โมเดลธุรกิจ BAFS บริษัทเติมน้ำมัน ให้เครื่องบิน ในดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

โมเดลธุรกิจ BAFS บริษัทเติมน้ำมัน ให้เครื่องบิน ในดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

29 ก.ค. 2023
โมเดลธุรกิจ BAFS บริษัทเติมน้ำมัน ให้เครื่องบิน ในดอนเมือง-สุวรรณภูมิ | BrandCase
ถ้าเราขับรถยนต์ คนที่จะเติมน้ำมันให้เรา ก็คือสถานีบริการน้ำมันของแบรนด์ต่าง ๆ เช่น PTT Station, Shell, Esso, บางจาก
แต่ถ้าเราขับเครื่องบิน.. คนที่จะเติมน้ำมันให้เครื่องบินของเรา เวลาลงจอดในสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และอีกหลายสนามบินในไทย
จะเป็นบริษัทชื่อว่า บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ “BAFS”
BAFS เป็นใคร เอาน้ำมันจากไหนมาเติมให้เครื่องบิน แล้วโมเดลธุรกิจนี้เป็นแบบไหนกันแน่ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
BAFS ก่อตั้งเมื่อปี 2526 โดยรัฐบาลในสมัยนั้น เพื่อทำธุรกิจบริการเติมน้ำมัน ภายในสนามบินโดยเฉพาะ
โดยมีระบบการให้บริการครบวงจร ตั้งแต่
สถานีจัดเก็บน้ำมัน
ระบบท่อจ่ายน้ำมัน
ไปจนถึงบริการเติมน้ำมันให้เครื่องบิน
โดยสนามบินแรก ที่เริ่มให้บริการ คือสนามบินดอนเมือง
ต่อมาจึงได้ขยายการให้บริการ ไปยังสนามบินระดับภูมิภาคอย่างสนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด
ต่อมาปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่ สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ
BAFS ก็ได้ขยายธุรกิจให้บริการจัดเก็บน้ำมัน และเติมน้ำมันภายในสนามบินสุวรรณภูมิเช่นเดียวกัน
และในขณะเดียวกัน บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด หรือ TARCO ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ BAFS ถือหุ้นอยู่ 90%
ก็ได้รับสัมปทาน จาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในการให้บริการระบบท่อส่งน้ำมัน ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกด้วย
ซึ่งในเวลาต่อมา BAFS ก็ได้ขยายตัวเองไปยังธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นธุรกิจพลังงาน
อย่างเช่น ธุรกิจท่อส่งน้ำมันนอกสนามบิน และธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ปัจจุบันธุรกิจหลัก ๆ ของ BAFS ก็จะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ
1.ธุรกิจเกี่ยวกับการบิน
ธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบินของ BAFS ไม่ได้เป็นธุรกิจแบบที่เป็นตัวกลาง ซื้อน้ำมันมาแล้วขายไป แบบสถานีบริการน้ำมันรถยนต์
แต่ธุรกิจนี้ จะเป็นธุรกิจตัวกลางที่คอยอำนวยความสะดวก
เช่น การสร้างสถานีจัดเก็บน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ไปจนถึงรถเติมน้ำมัน
เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายระหว่างผู้ขายน้ำมัน กับสายการบินเท่านั้น
โดยกลไกของการขายน้ำมันอากาศยานก็คือ
BAFS จะให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่าง ๆ แข่งขัน เพื่อประมูลขายน้ำมันอากาศยานให้กับสายการบิน
ซึ่งบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่ว่า ก็อย่างเช่น OR ของเครือ ปตท., Esso, Shell, Chevron
เมื่อดีลลงตัวและทำสัญญาแล้ว บริษัทขายน้ำมันจะจัดหาน้ำมัน และว่าจ้างขนส่งน้ำมันให้มาจัดเก็บรวมกัน ที่สถานีจัดเก็บน้ำมันของ BAFS ซึ่งจะอยู่ตามสนามบินต่าง ๆ
จากนั้นก็ค่อยว่าจ้างให้บริษัทในเครือ เอาน้ำมันไปเติมให้กับเครื่องบินอีกที
เพราะฉะนั้นหมายความว่า BAFS ไม่ได้ทำธุรกิจแบบ “ซื้อมา-ขายไป” เพราะเป็นแค่คนกลางในการอำนวยความสะดวก การซื้อขายน้ำมันระหว่างบริษัทผู้ค้าน้ำมัน กับสายการบิน
ส่วนรายได้ของ BAFS ในส่วนธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบิน จะมาจาก ค่าบริการในการอำนวยความสะดวก
เช่น ค่าบริการจัดเก็บน้ำมัน, ขนส่งน้ำมันไปตามท่อ และการเติมน้ำมันเข้าสู่ตัวเครื่องบิน นั่นเอง
โดยปัจจุบัน BAFS มีบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเติมน้ำมันเครื่องบินแบบครบวงจร ภายใน 5 สนามบิน ได้แก่
สนามบินดอนเมือง
สนามบินสุวรรณภูมิ
สนามบินสมุย
สนามบินสุโขทัย
สนามบินตราด
นอกจากธุรกิจเติมน้ำมันแล้ว ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีก เช่น ธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบรถเติมน้ำมัน ให้ท่าอากาศยานต่าง ๆ
2.ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน
BAFS ลงทุนในธุรกิจระบบท่อขนส่งน้ำมันทางท่อ ผ่านการถือหุ้นใน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ซึ่งปัจจุบัน BAFS ก็ถือหุ้น FPT อยู่ทั้งหมด 71%
และในตอนนี้ FPT เป็นเจ้าของท่อน้ำมันที่ยาวมากที่สุดในประเทศ โดยมีท่อส่งน้ำมันยาวถึง 668 กิโลเมตร
โดยท่อส่งน้ำมันดังกล่าว เป็นท่อที่ต่อจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดลำปาง ภาคเหนือของประเทศไทยสามารถขนส่งน้ำมันได้มากถึง 9,000 ล้านลิตรต่อปี
ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ทีนี้ถ้าเราไปดูสัดส่วนรายได้ ตามประเภทธุรกิจ ทุก ๆ 100 บาท เราจะพบว่า
72 บาท มาจากธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบิน
15 บาท มาจากธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์
13 บาท มาจากธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ
มาถึงตรงนี้ก็พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ แล้วว่า เครื่องจักรทำเงินหลักของ BAFS ก็คือ “ธุรกิจบริการเติมน้ำมันให้เครื่องบิน”
ซึ่งส่วนของธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบิน ก็จะมี 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ
บริการสถานีจัดเก็บน้ำมันเครื่องบิน
บริการระบบท่อจ่ายน้ำมันเครื่องบิน
บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน
สำหรับสถานีจัดเก็บน้ำมันเครื่องบินของสนามบินทั้ง 5 แห่ง ซึ่ง BAFS เป็นเจ้าของทั้งหมด 100% และไม่มีคู่แข่งเลย
สำหรับระบบท่อจ่ายน้ำมันเครื่องบิน จะมีในเฉพาะสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น
ซึ่งระบบท่อจ่ายน้ำมันของทั้ง 2 สนามบิน ก็มี บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เป็นเจ้าของทั้งหมด
แต่จะให้ BAFS มาดูแลระบบท่อจ่ายน้ำมันของทั้ง 2 สนามบิน
สำหรับบริการเติมน้ำมันเครื่องบิน ต้องเล่ารายละเอียดก่อนว่า จะต้องใช้ “รถน้ำมัน” มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างท่อจ่ายน้ำมัน ไปยังตัวเครื่องบิน ซึ่งตัวรถจะมีอยู่ 2 แบบ
1.รถจ่ายน้ำมัน (Dispenser) รถแบบนี้ จะต่อวาล์วจากระบบท่อจ่ายน้ำมัน เข้าไปในตัวรถ
เพื่อทำการกรองน้ำมัน ก่อนที่จะจ่ายน้ำมันเข้าไปในเครื่องบิน
โดยรถแบบ Dispenser จะใช้กับจุดที่มีระบบท่อจ่ายใต้ลานจอดเครื่องบิน ซึ่งระบบท่อใต้ลานจอด จะมีอยู่ในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
2.รถเติมน้ำมัน (Refueller) รถแบบนี้ จะเอาน้ำมันไปเก็บในถังพ่วงกับตัวรถ แล้วนำไปเติมน้ำมันให้กับเครื่องบิน
โดยรถแบบ Refueller จะใช้กับจุดที่ไม่มีระบบท่อจ่าย ใต้ลานจอดเครื่องบิน
และถ้าเราไปดูปริมาณน้ำมันของ BAFS ที่เติมในแต่ละสนามบิน ของปี 2565
สนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณการเติมน้ำมันอยู่ที่ 2,563 ล้านลิตร ต่อปี
สนามบินดอนเมือง มีปริมาณการเติมน้ำมันอยู่ที่ 427 ล้านลิตร ต่อปี
สนามบินต่างจังหวัด ซึ่งก็คือ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด มีปริมาณการเติมน้ำมันอยู่ที่ 3.7 ล้านลิตร ต่อปี
จะเห็นได้ว่า สนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณการเติมน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วน 86%
เพราะเป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเยอะ
และเที่ยวบินจำนวนมากในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เป็นเที่ยวบินต่างประเทศที่มีระยะบินไกล ทำให้ต้องเติมน้ำมันจำนวนมาก
เมื่อ BAFS มีธุรกิจหลัก คือธุรกิจเติมน้ำมันในสนามบิน ดังนั้นปริมาณน้ำมันที่เติมให้เครื่องบินในแต่ละปี จะมีผลค่อนข้างมาก กับรายได้รวมของบริษัท
และก็จะสัมพันธ์กับ จำนวนเที่ยวบินในปีนั้น ๆ ด้วยนั่นเอง
ซึ่งลองมาดูตัวเลขจำนวนเที่ยวบิน (ที่เติมน้ำมัน) ของสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองรวมกัน
ปี 2565 จำนวนเที่ยวบิน 172,394 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำมันที่เติม 2,990 ล้านลิตร
รายได้ 2,410 ล้านบาท ขาดทุน 281 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวนเที่ยวบิน 83,123 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำมันที่เติม 1,638 ล้านลิตร
รายได้ 1,679 ล้านบาท ขาดทุน 785 ล้านบาท
และถ้าลองเทียบกับ ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโรคระบาด และเป็นช่วงพีกที่นักท่องเที่ยว บินมาใช้บริการสนามบินในไทย
ปี 2562 จำนวนเที่ยวบิน 307,184 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำมันที่เติม 5,612 ล้านลิตร
รายได้ 3,956 ล้านบาท กำไร 940 ล้านบาท
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ.. ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของ BAFS
1.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 15.5%
2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10.0%
3.บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 7.1%
4.บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ถือหุ้น 7.1%
5.บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 6.5%
6.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 4.9%
7.บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ถือหุ้น 2.5%
8.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 2.4%
9.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 2.1%
10.บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ เอวิเอชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 2.0%
จะเห็นว่าผู้ถือหุ้นรายสำคัญของ BAFS มีทั้งบริษัทเจ้าของสายการบิน, บริษัทที่เป็นผู้ค้าน้ำมันให้ BAFS
รวมถึงบริษัทท่าอากาศยานไทย เจ้าของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ BAFS เป็นผู้ให้บริการอยู่ข้างใน..
References
-รายงาน 56-1 บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ปี 2547, ปี 2550 และปี 2565
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/BAFS/factsheet
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.