารถช่วยรวบรวม และวิเคราะห์พฤติกรรม
ของคนที่เข้ามาใช้โซเชียลมีเดีย พร้อมกับประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของลูกค้า
ขั้นตอนที่ 3 : Ask
เมื่อลูกค้าสนใจสินค้าหรือบริการของแบรนด์ สิ่งที่ตามมาคือคำถามเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ดังนั้นแบรนด์จะต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับตอบข้อสงสัยของลูกค้าในทุกช่องทาง
ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าหากแบรนด์สามารถตอบลูกค้าได้ทุกเวลา ก็จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
เช่น หากลูกค้าสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเข้ามาในช่วงกลางดึก แต่ไม่ได้รับคำตอบจากร้าน ลูกค้าคนนั้นมีแนวโน้มที่จะไปซื้อสินค้ากับร้านอื่น ที่สามารถตอบคำถามในช่วงนั้นได้
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือ
-ZWIZ.AI ระบบ Chatbot ช่วยตอบคำถามลูกค้าได้ทันที ผ่านชุดข้อมูลที่มีในระบบ พร้อมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เพื่อให้แบรนด์ปิดการขายได้ง่ายขึ้น
-PAM ซอฟต์แวร์ Marketing Automation ที่จัดการรวบรวมจัดกลุ่มลูกค้า และดูแลข้อมูลลูกค้า ทำให้แบรนด์สามารถแยกประเภทของลูกค้าได้
พร้อมกับนำข้อมูลที่มีมาสร้างแคมเปญทางการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
ขั้นตอนที่ 4 : Act
หลังจากที่ลูกค้าสอบถามข้อมูล แล้วตัวสินค้าตรงกับความต้องการ ขั้นต่อไปก็คือการตัดสินใจซื้อสินค้า
ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรทำคือการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการซื้อสินค้าให้กับลูกค้า หรือพูดอีกแบบคือทำให้การซื้อง่ายที่สุด ตั้งแต่การเลือกสินค้า ใส่ที่อยู่ ออกบิล ไปจนถึงการจ่ายเงิน
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือ
-เทพshop แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่รวบรวมโซเชียลมีเดียทั้งหมดที่มี เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการ และตอบแชตลูกค้า
-Page 365 ระบบที่รวบรวมช่องทางการขายของทุกช่องทางไว้ในที่เดียว และช่วยในเรื่องการรับออร์เดอร์ เปิดบิล ออกใบกำกับภาษี รวมถึงสามารถใช้ในการตรวจสอบสต็อกสินค้าได้
-2C2P ระบบชำระเงินดิจิทัล หรือตัวช่วยในการชำระเงินออนไลน์ ทำได้หลากหลายช่องทาง เช่น การโอนเงิน ตัดบัตรเครดิต หรือพร้อมเพย์
ขั้นตอนที่ 5 : Advocate
เมื่อลูกค้าซื้อของไปแล้ว สิ่งที่แบรนด์ต้องการต่อไป คือการซื้อซ้ำหรือการบอกต่อสินค้าในหมู่ผู้บริโภคเอง
ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมาจากความพึงพอใจหลังจากที่ลูกค้าใช้งานสินค้าไปแล้ว
โดยสิ่งที่ทำให้แบรนด์สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ หรือทำให้เกิด Brand Loyalty อย่างเช่น การออกบัตรสมาชิก หรือของแถมเมื่อซื้อสินค้าครบ 10 ชิ้น
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในขั้นตอนนี้คือ
-Line Reward Card – ระบบสะสมแต้มที่เชื่อมกับ Line OA สามารถใช้แจกแต้ม แลกแต้ม และจัดการแต้มให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ หรือซื้อสินค้าที่ร้านของเราได้
-Taximail – ระบบบริการส่งอีเมลมาร์เก็ตติง เพื่อให้ลูกค้าเห็นแคมเปญการตลาด โปรโมชันประจำเดือน หรือ Gift Voucher
-Zoho – ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relation Management) และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
ซึ่งทั้งหมดนี้คือตัวอย่าง MarTech Tools ที่สรุปได้จากงาน ปฏิวัติการตลาด SMEs ไทย
สำหรับใครที่มีแผนจะเริ่มทำธุรกิจ หรือกำลังทำอยู่ สามารถลองใช้ตัวอย่างเครื่องมือ MarTech Tools เหล่านี้กันดูได้
เพราะนอกจากจะช่วยให้ธุรกิจ จัดการระบบข้อมูลหลังบ้านได้ง่ายและสะดวกแล้ว ยังช่วยให้แบรนด์ทำการตลาดได้ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจได้ไกลขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ผลสำรวจจาก CMMU พบว่า เครื่องมือ MarTech ยอดนิยมที่ SME ไทยนิยมใช้ 5 อันดับแรก คือ
-Meta Business Suite 44%
-Google Analytics 12%
-Google Ads 9%
-Line Official Account 5%
-ChocoCRM 4%
References
-งานปฏิวัติการตลาด SMEs ไทยทะยานไกลด้วย MarTech Tools โดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)
-https://greedisgoods.com/5a-marketing/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.