เทคนิค Bundle Sales กลยุทธ์มัดก้อนขาย ที่ค่ายมือถือชอบใช้

เทคนิค Bundle Sales กลยุทธ์มัดก้อนขาย ที่ค่ายมือถือชอบใช้

4 ก.ย. 2023
เทคนิค Bundle Sales กลยุทธ์มัดก้อนขาย ที่ค่ายมือถือชอบใช้ | BrandCase
ปกติแล้วสิ่งที่เราเห็นคือ แพ็กเกจรายเดือนของค่ายมือถือที่เราใช้กัน จะนิยมขายให้เรา ทั้งอินเทอร์เน็ต, โทร, Sms, Wi-Fi ฟรี หรือให้ฟรีบริการสตรีมมิงมาด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้วหลายคนไม่ได้ต้องการสินค้า หรือบริการอย่างอื่นเพิ่มเติม นอกจากอินเทอร์เน็ตกับการโทร
แต่สุดท้ายก็ต้องซื้อเป็นแพ็กมัดรวม เพราะเพิ่มเงินนิดเดียว แต่รู้สึกคุ้มกว่า
นี่เป็นตัวอย่างการขายสินค้าที่เรียกว่า Bundle Sales หรือภาษาบ้าน ๆ คือ “มัดก้อนขาย”
กลยุทธ์ Bundle Sales น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
Bundle Sales คือ การมัดรวมสินค้า (Bundle) ชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน ให้เป็นแพ็กเดียวกัน แล้วขายในราคารวม ที่คิดแล้วจะถูกกว่า การขายแยกเป็นชิ้น ๆ
ซึ่งเราจะชอบได้ยินการขายแบบนี้ว่า ขายแบบแพ็กเกจ (Package)
การขายสินค้ารูปแบบนี้ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้บ่อยในธุรกิจที่ขายสินค้าเป็นรายชิ้น แล้วต้องการกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น
โดยนำสินค้าที่คาดว่าลูกค้าจะซื้อด้วยกัน มาจัดเป็นแพ็กเกจเดียวกัน แล้วขายในราคาที่ถูกกว่า การแยกซื้อสินค้ารายชิ้น
การทำแบบนี้จะมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเกิดการเปรียบเทียบความคุ้มค่าของเงินที่เสียไป
ระหว่างการซื้อสินค้าแยกเป็นชิ้น กับการซื้อสินค้าเป็นแพ็กเกจ
แล้วสุดท้ายก็มักจะลงเอย ด้วยการที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าเป็นแพ็กเกจ มากกว่าที่จะซื้อสินค้าชิ้นเดียว
แม้ว่าสินค้าที่ติดมาด้วย จะไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยก็ตาม
แล้วการขายสินค้าแบบนี้ ข้อเสีย คืออะไร ?
ที่สำคัญเลยคือ การขายสินค้าแบบเป็นแพ็กเกจ ทำให้อัตรากำไรจากการขายสินค้าลดลง
เช่น สินค้า 2 ชิ้น ต้นทุนรวมกัน 5 บาท
ถ้าขายแบบแยกชิ้น จะขายได้เงินรวมกัน 10 บาท เท่ากับได้กำไร 5 บาท แบบนี้อัตรากำไรจะเท่ากับ 50%
แต่พอเอามาจัดแพ็กเกจ แล้วลดราคาให้ลูกค้า ขาย 2 ชิ้น ได้เงินรวมกัน 8 บาท เท่ากับได้กำไร 3 บาท แบบนี้อัตรากำไรจะเหลือ 38%
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นว่าอัตรากำไรลดลง แต่ถ้าขายแพ็กเกจได้มาก ๆ กำไรสุทธิก็อาจจะเยอะกว่าขายแยกชิ้นก็ได้ นั่นเอง
แล้วข้อดีของการขายแบบนี้ มีอะไรอีกบ้าง ? ก็อย่างเช่น
-เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้ามากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองซื้อสินค้าได้คุ้มค่า คุ้มราคา ทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ซึ่งก็อย่างที่บอก ถ้าคนซื้อกันมาก ๆ แม้อัตรากำไรต่อชิ้นจะต่ำ แต่ภาพรวมอาจได้กำไรเยอะกว่าแยกชิ้นขายก็ได้
-ถ้าเป็นสินค้าที่จับต้องได้ ก็เป็นการโละสต็อกสินค้า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าคงคลังลดลง
-การขายของแบบเป็นแพ็กเกจ หลายครั้งจะดีกว่าการลดราคาสินค้า
เพราะการลดราคาสินค้า ลูกค้าอาจจะมองว่าสินค้าไม่มีคุณค่า ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ
การขายแพ็กเกจรายเดือนที่ค่ายมือถือหลาย ๆ เจ้าชอบใช้กัน
โดยแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต มักจะมีบริการอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นบริการโทรในเครือข่าย, โทรนอกเครือข่าย, Wi-fi ฟรี, บริการเสียงรอสาย หรือวิดีโอสตรีมมิง
รวมถึงสิทธิ์ในการเป็นเมมเบอร์ ที่มีผลต่อการแลกสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม
โดยราคาที่เหมาจ่ายเป็นแพ็กเกจ มักจะถูกกว่า การไปซื้อบริการเหล่านี้แยกกัน
ถึงค่ายมือถือทำแบบนี้ แล้วจะได้อัตรากำไรของแต่ละบริการลดลง
แต่การขายแบบนี้ ก็สามารถดึงดูดให้ลูกค้ารู้สึกว่า จ่ายทีเดียวได้ครบทุกอย่าง ก็คุ้มค่าที่จะจ่าย
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วบางบริการ เราก็ไม่ได้ใช้มันเลย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.