กรณีศึกษา แบรนด์เนย ขายดีสุดในไทย เจ้าของคือคนทำ คุกกี้อิมพีเรียล

กรณีศึกษา แบรนด์เนย ขายดีสุดในไทย เจ้าของคือคนทำ คุกกี้อิมพีเรียล

4 ก.ย. 2023
แบรนด์เนยที่ขายดีสุดในไทย ชื่อว่า “Allowrie” แบรนด์ที่หลายคนจะคุ้น ๆ ว่าเคยเห็นวางขายตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต 
หรือบางคนอาจจะเคยเห็นว่า บางสายการบิน หรือบางโรงแรม แจกเนยแบรนด์นี้ให้เราทานกับขนมปัง
รู้หรือไม่ว่า Allowrie ครองส่วนแบ่งตลาดเนยในไทยถึง 55%
และที่น่าสนใจคือ เจ้าของ Allowrie ก็คือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบริษัทเจ้าของ คุกกี้กล่องแดงอิมพีเรียล นั่นเอง..
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
อย่างที่บอกว่า เจ้าของเนยแบรนด์ Allowrie คือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
แต่จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ในวันแรก เริ่มมาจากการเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์
เมื่อปี 2501 หรือราว 65 ปีที่แล้ว
คุณวิชัย วิภาวัฒนกุล และคุณตง ธีระนุสรณ์กิจ ได้ก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ขึ้นมา
โดยทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขาย และเป็นตัวแทนจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป
ในช่วงแรกกิมจั๊วพาณิชย์ เห็นโอกาสในธุรกิจอาหารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นมและเนย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ
ซึ่งในเวลานั้นผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะเป็นชาวต่างชาติ
สินค้าที่นำเข้ามาก็คือ ผลิตภัณฑ์เนยและชีส จากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 
โดยเป็นการนำเข้าแบบสำเร็จรูปและมีลักษณะซื้อมาขายไป
ก่อนที่ในเวลาต่อมา ในปี 2515 ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการผลิตในประเทศ 
ด้วยการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเหลือเพียง 5% และขึ้นภาษีนำเข้าอาหารสำเร็จรูป แถมจัดให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่โดนภาษีมากขึ้น
กิมจั๊วพาณิชย์ จึงได้เปลี่ยนจากนำเข้า มาเป็นการผลิตเอง โดยซื้อสูตรและวิธีการผลิตมาจากเจ้าของในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ชื่อว่า Allowrie
และขอซื้อเครื่องหมายการค้า “Allowrie” จากบริษัทในประเทศนิวซีแลนด์ที่เป็นเจ้าของ เพื่อใช้ในการขายในแถบอาเซียนด้วย 
จากนั้นก็ทำการสร้างโรงงานแรกในไทย ขึ้นบนถนนบางนา-ตราด 
ภายใต้ชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟูดส์ จํากัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศออสเตรเลีย 
หลังจากที่เปลี่ยนมาผลิตเองทั้งหมดแทนการนำเข้า
กิมจั๊วพาณิชย์ ก็สามารถสร้างยอดขายของผลิตภัณฑ์เนย Allowrie ให้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยได้
โดยลูกค้าหลัก ๆ เป็นบริษัทอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเบเกอรี เช่น 
- บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSL ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรีให้ 7-Eleven และร้านดังเจ้าอื่น
- บริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน และผลิตภัณฑ์เบเกอรีในเครือ CP
นอกจากนั้นก็มีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจจัดเลี้ยง ร้านเบเกอรี สายการบิน โรงเรียน และองค์กรต่าง ๆ
รวมถึงวางขายตามช่องทางร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตที่เราเห็นกัน
ต่อมาก็เริ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ ที่มีพื้นฐานเป็นผลิตภัณฑ์จากเนยและชีสเพิ่มขึ้น 
ซึ่งก็กลายมาเป็นขนมคุกกี้สไตล์เดนมาร์ก กล่องสีแดง ที่ชื่อแบรนด์ “อิมพีเรียล (IMPERIAL)” นั่นเอง.. 
และได้มีการขยายสายการผลิตอีกมาก เช่น แยมผลไม้, เจลลีสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์แป้ง และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหารและการทำเบเกอรี
โดยทุกวันนี้ บริษัทไม่ได้ชื่อ กิมจั๊วพาณิชย์ เพราะได้ควบรวมกับบริษัทในเครือและเปลี่ยนชื่อเป็น
บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยด้วย
ผลประกอบการปี 2565 ของ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  
รายได้ 6,191 ล้านบาท กำไร 241 ล้านบาท
ถ้ามาดูสัดส่วนรายได้จากการขาย ปี 2565
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม 3,597 ล้านบาท 
- ผลิตภัณฑ์สำหรับการประกอบอาหารและเบเกอรี และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ 1,734 ล้านบาท 
- ผลิตภัณฑ์บิสกิต 825 ล้านบาท 
โดยเนย รวมอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
บริษัทบอกว่ารายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เนย อยู่ที่ 48.5% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือก็คือ 1,745 ล้านบาท 
ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 55% ของตลาดเนยในไทย นั่นเอง
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.