ความหมายของ “แบรนด์” คืออะไร ? ทำไมไม่ใช่แค่ชื่อ กับตราสินค้า

ความหมายของ “แบรนด์” คืออะไร ? ทำไมไม่ใช่แค่ชื่อ กับตราสินค้า

15 ก.ค. 2023
ความหมายของ “แบรนด์” คืออะไร ? ทำไมไม่ใช่แค่ชื่อ กับตราสินค้า | BrandCase
ถ้าพูดถึงคำว่า แบรนด์ คนไทยหลายคนจะนึกถึงคำว่า “ยี่ห้อ” หรือชื่อสินค้า แล้วก็นึกถึงตราสินค้า หรือโลโก เช่น เมื่อพูดถึง iPhone เราก็จะนึกถึงโลโกรูป แอปเปิลแหว่ง
อย่างไรก็ตาม คำว่าแบรนด์ ในทางธุรกิจ ไม่ได้มีความหมายแค่นี้
เพราะยี่ห้อหรือตราสินค้า ก็เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ของคำว่า Brand เท่านั้น
สรุปแล้ว แบรนด์ คืออะไรกันแน่ ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
คำว่า แบรนด์ (Brand) พจนานุกรมไทยส่วนใหญ่ มักให้ความหมายว่า ยี่ห้อ ตราสินค้า หรือเครื่องหมายการค้า
ซึ่งคำว่า ยี่ห้อ เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว 字號 (ri7 ho7 หฺยี่ โห่) มีความหมายว่า “เครื่องหมายสำหรับร้านค้าหรือการค้า”
ดังนั้น แท้จริงแล้ว ทั้งคำว่า ยี่ห้อ, ตราสินค้า และเครื่องหมายการค้า จึงเป็นสิ่งเดียวกัน
โดยตราสินค้าหรือเครื่องหมายการค้า คือ สัญลักษณ์ ตรา หรือเครื่องหมายที่ใช้คู่กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงถึงตัวตนของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ
ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกสินค้าหรือบริการของเรา ออกจากสินค้าหรือบริการของคนอื่นได้
ในทางกฎหมาย เครื่องหมายการค้าจะได้รับความคุ้มครอง เมื่อมีการจดทะเบียน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง
เช่นเดียวกับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ที่บุคคลอื่นไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องหมายการค้า มักจะเป็นตัวอักษร หรือรูปภาพกราฟิกต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
-Apple มีสัญลักษณ์เป็นแอปเปิลที่แหว่ง
-McDonald’s ก็จะเป็น ตัวอักษร M สีเหลือง ในพื้นหลังสีแดง
-7-Eleven จะเป็นเลข 7 ในกรอบสีเขียว และมีคำว่า eleven ตรงกลางเลข 7
แต่จริง ๆ แล้วแบรนด์ เป็นมากกว่ารูปแอปเปิลแหว่ง เป็นมากกว่าตัวอักษร M หรือเลข 7
ถ้าอย่างนั้น คำว่าแบรนด์ ในทางธุรกิจ หมายถึงอะไรกันแน่ ?
ในทางธุรกิจ แบรนด์ คือ “มุมมอง ความคิด ในภาพรวมที่ลูกค้ามีต่อสินค้าหรือบริการของเรา”
ซึ่งมันเกิดขึ้นจากการสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าผ่านสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีตัวตนจับต้องได้
หรือแม้แต่ความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ภาพจำของตราสินค้า สโลแกน คุณค่า ความประทับใจ การให้บริการ หรือพนักงาน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น อยากให้ทุกคนลองถามตัวเองดูว่า ถ้าพูดถึง Starbucks แต่ละคนจะนึกถึงอะไรกันบ้าง ?
คำตอบก็คงจะมีหลากหลายมุมมอง ขึ้นอยู่กับความคิด และความรู้สึกของแต่ละคน
แน่นอนว่า ทุกคนคงไม่ได้นึกถึงแต่แก้วที่มีตราสินค้ารูปนางเงือก ที่หลายคนชอบถ่ายลงสตอรีอินสตาแกรมเพียงอย่างเดียว
แต่บางคนอาจจะนึกถึง
-เครื่องดื่มที่มีราคาหลักร้อยกว่าบาท และให้ความรู้สึกพรีเมียม ที่ไม่เหมือนเครื่องดื่มร้านอื่นทั่วไป
-บางคนอาจจะนึกถึงการบริการของพนักงานที่เอาใจใส่เรา และสามารถจำชื่อของลูกค้าที่มาซื้อประจำได้
-บางคนอาจจะนึกถึงบรรยากาศของร้านที่เหมาะกับการไปนั่งชิล ๆ ฆ่าเวลา ไปนั่งทำงาน หรือแวะไปพักผ่อน เหมือนเป็นบ้านหลังที่ 3
สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกพรีเมียม การบริการ พนักงาน หรือบรรยากาศของร้าน Starbucks ก็คือ ภาพจำที่ผู้ซื้อสินค้ามีต่อแบรนด์
แถมให้อีก 1 ตัวอย่างใกล้ตัวหลาย ๆ คน คือ สุกี้ตี๋น้อย
นอกจากโลโกร้านที่เป็นรูปอาตี๋ยืนกินสุกี้แล้ว ภาพจำและมุมมองของหลายคนที่มีต่อสุกี้ตี๋น้อย
ก็ยังมีอย่างอื่นอีก
เช่น
-ร้านชาบูบุฟเฟต์ราคาจ่ายสบาย มีเมนูให้เลือกเยอะ ไม่เน้นกินหรู ๆ แต่เน้นความคุ้มค่า
-เปิดตั้งแต่กลางวัน ยันตี 5 หิวดึก ๆ ก็ไปกินได้
-ชอบเปิดเพลงเศร้า ๆ ตอนเรานั่งกิน
มุมมองพวกนี้ คือภาพลักษณ์และภาพจำ ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์
จะเห็นว่า มันมากกว่าแค่เรื่องโลโกของร้าน หรือสินค้าของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์
ซึ่งนี่ก็คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า แบรนด์ นั่นเอง..
แล้วการรู้ความหมายของคำว่า Brand มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ?
ถ้าธุรกิจสามารถสร้างชุดความคิด ให้ผู้ซื้อจดจำแบรนด์ของเราได้ จะส่งผลดีหลายอย่างให้กับธุรกิจ เช่น
-ทำให้เรารู้ว่าต้องสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร หรือใช้กลยุทธ์แบบไหน ให้คนรับรู้การมีอยู่ของแบรนด์ ซึ่งจะช่วยยกระดับแบรนด์ของเรา ให้เป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น
-พอสินค้าและบริการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพื่อการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ในอนาคตลงได้มาก
-ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือบริการ เพราะคนจำเราได้ว่า เรามีจุดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่น จนต้องมาซื้อ
สรุปแล้ว แบรนด์ ไม่ใช่แค่ ยี่ห้อ ตราสินค้า หรือว่าโลโก
แต่ยังรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์
ซึ่งการเข้าใจคำว่าแบรนด์ นั้นสำคัญมาก ๆ
เพราะถ้าเราเข้าใจแล้วสร้างทั้งโลโก ภาพลักษณ์ ภาพจำ และประสบการณ์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของสินค้า หรือบริการของเราได้อย่างชัดเจน
นั่นก็คือ จุดเริ่มต้นความสำเร็จ ของแบรนด์เราแล้ว..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.